ยุติ 8 บรรทัด!!! สถิติเผย คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 37 นาทีต่อวัน

ยุติ 8 บรรทัด!!! สถิติเผย คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 37 นาทีต่อวัน

ยุติ 8 บรรทัด!!! สถิติเผย คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 37 นาทีต่อวัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยทิศทางการอ่านหนังสือที่น่ายินดีของคนไทย ซึ่งใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 37 นาทีต่อวัน และอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 พร้อมเดินหน้าส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น โดยจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 22 เมษายน 2557 ณ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์

เดิมที สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของประชาชนทุกเพศวัยโดยมีห้องสมุดอันทันสมัย ทั้งหนังสือ ดนตรี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดียในคอนเซ็ปต์ "จินตนาการไม่รู้จบ" ได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดงานแถลงข่าวผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556



สำหรับสถิติดังกล่าว นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกๆ 2 ปี โดยปี พ.ศ. 2556 ทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน ได้ผลปรากฏว่าคนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 81.8 และใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวัน เฉลี่ยคนละ 37 นาที เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2554 มากกว่าร้อยละ 10 ทั้งเพศชายและหญิง

โดยเป็นการอ่านหนังสือทุกประเภทรวมทั้งการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งสำรวจจากช่วงนอกเวลาเรียน หรือเวลาทำงานและเมื่อแบ่งเป็นช่วงวัย กลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุดคือวัยเด็ก(อายุต่ำกว่า 6ปี) อยู่ที่ร้อยละ 91.5 มีทั้งที่อ่านเองและผู้ปกครองอ่านให้ฟังตามด้วยเยาวชนร้อยละ 90.1 วัยผู้ใหญ่ร้อยละ 83.1 และวัยสูงอายุร้อยละ 57.8 ตามลำดับ



นอกจากนี้ สถิติดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า "หนังสือพิมพ์" คือสื่อที่คนไทยนิยมอ่านมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 73.7 ตามด้วย วารสาร/เอกสารรายประจำ ร้อยละ 55.1 ตำรา ร้อยละ 49.2 นิตยสาร ร้อยละ 45.6 หนังสือทางศาสนา ร้อยละ 41.2 ส่วน นิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น มีผู้อ่านร้อยละ 38.5 และแบบเรียนตามหลักสูตร ร้อยละ 29.5 โดยสถานที่ที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ใช้คือบ้านตามด้วยสถานที่เอกชน ที่ทำงาน และสถานศึกษา



อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติดังกล่าวมีการพบว่า ยังมีผู้ที่ไม่หนังสืออ่าน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่อ่านคือ ไม่รักการอ่านหรือไม่สนใจ พบมากถึงร้อยละ 18.1 ของผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ซึ่ง นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือลดราคาหนังสือปลูกฝังการอ่านผ่านครอบครัว ให้สถานศึกษารณรงค์รักการอ่านรวมถึงการจัดทำห้องสมุดประชาชนในแหล่งชุมชน และปรับเนื้อหาหนังสือให้อ่านง่ายขึ้น

ทั้งนี้ นายวิบูลย์ทัต ยังมองว่า เป็นภารกิจหลักของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ที่ต้องร่วมมือกับองค์กรการศึกษา หน่วยงานภาครัฐเอกชน ตลอดจนพันธมิตรต่างๆ ที่ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ต่อไป

ด้าน ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า

"ในสังคมไทย ยังคงพบว่ามีอัตราในการใช้เวลากับการอ่านน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้เชื่อว่านิสัยรักการอ่านการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของทรัพยากรบุคคลของประเทศที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสังคมไทย ให้สามารถเทียบเคียงได้กับนานาประเทศต่อไปในอนาคต"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook