ตลกร้าย 8 บรรทัด

ตลกร้าย 8 บรรทัด

ตลกร้าย 8 บรรทัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

เป็นข่าวที่ถูกแชร์ส่งต่อในโซเชียลมีเดียไม่น้อย กับประเด็นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติออกมาเปิดเผยผลสำรวจประชากรไทยในประเด็นอัตราการอ่านหนังสือ ที่ตัวเลขเป็นทิศทางบวก โดยเริ่มตั้งแต่มีคนไทย นับตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.8

ตัวเลขนี้สะท้อนว่าประชากรไทยมีอัตราการรู้หนังสือ หรืออ่านได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ประเด็นไฮไลต์ของการแถลงสถิติครั้งนี้ คือคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวัน เฉลี่ยคนละ 37 นาที เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน พ.ศ. 2554 (สำนักงานสถิติฯทำการสำรวจทุก ๆ 2 ปี) มากกว่าร้อยละ 10

เป็นประเด็นพาดหัวข่าวบนเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ที่ว่า ยุติ 8 บรรทัด !!! สถิติเผยคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 37 นาทีต่อวัน

อันที่จริง ตำนานอ่านหนังสือ 8 บรรทัด ถือเป็นตำนานจริง ๆ ตรงที่พูดกันไม่รู้จบ ทั้งที่ความเป็นจริง ผู้คนมากมายก็ไม่เชื่อ ตัวฉันเองก็ไม่เคยเชื่อ คุยกับเจ้าของร้านหนังสืออิสระแต่ละคนก็ไม่เคยเชื่อ ไม่รู้พูดกันได้อย่างไร เรียกว่าตลกร้ายเกินไป...

ความหวือหวาคนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัด มาจากองค์การยูเนสโก เคยออกผลวิจัยว่าเราอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละแค่ 8 บรรทัด แถมปีต่อมายังมีผลวิจัยอีกว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงไปอีก เป็นปีละ 4 บรรทัด โดยให้สาเหตุว่าเพราะความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น การอ่านข้อความสั้นบนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออ่านแต่พาดหัวข่าว ไม่อ่านเนื้อหาข่าว

ถึงจะเป็นอย่างนั้นจริง ว่าเราอาจจะอ่านอะไรในแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร แต่การสำรวจเฉลี่ยว่าอ่าน 4-8 บรรทัดนี่ ก็ดูขัดแย้งกับความจริง

มีการวิเคราะห์ว่า ที่ผลสำรวจออกมาแบบนั้น เพราะไปสำรวจในเรื่อง Time Use Survey คือรวมว่าแต่ละวันคนไทยทำกิจกรรมอะไร ซึ่งก็มีหลายอย่าง อาจจะมีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง เหลือประมาณ 2 นาทีกว่า ก็ไปประมวลว่าอ่านได้ปีละ 8 บรรทัด ทั้งที่ในทางเทคนิคไม่สามารถแปลงค่าเฉลี่ยการอ่านเป็นบรรทัดได้ เพราะอัตราการอ่านแต่ละคนไม่เท่ากัน

เอาเป็นว่า หลังจากมีสถิติจากสำนักงานสถิติฯ ว่าเราอ่านวันละ 37 นาทีโดยเฉลี่ย ซึ่งสำรวจทั้งการอ่านในรูปแบบหนังสือ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แบบนี้จะได้จบตลกร้ายกันเสียทีกับคำพูดเล่น ๆ เชิงเสียดสีเรื่อง 8 บรรทัด เพราะอันที่จริง ที่ผ่านมา เวลาได้ยินใครยกตัวอย่างให้สนใจอ่านหนังสือแล้วอ้างสถิติ 8 บรรทัดขึ้นมานี่ ได้ยินทีไร บอกเลยว่ารู้สึกเชยทุกทีมานานแล้ว

ถ้าจะยกกรณีเทียบ ก็ควรเทียบว่าอัตราการอ่านหนังสือของคนไทยยังอ่านน้อยกว่ากลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์

แบบนี้ยังเข้าท่ากว่ามาบอกเป็นบรรทัด...

สิ่งที่น่าสนใจคุยกันมากกว่าเรื่องบรรทัด คือที่อ่านกันนั้น คนไทยกำลังอ่านอะไรกัน ?

หนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 73.7 ส่วนที่เป็นนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น มีผู้อ่านร้อยละ 38.5 ซึ่งหนังสือประเภทนี้ยังน้อยกว่ากลุ่มหนังสือศาสนา ที่มีผู้อ่านถึงร้อยละ 41.2

น่าสนใจว่ากลุ่มหนังสือศาสนามีผู้อ่านในตัวเลขไม่น้อย

ใครเข้าร้านหนังสือบ่อย ๆ คงเห็นร้านหนังสือแฟรนไชส์

หลายเจ้านิยมจัดดิสเพลย์หมวดหนังสือศาสนาไว้โดดเด่น ขนาดในแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนโหลดฟรี ก็มักเปิดให้โหลดอ่านหนังสือศาสนาฟรี ส่วนประเภทอื่นต้องเสียเงิน

ตามกระบะหนังสือลดราคา ก็เต็มไปด้วยหนังสือศาสนา เข้าร้านสะดวกซื้อ ก็ยังเจอหนังสือศาสนา

แม้สำนักงานสถิติแห่งชาติจะไม่ขยายประเด็นหนังสือศาสนาว่าเป็นหนังสือแนวสวดมนต์นั่งสมาธิ หรือฮาวทูปรับจิตปรับใจ ไปจนถึงแนวกรรมเก่า ชาติก่อนหนหลัง

ก็น่าสนใจว่าสังคมไทยทำไมอ่านหนังสือกลุ่มนี้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลายปีมานี้

ไม่อยากบอกแบบเชย ๆ เหมารวมว่าเพราะสังคมไทยทุกข์ แต่มันมีมิติความเชื่อ ความเปราะบางของสังคมให้ขบคิดกันต่อแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook