"เด็กเทพ"แอดมิสชั่นส์ เก่งนี้...ไม่ใช่ฟ้าประทาน

"เด็กเทพ"แอดมิสชั่นส์ เก่งนี้...ไม่ใช่ฟ้าประทาน

"เด็กเทพ"แอดมิสชั่นส์ เก่งนี้...ไม่ใช่ฟ้าประทาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรียกว่าเทศกาล "สอบแอดมิสชั่นส์" เป็นช่วงเวลาที่วัยรุ่นหลายคนต่างเฝ้ารอคอยอยู่เสมอ เพราะเป็นด่านทดสอบด่านหนึ่ง ที่จะช่วยปูทางสู่อนาคตของใครหลายๆ คน และยังเป็นก้าวสำคัญที่เด็ก ม.ปลาย ทุกคนจะได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย และทุกๆ ปี ก็จะมี "เด็กเก่งขั้นเทพ" กลุ่มหนึ่งจากหลากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ "ฝ่าด่านสุดหิน" ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งของประเทศในคณะต่างๆ อยู่เสมอ แต่ "ทางเดิน" ของที่หนึ่ง ในแต่ละสาขาก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ละคนต่างต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท กว่าจะประสบความสำเร็จ

และนี่คือส่วนหนึ่งของ "เด็กเทพ" ประจำปีนี้

คิด-ฉัตรมงคล ปิ่นทอง นักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เจ้าของเกรดเฉลี่ย 3.97 ที่ 1 ของประเทศด้วยคะแนนแอดมิสชั่นส์ที่ 90.30 คะแนน "ว่าที่นิสิต" ติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เจ้าตัวตั้งใจจะเลือกเรียนด้านสถิติการประกันความเสี่ยง เผยว่า รู้สึกปลื้มปีติมากที่สอบติดคณะที่ตั้งใจไว้ เพราะที่ผ่านมาสนใจเรื่องสถิติตั้งแต่เด็ก ทั้งการรวบรวมข้อมูลเรื่องภูมิศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์

"การที่ติดคณะที่ตั้งใจก็เหมือนเราได้ใช้ความพยายามของเราสู้ และผลที่ได้กลับมาก็เป็นความสำเร็จ"

งานนี้เจ้าตัวเผยว่า เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่ "ความสม่ำเสมอ" กับการเตรียมตัวไม่ว่าจะทั้งเรียนและสอบ ขยัน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เสมอๆ โดยเฉพาะการเรียนในห้องเรียนที่ต้องไม่ให้เสียกลับมาบ้านทบทวนบทเรียน โดยเขาเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ ม.4 และเต็มที่สุดสุด ในช่วง 10 วันก่อนสอบ ทั้งอ่านหนังสือ ฝึกทำแบบฝึกหัดเก่าๆ วันละกว่า 5 ชั่วโมง


ฉัตรมงคล ปิ่นทอง, สุวีรยา พิรัชต์ชัยกุล


ในขณะที่คนอื่นทุ่มเทเรียนพิเศษหมดทุกวิชา แต่หนุ่มคนนี้เรียนวิชาภาษาไทยวิชาเดียว

"ผมไม่ถนัดวิชานี้จริงๆ ข้อสอบวิชาภาษาไทยเป็นเรื่องวรรณกรรมซึ่งหากไม่ได้อ่านหนังสือมา หรือตีความไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจ ทำข้อสอบไม่ได้ ส่วนวิชาอื่นๆ ก็อ่านหนังสือเองได้ เน้นอ่านให้กระจายหมดทุกหน้า บางวิชาที่เรียนตั้งแต่ ม.4-ม.5 แล้วลืมก็นำมาทบทวนใหม่ อ่านแล้วจำได้แค่ 10% ก็ยังดี แล้วค่อยมาเก็งข้อสอบ เจาะเป็นเรื่องๆ นำมาท่อง เล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องไม่พลาดเพราะบางครั้งข้อสอบก็ออกสิ่งที่ใครหลายคนไม่ได้คิดไว้
"สู้กับงานหนักแบบนี้ ก็มีบ้างที่รู้สึกท้อ แต่ให้กำลังใจตัวเอง" ฉัตรมงคลเผย

"ผมคิดว่าอีกนิดเดียวจะไปถึง เราเดินไปไกลแล้ว อีกก้าวเดียวเท่านั้นเพื่อให้เราเดินไปในทางที่สบายขึ้นกว่าเดิม จากที่เราต้องเรียนอะไรที่ชอบบ้างและไม่ชอบบ้าง ก็จะได้อยู่กับสิ่งที่เลือกได้เองแล้ว"


ด้าน เตย-สุวีรยา พิรัชต์ชัยกุล นักเรียนโรงเรียนโพธิสารพิทยากร สอบติดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 84.36 คะแนน เจ้าตัวเลือกเรียนคณะนี้เนื่องจากชื่นชอบตัวละครในซีรีส์เรื่อง Criminal Mind ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิทยา ตัวเอกเป็นนักอาชญาวิทยา วิเคราะห์เหตุแห่งการก่ออาชญากรรม ที่เธอมองว่าน่าสนใจ จากนั้นจึงได้ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเรื่องของจิตวิทยามาตลอด บวกกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบพูด ชอบคุย มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบให้คำปรึกษาเพื่อน จิตวิทยาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

"เนื่องจากสาขาที่เรียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเยอะ นอกจากจะเรียนพิเศษวิชาต่างๆ แล้ว วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาก็ดูซีรีส์ต่างประเทศบ้าง พยายามจะไม่ดูคำบรรยายไทย คำไหนไม่รู้ก็เปิดพจนานุกรมเอา และส่วนใหญ่อ่านหนังสือเองจะไม่ค่อยเข้าหัว ก็จะใช้วิธีฟังจากคนอื่นเอา อย่างในยูทูบติวเตอร์หลายคนก็ลงคลิปวิดีโอสอนไว้ เราก็เปิดไล่ๆ ดู เรียนไม่เข้าใจก็มีเพื่อนช่วยติวให้บ้าง"

 

กมลวรรณ สาระวารี, สุดารัตน์ วิรุฬห์ทรัพย์

เทคนิคเด็กเก่งอย่าง เตย สุวีรยา อยู่ที่ความขยัน ไม่ยึดติดและหาตัวเองให้เจอ เพราะหากเลือกอะไรที่เป็นกระแสนิยม ก็มีโอกาสเปลี่ยนได้เรื่อยๆ หากทำในสิ่งที่ใจต้องการจริงๆ ความฝันต้องสำเร็จแน่นอน
"หลายคนคงรู้ว่าเตรียมตัวอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือหาตัวเองให้เจอ แรกๆ เตยก็ไม่รู้ก็ลองไปค่ายของมหาวิทยาลัยต่างๆ Open House บ้าง คณะต่างๆ ก็จะมีห้องเรียนตัวอย่าง แนะนำวิชาให้เรารู้อยู่แล้ว อาจช่วยให้เรารู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรได้"

สุวีรยาฝากทิ้งท้ายว่า อย่าเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เครียด เราควรจะเรียนบ้างเล่นบ้าง สานสัมพันธ์กับเพื่อนๆ เพื่อพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และโอกาสดีๆ"

ขณะที่ กมลวรรณ สาระวารี หรืออ๋อม นักเรียนโรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล ที่ได้คะแนน 85.14 คะแนน สอบติดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตัดสินใจเรียนคณะนี้เพราะต้องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แน่น สานต่อความฝันที่อยากเป็นนักแปล และคิดว่าต้องได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะในอนาคตหากรู้ภาษาอังกฤษ ย่อมได้เปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน

แต่ด้วยอาศัยอยู่จังหวัดกระบี่ เมืองนักท่องเที่ยว การเตรียมตัวในการสอบของอ๋อม จึงไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ ท่องตำราทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำภาษาอังกฤษมาใช้จริงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งฝึกฟังเพลงสากล ดูซีรีส์ภาษาอังกฤษด้วยการไม่อ่านคำบรรยาย เพื่อฝึกฝนภาษา รวมทั้งทำข้อสอบย้อนหลังอย่างสม่ำเสมอ

"การเตรียมตัวสอบ ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดกับการอ่านมากนัก ว่างเมื่อไหร่ก็หยิบมาอ่าน แบ่งเวลาให้ได้ คนที่อยากจะสอบติดมหาวิทยาลัยก็ให้เตรียมตัวให้ดี หาข้อมูลเพิ่มเติม ทุ่มเทให้กับการเดินสู่ทางนั้น เพราะเมื่อสำเร็จไปขั้นหนึ่งเราก็จะรู้สึกภูมิใจกับมันได้เอง"

และการสอบได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ระดับประเทศ ของ มุก-สุดารัตน์ วิรุฬห์ทรัพย์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันเพราะกว่าจะสอบได้สอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 88.59 คะแนน สาวน้อยจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เผยว่า ต้องพยายามและทุ่มเทมากเช่นกัน มีบ้างที่ลองสอบตรงมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากเรียน

สำหรับ มุก เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ ม.5 อ่านหนังสือและเตรียมตัวมาเรื่อยๆ ช่วงใกล้สอบ 2 เดือน ก็อ่านหนังสือหลังเลิกเรียน โดยต้องแบ่งเวลาชัดเจน หาข้อมูลว่าต้องใช้วิชาใดเป็นพิเศษ วันละเกือบ 4 ชั่วโมงทุกๆ วัน ฝึกทำข้อสอบย้อนหลังเพื่อฝึกทักษะให้ได้ และทุ่มเทให้กับการตั้งใจเรียนในห้องเรียนและกลับมาทบทวนเสมอ ซึ่งทางโรงเรียนก็จะมีคอร์สเรียนพิเศษมาสอนให้เสมอ เวลาว่างก็ติวหนังสือกับเพื่อนๆ สลับกับหาข้อมูลบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและได้ความรู้เพิ่ม วันไหนเครียดก็ผ่อนคลายบ้าง ฟังเพลง ปรึกษาพ่อแม่ไปด้วย

"ฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังจะสอบว่า ให้รู้เป้าหมายของตัวเอง

เริ่มต้นศึกษาข้อมูลให้ดีว่าจะไปทางไหน แบ่งเวลาให้ถูกในการอ่านหนังสือ ถ้าปรึกษาอาจารย์ที่โรงเรียน และหาข้อมูลจากอินเตอร์เนตด้วย"


เด็กเทพด้วยความพยายาม


ที่มา นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook