เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ สาวน้อยนักประวัติศาสตร์ศิลป์

เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ สาวน้อยนักประวัติศาสตร์ศิลป์

เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ สาวน้อยนักประวัติศาสตร์ศิลป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์" หรือ "ดรีม" สาวหน้าใสร่างเล็กน่าทะนุถนอมวัยเบญจเพส ที่ใครเห็นคงต้องเข้าใจว่าเธอคงใช้ชีวิตดั่งเจ้าหญิงที่โก้หรูอยู่ในสังคมเมือง

หากแต่จริง ๆ แล้ว สาวน้อยคนนี้กลับเต็มไปด้วยดีกรีความสามารถมากกว่าที่ใคร ๆ คิด แม้จะเพิ่งเรียนจบในระดับปริญญาโทสาขาบริหารจัดการทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกามาหมาด ๆ แต่ผลงานในชีวิตของเธอนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่แผนกการศึกษาในหอศิลป์ เจ้าหน้าที่ข้อมูลศิลปะ งานเขียนบทความศิลปะต่าง ๆ

"ดรีม-เหมือนฝัน" เล่าถึงตัวตนของเธอว่า ตั้งแต่จำความได้เธอเป็นคนที่สนใจการเรียนรู้ ช่างสังเกต และมักชอบเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาลงดีเทลลึก ๆ อยู่เสมอ กระทั่งเมื่อราว 10 ปีก่อน คุณพ่อ (เสริมคุณ คุณาวงศ์) ผู้คลุกคลีในแวดวงศิลปะมาตลอดชีวิต คือผู้เปิดโอกาสให้เธอได้รู้จักกับโลกแห่งศิลป์ด้วยการพาเธอไปพบกับศิลปินชื่อดังมากหน้าหลายตา แม้จะไม่ได้มีการชี้นำหรือชักชวนให้สนใจในด้านนี้ แต่ก็เหมือนเป็นการเปิดประตูให้เธอได้เรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลป์

"ด้วยความที่ดรีมชอบการศึกษา การเรียนรู้มาตลอด ถึงเรามาสนใจเรื่องศิลปะ ความชอบในแบบเดิมก็ยังติดมาด้วย ดรีมถึงเลือกที่จะเรียนปริญญาตรีในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยวอริค พอได้มาเรียนก็สนุกและตรงกับสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ก็มีช่วงยากลำบากนะคะ เพราะการศึกษาของที่โน่นเขาก็จะมีการเรียนปรับพื้นฐานเตรียมความพร้อมในแต่ละด้านมาก่อน บ้านเรายังไม่มีตรงนั้น เราจึงต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น ประกอบกับภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา แต่ดรีมคิดว่าเราไม่ควรนำสิ่งนี้มาเป็นข้ออ้างที่จะขัดขวางการพัฒนาการเรียนรู้ของเรา"

ในวันว่างจากการเรียน "ดรีม-เหมือนฝัน" ยังคงใช้เวลาไปกับห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อีกทั้งการเรียนในด้านดังกล่าวยังทำให้เธอได้ไปศึกษาวัฒนธรรมที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี ความรู้และประสบการณ์ที่เธอรวบรวมระหว่างการศึกษา เมื่อมีผู้ใหญ่ได้รับรู้จึงชักชวนให้เธอถ่ายทอดเรื่องราวลงเป็นตัวอักษรผ่านนิตยสาร คนที่หลงใหลในด้านงานเขียนเป็นทุนเดิมอย่าง "ดรีม-เหมือนฝัน"จึงตอบตกลงอย่างไม่ยากเย็น

"ตอนที่มีคนติดต่อมา ถึงจะมีหวั่นบ้างเล็กน้อย แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องราวที่ดี บวกกับเราอยากถ่ายทอดส่วนนี้อยู่แล้วจึงตอบตกลง งานเขียนของดรีมเป็นบทความกึ่งสารคดีค่ะ ซึ่งก็มีผลตอบรับกลับมาพอสมควรเลยทีเดียว จนกระทั่งเมื่อเขียนจบก็ยังมีการรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ ′กาลครั้งหนึ่งกับเด็กหญิงนักประวัติศาสตร์ศิลป์′ ซึ่งเราก็มีแฟนหนังสือกลุ่มหนึ่งที่เขาชื่นชอบ มีมาทักทายตามโซเชียลเน็ตเวิร์กบ้าง ก็รู้สึกดีค่ะ เวลาเขาติดตามผลงานของเรา การที่ดรีมได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ดรีมก็ได้เรียนรู้ผู้คน วัฒนธรรม ภาษา ซึ่งเราก็ชอบมาก ๆ เลยค่ะ นอกจากไทย อังกฤษแล้ว ดรีมก็มีโอกาสได้เรียนภาษาฝรั่งเศสและอิตาเลียนด้วย ออกตัวว่ายังไม่เก่งนะคะ แค่พอเอาตัวรอดได้"

ในช่วงเวลาแห่งการศึกษาเล่าเรียน "ดรีม-เหมือนฝัน" คือนักเรียนชาวเอเชียเพียงคนเดียวที่เลือกทางด้านนี้ เธอเล่าให้ฟังว่า ในขณะนั้นเธอรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวแทนของประเทศ ยิ่งในยามที่ใครต่อใครพูดถึงประเทศไทยในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร เธอจะต้องบอกเล่าหรืออธิบายความจริงจนกระจ่าง

"เรื่องโจ๊กที่ใครต่อใครมักพูดกันว่าเคยมีชาวต่างชาติมาถามว่าบ้านเมืองเธอยังขี่ช้างไปโรงเรียนอยู่รึเปล่า อย่าคิดว่าเป็นแค่เรื่องอำนะคะ ดรีมเคยโดนถามแบบนั้นกับตัวเองมาแล้ว ดรีมเลยจัดการบอกเลยว่าบ้านเรามีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก มีรถไฟฟ้า มีความสะอาด และมีสิ่งที่ดี ๆ อีกมาก บางทีดรีมก็ย้อนคิดนะคะว่า ทำไมบางครั้งคนไทยถึงชอบดูถูกชาติตัวเอง ในลักษณะว่าคนไทยไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ไม่ใช่สยามเมืองยิ้มเหมือนเคย หรือนี่แหละนิสัยแบบคนไทย แต่ในความรู้สึกของดรีม จากที่ดรีมเคยได้ยินชาวต่างชาติพูดถึงประเทศไทย คือ ถึงบ้านเราจะไม่ได้เจริญถึงขีดสุด แต่ในเรื่องของความสุขความสบายใจ ประเทศไทยไม่น้อยหน้าชาติอื่นใดในโลกแน่นอน เพียงแต่เราต้องสื่อสารออกไปให้ถูกต้อง ในเรื่องของศิลปะก็เช่นกัน

เมื่อพูดถึงศิลปะไทย ใคร ๆ ก็นึกถึงลายกนก ลายไทย วัดวังต่าง ๆ ชาวต่างชาติยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเรามีทั้งไทยโมเดิร์น ไทยร่วมสมัยแล้ว เขาจะรู้จักแต่ไทยคลาสสิก"

"ดรีม-เหมือนฝัน" เล่าถึงทรรศนะในด้านศิลปะกับคนไทยว่า ไม่ว่าคนชาติไหนหรืออยู่ที่ใดในโลก ล้วนมีศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น เพราะเรื่องง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวอย่างการแต่งกายก็ยังเป็นเรื่องของศิลปะ เพียงแต่คนไทยยังไม่ได้มีการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เข้าถึงเรื่องของศิลปะอย่างแท้จริง เรายังมีแกลเลอรี่หรือสถานที่แสดงผลงานศิลปะอยู่น้อย จึงทำให้ขาดช่วงของการเรียนรู้ เธอเองที่เรียนมาทางด้านนี้ก็หวังว่าจะได้ถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่ผู้คนในวงกว้าง

ยามว่างนอกจากการสนทนาเรื่องศิลปะกับคุณพ่อแล้ว "ดรีม-เหมือนฝัน" ยังชอบตระเวนไปร้านกาแฟใหม่ ๆ เพราะอาหารยังเป็นอีกด้านที่เธอสนใจ

"จริง ๆ เรื่องของอาหารก็คล้ายกับศิลปะ เป็นเรื่องราวที่มีรายละเอียดปลีกย่อย มีวัฒนธรรมซ่อนอยู่ในนั้น การดูงานศิลปะหนึ่งชิ้นดรีมไม่อยากมองแค่ภายนอก สวย-ไม่สวย หรือทำมาจากอะไร แต่ดรีมอยากรู้มากกว่านั้น อยากตีความได้ว่าศิลปินมีแรงบันดาลใจอะไร ทำไมถึงผลิตงานชิ้นนั้นออกมาในรูปแบบนั้น"

ในวันนี้ของ "ดรีม-เหมือนฝัน" ได้ฝึกงานที่ ART 21 รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับศิลปะที่มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อถามว่าจะมาช่วยดูแลศูนย์ประติมากรรมของคุณพ่อหรือไม่ เธอบอกว่า คุณพ่อไม่เคยบังคับ และตอนนี้เธอก็มีความสุขกับหน้าที่ที่กำลังทำ แม้จะเหนื่อยมาก แต่ก็อยากทำให้ดีที่สุด

หวังว่าสาวน้อยนักประวัติศาสตร์ศิลป์จะสำเร็จในเส้นทางที่วาดขึ้นด้วยสองมือของเธอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook