หัวใจของห้องเรียนอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 21

หัวใจของห้องเรียนอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 21

หัวใจของห้องเรียนอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 21
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

การพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ นับเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดังนั้น ในยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันขีดความ สามารถและการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เทคโนโลยีจึงมีบทบาทอย่างมากในการกำหนด รูปแบบการศึกษายุคใหม่ การเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการที่มีต่อเทคโนโลยี จากเด็กนักเรียน ความพร้อมใช้งานของเนื้อหาออนไลน์ และความคิดริเริ่มในการปฏิรูปหลักสูตร เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) และกรอบความคิด สมาร์ท เลิร์นนิ่ง (Smart Learning) ล้วนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการศึกษาอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เป็นการสร้างโอกาสที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับทั้งโรงเรียนและครูผู้สอน ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการศึกษายุคใหม่ว่า "เทคโนโลยีเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการเรียนการสอนในศตวรรษ ที่ 21 ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์สมาร์ท ไทยแลนด์ 2020 โดยทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย วิธีการคิด วิธีการทำงาน ทักษะการใช้ชีวิต และเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งก็คือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร หรือไอซีทีนั่นเอง"

นักการศึกษาทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับโลก และรากฐานของระบบการศึกษาระดับแนวหน้า

นำมาสู่แนวคิดเรื่อง "ห้องเรียนอัจฉริยะ" หรือสมาร์ท คลาสรูม (Smart Classroom) ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติกลางๆ ที่อธิบายถึงการนำเทคโนโลยีทั้งระบบมาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนอย่างแท้จริง รวมถึงช่วยขยายโอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

"การยกระดับ ศักยภาพด้านการศึกษานั้น สพฐ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สมาร์ทคลาสรูม เป็นแนวทางที่ สพฐ.ต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ได้รูปแบบที่สามารถตอบโจทย์โรงเรียนต่างๆ ที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน"

"ฟังดูเหมือนเทคโนโลยีจะเป็นตัวเอก ของเรื่อง แต่ที่จริงเป็นเพียงช่องทางหรือเครื่องมือให้เราเข้าถึงผลสัมฤทธิ์ทางการ ศึกษาสิ่งสำคัญคือกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ กลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องประกอบด้วยปัจจัย หลายประการที่มีส่วนสัมพันธ์กัน" นายเอนกกล่าวเสริม

องค์ประกอบ หนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อน Smart Classroom คือครูที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ซึ่ง สพฐ. ได้ดำเนินโครงการ Partners in Learning ที่สร้างเครือข่ายชุมชนของครูอันเข้มแข็ง ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการเรียนการสอน โครงการนี้ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มีครูที่ผ่านการอบรมจำนวน 164,000 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 9,000 แห่ง

นอกจากนี้ ดิจิตัล คอนเทนต์ หรือเนื้อหาสาระต่างๆ ควรมีการพัฒนามาสู่ระบบออนไลน์ให้มากขึ้น โดยในปัจจุบันนักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ร่วมกัน ได้ผ่าน "คลาวด์" ที่ สพฐ. เลือกนำมาใช้งาน ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับการปกป้องข้อมูลของครูและนักเรียน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทรรศนะบางส่วนจากมุมมองของผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทย ส่วน Smart Classroom ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนไทย จะมีหน้าตาอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาพัฒนาร่วมกันจากทุกภาคส่วนในสังคม


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook