′นาซา′ได้ข้อสรุป รับมืออุกกาบาตถล่มโลก

′นาซา′ได้ข้อสรุป รับมืออุกกาบาตถล่มโลก

′นาซา′ได้ข้อสรุป รับมืออุกกาบาตถล่มโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในที่สุดองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ก็ได้ข้อสรุปว่าจะจัดการอย่างไรกับ บรรดาดาวเคราะห์น้อยทั้งหลายที่มีวงโคจรใกล้โลก ที่มีโอกาสที่จะหลุดเข้ามาอยู่ภายใต้แรงดึงดูดของโลกแล้วกลายเป็นอันตรายอย่างมหันต์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์แล้ว

โครงการ "เนียร์ เอิร์ธ อ็อบเจกต์" ของนาซา เตรียมฝึกซ้อมปฏิบัติการที่เรียกว่า "แอสเทอรอยด์ รีทรีฟวอล มิสชั่น" หรือ "อาร์ม" ให้พร้อมพอสำหรับการรับมือกับดาวเคราะห์น้อยอันตรายทั้งหลายภายในทศวรรษ 2020 ที่จะถึงนี้

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มีดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสก่อให้เกิดหายนภัยในระดับถล่มเมืองได้อยู่ราว 20,000 ดวง หลังจากที่กระบวนการจัดหมวดหมู่และตรวจสอบจำนวนดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก คืบหน้าไปอย่างมากในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากตรวจสอบได้ว่า ดวงหนึ่งดวงใด มีวงโคจรซึ่งมีแนวโน้มจะพุ่งเข้าหาโลก ก็จะเป็นหน้าที่ของปฏิบัติการ "อาร์ม" ในการจัดการกับเทหวัตถุอันตรายบนท้องฟ้าเหล่านั้น

"อาร์ม" เป็นโครงการขนาดใหญ่ของนาซา มีมูลค่าโครงการจนถึงขณะนี้สูงถึง 1,250 ล้านดอลลาร์ เพื่อการจัดส่งยานหุ่นยนต์อวกาศขึ้นไปจัดการกับเทหวัตถุดังกล่าว นำมันออกไปจากวงโคจรปกติ ไปอยู่ในวงโคจรเสถียรรอบดวงจันทร์ สำหรับเก็บไว้ศึกษาข้อมูลต่อไป

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน ผู้อำนวยการโครงการนีโอ ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการอาร์มดังกล่าวนี้ ระบุว่า นาซา มีทางเลือกเป็น 2 ทางสำหรับการจัดการกับดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่อาจเป็นอันตรายดังกล่าว ทางแรกก็คือ การใช้ยานอวกาศหุ่นยนต์ จัดการควบคุมดาวเคราะห์น้อยหรือชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เมตร ลากออกไปเก็บไว้ในวงโคจรค้างฟ้ารอบดวงจันทร์ สำหรับศึกษาหาข้อมูลต่อไป ทางที่สอง จะใช้ในการรับมือกับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น คือ การใช้ยานหุ่นยนต์ดังกล่าวดีดดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ออกไปให้พ้นวงโคจร

ในกระบวนการในการจัดการกับดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่า10 เมตรดังกล่าวนั้น ยานอวกาศหุ่นยนต์ของนาซาจะทำหน้าที่เหมือนรถลากด้วยแรงโน้มถ่วงที่สร้างขึ้นเปลี่ยนแปลงวงโคจรของมันทีละน้อยๆจนหลุดพ้นออกจากเส้นทางโคจรที่จะถล่มโลกได้ในที่สุด หรืออาจใช้ระบบขับเคลื่อน "โซลาร์ อิเล็กตริก ไอออน" สร้างแรงผลักโดยตรงต่อตัวดาวเคราะห์น้อย ซึ่งจำเป็นต้องประเมินดูว่า จำเป็นต้องใช้พลังงานเท่าใด และใช้เวลานานเท่าใดในการจัดการผลักดันมวลของดาวเคราะห์น้อยซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ต้องการผลักดันออกนอกวงโคจรดังกล่าว

ไมเคิลเกตส์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการอาร์มของนาซา ระบุว่า จะมีการทบทวนแนวความคิดของภารกิจทั้งสองทางในราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หลังจากนั้นนาซาก็เตรียมแผนจะส่งยานอวกาศหุ่นยนต์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2019 และกำหนดจะทดสอบปฏิบัติการกับดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งในช่วงเวลาระหว่างปี 2021-2024 ขึ้นอยู่กับว่า นาซา จะเลือกฝึกซ้อมตามแนวทางแรก คือกับดาวเคราะห์น้อยขนาดไม่เกิน 10 เมตร หรือกับดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่านั้นนั่นเอง

ที่มา นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook