ไขคำตอบ "เซี่ยงไฮ้" การศึกษาอันดับ 1 ของโลก

ไขคำตอบ "เซี่ยงไฮ้" การศึกษาอันดับ 1 ของโลก

ไขคำตอบ "เซี่ยงไฮ้" การศึกษาอันดับ 1 ของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ Education Ideas โดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)

ประเทศที่การศึกษาประสบความสำเร็จ ช่องว่างระหว่างคุณภาพโรงเรียนจะไม่แตกต่างกัน

จากผลสำรวจของ OECD (ผู้จัดการทดสอบ PISA) ในปี 2555 ได้จัดอันดับระบบการศึกษาที่มีความเท่าเทียมกันทางคุณภาพของโรงเรียนพบว่าเซี่ยงไฮ้ยังคงเป็นระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลก ทั้งผลการสอบ และในแง่ความเท่าเทียมทางคุณภาพของโรงเรียนมากที่สุด จึงถูกจัดอันดับว่าเป็นระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการลดช่องว่างระหว่างคุณภาพของโรงเรียนได้อย่างประสบผลสำเร็จ

"นี มินจิง" เลขาธิการสำนักงานการศึกษานครเซี่ยงไฮ้ ถ่ายทอดประสบการณ์ตอนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเซี่ยงไฮ้ในการประชุมวิชาการ "อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายในช่วงผ่านมา

แสดงทัศนคติว่า กว่าเซี่ยงไฮ้จะติดอันดับดังกล่าว เซี่ยงไฮ้ผ่านเหตุการณ์สำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษา "นี มินจิง" เล่าว่า การปฏิรูปการศึกษาของเซี่ยงไฮ้ทำอย่างจริงจังมาตลอดกว่า 20 ปี (ปี 2533-2553) โดยช่วง 10 ปีแรก เซี่ยงไฮ้มุ่งปฏิรูปโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากร คุรุภัณฑ์อย่างเพียงพอ รวมถึงเน้นให้นักเรียนเข้าเรียนในพื้นที่เพื่อให้เกิความเท่าเทียม พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอนโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น

จากนั้นจึงมีการปฏิรูปหลักสูตรระยะที่ 2 (10 ปีต่อมา) มีการพัฒนาทักษะวิชาชีพของคณะครู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพครูมืออาชีพ รวมถึงส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน

การพัฒนาของเซี่ยงไฮ้ข้างต้น "นี มินจิง" สะท้อนว่ายังต้องปรับปรุงต่อไป เพราะการพัฒนาที่เน้นการเรียนมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา แม้จะทำให้ผลการเรียนของนักเรียนในเซี่ยงไฮ้ดีขึ้นมาก แต่พบปัญหาใหม่เกิดขึ้น นักเรียนใช้เวลาไปกับการเรียนมากเกินไป ส่งผลให้ขาดโอกาสลงมือปฏิบัติ และวิจัยด้วยตัวเอง จึงเกิดปัญหาความคิดสร้างสรรค์ตามมา

ท้ายที่สุดการเรียนที่หนักเกินไป ทำให้นักเรียนไม่สนใจการเรียน และยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat


เซี่ยงไฮ้จึงมีการวางกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงการศึกษาขึ้นพื้นฐานอีกครั้ง ภายใต้ 3 โครงการหลัก ๆ ประกอบด้วย โครงการโรงเรียนที่มีคุณภาพดี, โครงการจับคู่โรงเรียนที่เข้มแข็งกับโรงเรียนที่อ่อนแอ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการศึกษา และโครงการประเมินดัชนีสีเขียว

เริ่มจากโครงการโรงเรียนที่มีคุณภาพดี มุ่งใช้โรงเรียนเป็นจุดหลักของการปฏิรูป โดยรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่จัดงบประมาณเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดหาครูดีมาสอน โดยเน้นให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูค้นหาปัญหา และปรับปรุงวิธีการสอนของตัวเอง กระบวนการนี้ทำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดการปรับปรุงศักยภาพของครู และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตามไปด้วย

ส่วนโครงการจับคู่โรงเรียนที่เข้มแข็งกับโรงเรียนที่อ่อนแอ จะมีการทำข้อตกลงระหว่างโรงเรียนที่เข้มแข็งกับโรงเรียนที่อ่อนแอ โดยตั้งคณะทำงานคอยให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน พร้อมกับการประเมินผลภายหลัง 1 ปีที่มีการจับคู่ช่วยเหลือ หากไม่ได้ผลจะมีการเปลี่ยนโรงเรียนที่มาช่วยเหลือทันที

โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เกิดการแบ่งปันแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในทุกพื้นที่ และกำจัดอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นจากความแตกต่างของระบบการบริหารในแต่ละเขตพื้นที่ ช่วยให้เกิดการปฏิรูปชุมชนตามไปด้วย สามารถลดช่องว่างของเมืองและชนบท

สำหรับโครงการประเมินโรงเรียนดัชนีสีเขียว เป็นการกำหนดดัชนีชี้วัด 10 ตัว เพื่อบ่งชี้ถึงการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น มีการเปรียบเทียบผลทุกปี ยกตัวอย่างเช่น ดัชนีวัดความกดดันของนักเรียน เพื่อวัดพฤติกรรมและศีลธรรมของนักเรียน วัดความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน วัดสภาพเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน ที่มีผลกระทบต่อผลการศึกษา และวัดสุขภาพกายและใจ เป็นต้น

การเกิดขึ้นของโครงการนี้มาจากการให้ความสำคัญกับ "ความสุข" ของนักเรียนในการเรียนนั่นเอง จึงมีการจัดทำดัชนีชี้วัดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเรียนของนักเรียนทั้งหมด และมีประเมินผลทุกปี เพื่อผลักดันให้ครูปรับปรุงการสอน ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนาคตทางการศึกษาขั้นพื้นฐานของเซี่ยงไฮ้จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ "นี มินจิง" บอกว่า ยังจะได้เห็นการพัฒนาต่อไป โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางพร้อมไปกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

ความพยายามปฏิรูปการศึกษาของเซี่ยงไฮ้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานทั้งสำเร็จและล้มเหลว แต่อยู่บนความตั้งใจและทิศทางที่แน่แน่ว จึงส่งผลให้ภายใน 3 ปี เซี่ยงไฮ้สามารถ "เพิ่มคุณภาพ" และ "ลดช่องว่าง" ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้แก่นักเรียนได้อย่างเด่นชัด

ดังจะเห็นได้จากคะแนน PISA ระหว่างปี 2009 และ 2012 มีการพัฒนาคุณภาพเด็กให้มีผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับสูง (ระดับ 6) เพิ่มขึ้นถึง 8-16% และสามารถลดจำนวนเด็กที่มีผลคะแนนในระดับต่ำ (ระดับ 1 หรือต่ำกว่า) ลงถึง 15-23% พร้อมทั้งการพัฒนา "ความสุข" ในการเรียนรู้ควบคู่กัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook