สอศ.ระดมสมอง หาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน

สอศ.ระดมสมอง หาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน

สอศ.ระดมสมอง หาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดการประชุมพิจารณาแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาจีนแบบเข้มข้น ให้กับนักเรียนนักศึกษา และครูผู้สอนภาษาจีน



"ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์" เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษา จะสอนเฉพาะผู้ที่สนใจเรียนเท่านั้น ไม่บังคับให้มาเรียน โดยจะเลือกสถานศึกษาที่เหมาะสมและมีความพร้อมที่จะสอน ซึ่งแบ่งการเรียนเป็นระดับต่าง ๆ เช่น สอนเป็นรายวิชาเพื่อการสื่อสาร สอนเพื่อการประกอบอาชีพ และอาชีวะภาคภาษาจีน ศึกษา

ทั้งนี้ อาจเปิดสอนทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระยะสั้น ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน (ฮั่นปั้น) โดยหลักสูตรการเรียนการสอนจะมี 2 ลักษณะ คือ หลักสูตรที่ใช้ร่วมกัน กับหลักสูตรเฉพาะของแต่ละสถานศึกษา และในระยะแรกให้ใช้ตำราจีนเป็นหลักพร้อมกับปรับให้สอดคล้องกับการศึกษาทุกระดับ ขณะเดียวกัน การประเมินผลจะใช้ตามมาตรฐานการศึกษาของประเทศจีน

สำหรับด้านครูผู้สอน จะต้องมีคุณภาพอย่างน้อง 2 เรื่อง คือ มีความสามารถในการใช้ภาษาจีน และมีเทคนิคการใช้ภาษาจีน ส่วนครูอาสาสมัครจีน ต้องเรียนรู้วิธีการสอนในระดับอาชีวศึกษา โดยจะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้เหตุการณ์จริงทั้งในประเทศไทยและจีนผ่านการใช้สถานการณ์จำลอง อย่างการใช้ภาษาจีนสื่อสารในชีวิตประจำวัน และจัดกิจกรรมการแข่งขันเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน

"สอศ.จะพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ให้มากขึ้น ทั้งฮั่นปั้น ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถานประกอบการจีนในประเทศไทยและจีน มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการจีน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ระดับอาชีวศึกษา จะทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษามีมาตรฐานและประสิทธิภาพ"

อนึ่ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาจีน ระดับอาชีวศึกษา มีดังนี้

มาตรการที่ 1 การจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ให้เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาจีนได้ตั้งแต่ระดับปวช. เป็นต้นไป กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และความต้องการของสถานประกอบการ โดยระดับ ปวช. เน้นการสื่อสารเบื้องต้น และระดับปวส. เน้นการสื่อสารเพื่ออาชีพ

มาตรการที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน ให้พัฒนาหลักสูตรให้มีความต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ จัดทำคู่มือการใช้หลักสูตร รวมทั้งหลักสูตรเฉพาะสำหรับส่งเสริมกลุ่มผู้เรียนที่มีศักยภาพด้านภาษาจีนให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาจีนมากยิ่งขึ้น

มาตรการที่ 3 การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีน ให้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับการอาชีวศึกษาทั้งระบบ พร้อมจัดทำคู่มือครูเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

มาตรการที่ 4 การวัดและการประเมินผล ให้มีการประเมินความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาจีนของผู้เรียนด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐานระดับอาชีวศึกษา และมาตรฐานระดับสากล

มาตรการที่ 5 การพัฒนาครูภาษาจีน กำหนดมาตรฐาน ความรู้ ทักษะ และเจตคติ การเรียนการสอนภาษาจีนในระดับอาชีวศึกษาของผู้สอน วางแผนเกี่ยวกับอัตรากำลังคนและการพัฒนาผู้สอน สนับสนุนให้ผู้สอนได้มีโอกาสเพิ่มประสบการณ์การเรียนการสอนทั้งในและต่างประเทศ

มาตรการที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน จัดให้มีระบบการขับเคลื่อนและควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน แสวงหาความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษาจีนทั้งในและต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook