มองมหา′ลัยเวียดนาม ปั้นคนบนความต้องการของรัฐ-เอกชน

มองมหา′ลัยเวียดนาม ปั้นคนบนความต้องการของรัฐ-เอกชน

มองมหา′ลัยเวียดนาม ปั้นคนบนความต้องการของรัฐ-เอกชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ค่อย ๆ ตีตื้นจากลำดับรั้งท้ายขึ้นมาเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูง ในทางเดียวกัน ประเทศเวียดนามกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพตนเอง อย่างการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลายเป็นประเทศที่น่าจับตาด้านการลงทุนในอาเซียน

ในโอกาสที่ได้ติดสอยห้อยตามคณะนักเรียนนักศึกษาซึ่งผ่านการคัดเลือกการแข่งขันทักษะงานสีของบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปเยี่ยมชม University of Technical Education Ho Chi Minh City (UTE) ประเทศเวียดนาม ก็ได้ทราบว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมอย่างเหนียวแน่น อาจด้วยจุดเด่นคืออยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม

"ดร.เหงียน หวู เหลิ่น" รองหัวหน้าฝ่ายการจัดการการวิจัยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ UTE กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2505 ในด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมการสอนอาชีพให้กับสังคม นอกจากนั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยที่จะป้อนวิศวกรและแรงงานมืออาชีพให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามรวมถึงยังต้องการให้เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านไอที ด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้UTE เปิดสอน 13 คณะ ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์, เทคโนโลยี, รัฐศาสตร์, การออกแบบ โดยมี 2 วิทยาเขต ทั้ง 2 แห่งมีนักเรียนนักศึกษารวม 26,000 คน โดย 80% ของผู้เรียนจบแล้วจะได้งานทำภายใน 3 เดือน ส่วนผู้เรียนอีก 20% ได้งานทำหลังจากระยะเวลาดังกล่าว เรียกได้ว่าไม่มีใครตกงาน

"มหาวิทยาลัยของเราได้รับความนิยมอย่างมาก ในแต่ละปีมีคนสมัครสอบประมาณ 30,000 คน แต่เรารับแค่ 3,500 คนเท่านั้น ถือว่ามีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเราคือ หากต้องการจบออกไปแล้วเป็นอาจารย์ ก็เรียนต่ออีก 1 เทอม หรือเรียนทั้งหมด 4.5 ปี โดยจะเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเป็นครู"

สำหรับนักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบเข้า UTE และมุ่งหมายที่จะเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเลือกเข้าเรียนด้านช่างเป็นระยะเวลา 3 ปี แล้วไปทำงานหาประสบการณ์ก่อน 2 ปี หลังจากนั้นนำประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยที่ได้หลังเรียนจบจาก UTE มาใช้เป็นหลักฐานในการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ โดยจะใช้เวลาเรียนเพิ่มเติมอีก 2 ปี ซึ่งจะได้รับปริญญาบัตรและเป็นวิศวกรในที่สุด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเน้นการเรียนการสอนด้านปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี โดยระดับชั้นปี 1-2 จะเน้นด้านการเรียนทฤษฎี ส่วนชั้นปี 3-4 จะเป็นการปฏิบัติ

"เพราะ UTE อยู่ใกล้กับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทำให้เราได้เปรียบมหาวิทยาลัยอื่นในแง่ของการเข้าไปดูงานของบริษัทต่าง ๆ ได้โดยสะดวก โดยมหาวิทยาลัยได้ผลิตคนให้กับบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมด้วย จะดูว่าบริษัทนั้น ๆ มีความต้องการคนด้านใดบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็จะนำมาใช้ในการผลิตคนให้ได้ตรงตามความต้องการของเขา"

ไม่เพียงแต่การผลิตคนให้กับภาคอุตสาหกรรมแต่มหาวิทยาลัยยังได้ผลิตงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมด้วย โดยส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษามีการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ซึ่งแต่ละปีจะได้ผลงานกว่า 100 ชิ้น ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และอาจเพราะประเทศเวียดนามเพิ่งผ่านพ้นสงครามมาได้ไม่นานนัก (สงครามเวียดนามสิ้นสุดเมื่อปี 2518) ทำให้ต่างชาติหยิบยื่นความช่วยเหลือมาทางด้านการศึกษาด้วย โดยห้องแล็บส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องจักรจากเยอรมนี ซึ่งปัจจุบัน UTE มี 98 ห้องปฏิบัติการและ 58 ห้องแล็บ

"ดร.เหงียน หวู เหลิ่น" บอกว่า อุตสาหกรรมของประเทศเวียดนามกำลังเติบโตต่อเนื่อง มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งเข้ามาลงทุนและเปิดโรงงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยยังเป็นศูนย์อบรมให้กับพนักงานต่างชาติ เพื่อให้ได้คนที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่บริษัทนั้น ๆ กำหนด ตลอดจนรับอบรมทักษะให้กับนายช่างที่ไร้ฝีมือด้วย

"นอกจากการสอนตามปกติ เรายังรับเทรนนิ่งด้วย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทราบว่าเอกชนต้องการคนลักษณะใด หรือต้องการนวัตกรรมด้านไหน มหาวิทยาลัยก็สามารถผลิตคนหรือนวัตกรรมให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด"

ทั้งนั้นในห้วงเวลาที่ประเทศเวียดนามกำลังรุดหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เขาบอกว่า หนึ่งในปัจจัยของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลคือเรื่องทรัพยากรบุคคล เพราะต้องใช้วิศวกรหรือคนจำนวนมากเข้ามารองรับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในเวียดนามไม่สามารถผลิตคนขึ้นมาได้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในส่วนของวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างดีเยี่ยม

โดยกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรม, กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงคุณภาพและปริมาณของบัณฑิตให้สามารถรองรับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ขานรับนโยบายจากรัฐบาล ทั้งการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาและบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดขณะเดียวกันยังมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียน

ซึ่งปัจจัยทั้งหมดตามที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีศักยภาพที่เพิ่มสูงขึ้นและยังส่งผลให้การศึกษาของประเทศเวียดนามก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook