ผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดเรียนหนักติดอันดับโลกแต่สิ่งที่ได้ใช้กลับมาจากเรียนพิเศษ

ผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดเรียนหนักติดอันดับโลกแต่สิ่งที่ได้ใช้กลับมาจากเรียนพิเศษ

ผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดเรียนหนักติดอันดับโลกแต่สิ่งที่ได้ใช้กลับมาจากเรียนพิเศษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลวิจัยชี้เด็กไทยสะท้อนปัญหาเรียนหนักติดอันดับต้นๆของโลกแต่เอาความรู้ไปใช้จริงไม่ได้แถมเครียดและกดดันเพราะกลัวสอบไม่ผ่านหรือเรียนต่อไม่ได้

วันที่23เมษายนเอแบคโพลล์ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)แถลงผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "เด็กและเยาวชนไทยอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาไทย"

ดร.ปรีชา เมธาวัสรภาคย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนไทยอายุ 14-18 ปี ใน 17 จังหวัด จำนวน 4,255 คน สำรวจระหว่างวันที่ 1-15 เมษยน โดยร้อยละ 58.9 เห็นว่า โอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาไทยไม่เท่าเทียมกัน และร้อยละ 58.7 เห็นด้วยว่าเด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลกแต่ไม่สามารถนำเอาความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ65.1เห็นว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการเรียนโดยมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ54.0ระบุว่าแต่ละวันต้องเรียนมากกว่า7-8 คาบ และร้อยละ 30.7 เห็นว่า ความรู้ที่สอบมักได้มาจากการเรียนพิเศษ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.1 มีการเรียนพิเศษที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน

ดร.ปรีชา แสดงความคิดเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยพูดเรื่องการสอบเยอะทำให้เด็กต้องหันไปเรียนพิเศษ ขณะที่การแข่งขันทำให้เกิดความเครียดและกดดัน โดยการสอบไม่ได้ตอบโจทย์ของเด็ก และพบว่าการสอบเป็นต้นเหตุของความทุกข์ของเยาวชน

ด้านดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการสสค.คนที่ 2 เปิดเผยว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไปจนถึงอินเดีย เยาวชนต่างนิยมเรียนกวดวิชาเพราะความคาดหวังของครอบครัวที่อยากให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆซึ่งมักมีเกณฑ์คัดเลือกสูงซึ่งถ้ายังแก้ปัญหาเรื่องระบบคัดเลือกไม่ไดัก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเรียนพิเศษได้

"ทุกวันนี้เยาวชนเติบโตขึ้นในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงโดยการสอนที่ผ่านมาไม่มีความน่าสนใจไม่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนกับครูสอนพิเศษชื่อดังที่มีวิธีการสอนเฉพาะตัวที่สนุกสนานกว่า"ดร.กฤษณพงศ์กล่าว

ดร.กฤษณพงศ์ยังเสนอแนะว่าอยากเห็นระบบการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้นนอกเหนือไปจากการมุ่งเน้นเรื่องวิชาการในเรื่องการเรียนการสอนเยาวชนอยากเห็นเรื่องเนื้อหาการใช้ชีวิตในสังคมและสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้เป็นทำงานให้เป็น

ทั้งนี้ ดร.กฤษณพงศ์ ยังชี้แนะว่า การศึกษาไทยควรเปลี่ยนระบบแนะแนวใหม่ ซึ่งจากเดิมแนะแนวตามเอกสารหลักสูตรตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆส่งมาให้โรงเรียน แต่ไม่ได้แนะแนวเรื่องอาชีพ ซึ่งทุกวันนี้อาชีพกับการศึกษาแยกออกจากกัน โดยความเข้าใจทั้งเรื่องอาชีพกับการศึกษาไทยยังไม่ชัดเจน ผู้แนะแนวมักเน้นไปที่หลักสูตรหรือคณะที่นักเรียนจะเรียน แต่ไม่ได้มองไปที่ต้นทางอย่างอาชีพที่เยาวชนสนใจอยากจะเป็น

ส่วนเสียงจากตัวแทนเยาวชน นายเมธชนนนท์ ประจวบลาภ จากเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานครซึ่งเข้าร่วมรับฟังผลการวิจัยแสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาไทยควรปรับปรุงทั้งระบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ หลักสูตร, ระบบการเรียน-การสอน และระบบวิชาชีพครู ขณะที่การศึกษาไทยควรเน้นให้เยาวชนมุ่งไปที่อาชีพที่เป็นเป้าหมายในอนาคตมากกว่าเป้าหมายการเลือกเรียนคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ชอบซึ่งนักวิชาการต่างประเทศสรุปผลการศึกษาได้ว่าต้องตอบโจทย์การทำงานที่ชอบมากกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยที่ชอบ

จากการสำรวจครั้งนี้ทางสสค. จะใช้เป็นข้อมูลนำไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมวิชาการ "อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย" วันที่ 6-8 พฤษภาคมนี้ ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook