"ลิเก" ตามสมัย อยู่ได้ต้องปรับตัว

"ลิเก" ตามสมัย อยู่ได้ต้องปรับตัว

"ลิเก" ตามสมัย อยู่ได้ต้องปรับตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ก่อนหน้านี้ เวลาบ้านไหนเรือนไหนจัดงานใหญ่โต มักได้ยินเสียงปี่พาทย์ลิเกแว่วมาไกลๆ เสมอ

บางบ้านหับประตูลงกลอน เดินไปดูลิเกกันทั้งครอบครัว พร้อมหิ้วเสื่อหิ้วหมอนเป็นอุปกรณ์เสริม เป็นมหรสพย่อมๆ ที่มีข้าวของขายพอให้กินขบเคี้ยวเพลินๆ ระหว่างดูลิเก

แต่เมื่อแสงสีมากขึ้น ความสนใจผู้คนเปลี่ยน เสียงปี่พาทย์หายห่างจางลง จนนึกถึงครั้งล่าสุดที่ได้ยินไม่ออก แม้กระทั่งตามต่างจังหวัด มิพักต้องพูดถึงในเมืองกรุง

มองผ่านสายตาคนนอก เรื่องนี้อาจน่ากังวล แต่คน "ข้างใน" ยืนกรานว่าลิเกไม่มีทางตาย เพราะต่อให้โลกโลกาภิวัตน์ไปถึงไหนๆ ก็ยังมีที่ทางให้ลิเกอยู่เสมอ

จริงหรือ?

...

"ลิเกยังอยู่ได้ถ้ามีคนอยากดู" ศิลปินแห่งชาติ บุญเลิศ นาจพินิจ ยืนยัน

ก่อนแจกแจงว่า ลิเกนั้นมีสองแบบ คือลิเกลูกบทและลิเกทรงเครื่อง ซึ่งอย่างหลังจะเล่นยาก เพราะต้องฝึกหัดกันหนัก เหมือนการฝึกโขน ส่งผลให้ลิเกส่วนใหญ่ในปัจจุบันเล่นลิเกทรงเครื่องกันไม่ค่อยได้

บุญเลิศ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ลิเก) บอกอีกว่า ความนิยมของศาสตร์ชนิดนี้ อยู่ที่ "ผู้แสดง" จะหยิบยื่น เพราะ "คนดู" มีหน้าที่เป็นฝ่ายรับ

ศิลปะนี้จะ "ยังอยู่หรือไม่" จึงขึ้นอยู่กับตัวลิเกทั้งหลายจริงๆ

เพราะลิเกไม่ใช่เรื่องล้าสมัยที่คนรุ่นใหม่สัมผัสไม่ได้อีกแล้ว

"ผมยืนยันได้ว่า ถ้าเราแสดงทรงเครื่องให้เขาดูได้ เขาจะดูและสนุก"

ปัญหาจึงอยู่ที่ ลิเกสมัยนี้ฝึกหัดไม่พอ จึงเล่นลิเกทรงเครื่องให้สนุกไม่ได้

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาท ทำให้คนหันไปหาความบันเทิงจากอะไรที่ใกล้ตัว อย่างอินเตอร์เน็ตหรือโทรทัศน์ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบให้การแสดงอาชีพตกต่ำลง

"สมัยก่อนเวลาแสดง เราต้องการให้คนมาดูเยอะๆ เพื่อเก็บค่าดู ก็ต้องแสดงให้ดีเข้าไว้"

"แต่พออัดลงแผ่น ลงวิดีโอ มันทำให้หมดความกระตือรือร้นที่จะแสดงให้ดี แล้วพออัดลงซีดี คุณก็กลั่นกรองทุกอย่างมาแล้ว ซึ่งพอไปแสดงจริงมันจะสู้ในวิดีโอไม่ได้ ฉะนั้น คนจะไปดูการแสดงสดทำไม ดูที่บ้านสบายกว่า"

นอกเหนือจาก 2 เรื่องดังกล่าว บุญเลิศยังว่า อีกสิ่งที่ทำให้ฝีมือนักแสดงไม่พัฒนา ยังมาจากคนดู

"เห็นไอ้หนูนี่หน้าตาสวยดี ก็ช่วยซื้อเครื่องแต่งตัว คือสวยอย่างเดียว ไม่ต้องเล่น ต้องร้องเก่ง ก็มีคนช่วย"

ซึ่งต่างจากสมัยเขา ที่ "เสน่ห์" แม้มีส่วนบ้าง แต่ถ้าเล่นไม่เข้าท่า ยังไงก็ไม่รอด

เรื่องนี้ ปนัดดา อยู่ยั่งยืน "นางร้าย" ขาประจำ เห็นด้วยเต็มที่

"บางทีแฟนคลับก็มีส่วนทำให้ตัวลิเกไม่ใส่ใจที่จะเป็นลิเกจริงๆ มาบอกว่า โอ๊ย! วันนี้ทำไมไม่สวยเลย พระเอกของฉันไม่เด่นเลย ออกมาน้อยจัง ไม่ดูละ"

"มันเลยไปสร้างค่านิยมผิดๆ ให้ตัวลิเก ว่าต้องดูดี"

"แล้วจะคิดว่า ถ้าเล่นตัวนี้ไม่เด่น ใครจะเห็นฉันล่ะ มีการเลือกบทกัน"

อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเรื่อง "พูดยาก" เพราะถึงอย่างไรลิเกก็อยู่ได้ด้วยแฟนคลับส่วนหนึ่ง

และเพื่อปรับให้เข้ายุคสมัย เธอเองก็ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตสื่อสารกับแฟนคลับ รวมทั้งยังสรรหาเด็กรุ่นใหม่มาเข้าคณะเป็นประจำ "ตอนนี้ลิเกเข้าถึงทุกบ้านนะ มีสื่อช่วย มีพื้นที่ให้เรายืน" เธอว่า

ขณะลิเกรุ่นใหม่ก็เรียนจบปริญญาตรี จบนาฏศิลป์กัน เธอเองนั้นก็ส่งลูกไปเรียนที่นั่นเช่นกัน และวันไหนที่ลูกไปขึ้นเวทีด้วย ก็จะมีเพื่อนลูกตามไปดูด้วย ทำให้ได้คนที่สนใจเพิ่ม

ในสายตาเธอ ลิเกจึง "เนฟเวอร์ ดาย"

ต้อม นิรันดร์ พระเอกชื่อดังจาก คณะนิรันดร์ อัญชลี ก็เห็นด้วยเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กส่งผลดีต่อวงการ เพราะการถ่ายคลิปไปลงยูทูบ ทำให้มีคนรู้จักและติดตามดูลิเกมากขึ้น

มิน่า...มีคลิปของคณะนี้อยู่เพียบ!!

แต่ถึงกระนั้นเขาก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง นั่นคือความนิยมในลิเกปิดวิกลดลงมาก

คณะของเขาซึ่งทำมาหากินในกรุงเทพฯจึงหยุดปิดวิก เลิกเปิดการแสดงแบบขายบัตรให้คนดูมา 2 ปีแล้ว หลังตระหนักได้ว่าทำไปก็ไม่มีคนดู คงเหลือแต่รับงานที่มีผู้ว่าจ้างให้ไปแสดงตามงานต่างๆ ซึ่งมักมีคนดูหนาแน่น

ที่จำนวนผู้ชมต่างจากตอนขายบัตร พระเอกคนนี้มองว่านอกจากค่านิยมที่เปลี่ยนไปแล้ว สภาวะเศรษฐกิจยังส่งผล

"คนกรุงเขาก็ไม่ดู ถ้าเขาจะผ่อนคลาย เขาไปดูหนังฟังเพลง คงดูลิเกไม่เป็น"

แต่ "ไม่น้อยใจ"

ทั้งยังว่า..ถึงที่สุดแล้ว ลิเกที่จะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นกับฝีมือ และการปรับตัวให้เข้ายุคสมัย

"บางคณะเล่นตามแบบแผนเกินไป ร้องเยอะ รำเยอะ พูดนาน ทุกอย่างช้าไปหมด คนดูรุ่นใหม่ก็เบื่อ"

"ฉะนั้น ต้องปรับให้ไว ให้ร่วมสมัย เอาชื่อละครโทรทัศน์ใหม่ๆ มาสอดแทรก เอาเรื่องสมัยใหม่ มุขใหม่ๆ มาเล่น"

"สิ่งสำคัญ ต้องมีศิลปินวัยรุ่นมาซัพพอร์ต ยืมๆ กันเล่นกัน"

ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นน้ำจิตน้ำใจ ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือกันในหมู่ลิเก

ผู้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการก้าวต่อ


ที่มา นพส.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook