4 มหา′ลัย อุทธรณ์ ก.ต.แบนปริญญาโททางกฎหมาย ยันผ่านเกณฑ์สกอ.แล้ว

4 มหา′ลัย อุทธรณ์ ก.ต.แบนปริญญาโททางกฎหมาย ยันผ่านเกณฑ์สกอ.แล้ว

4 มหา′ลัย อุทธรณ์ ก.ต.แบนปริญญาโททางกฎหมาย ยันผ่านเกณฑ์สกอ.แล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอดมติ ก.ต.ไม่รับรองหลักสูตร ป.โทกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของ 7 มหา′ลัย สร้างความสับสนให้ น.ศ.-ศิษย์เก่า 4 สถาบันแจงมีคุณภาพ ได้รับความเห็นชอบ-ตรงตามหลักเกณฑ์ สกอ. ก.พ.ก็รับรอง

ความคืบหน้าจากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 19/2557 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีมติไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น จ.อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมีมติให้เพิกถอนการรับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยตาปี มหาวิทยาลัยปทุมธานี และมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียนั้น

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นางชนากานต์ ยืนยง อธิการบดีมหาวิทยาลัยปทุมธานี กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลที่ ก.ต.ไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายของมหาวิทยาลัย ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ได้รับรองแล้ว และทางมหาวิทยาลัยปทุมธานีก็มีคณาจารย์ระดับผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง เช่น อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งนักเขียนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็มาเป็นอาจารย์สอนในคณะนิติศาสตร์ ดังนั้นจะร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกิดปัญหาถูกระบุหลักสูตรปริญญาโทไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าจะดำเนินการเช่นไร เพราะมีปัญหาถูกกล่าวหาว่าอาจารย์ไม่ได้ลงสอนเองบ้าง มีแต่ชื่อ รวมทั้งเนื้อหาบางวิชาไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง รายชื่ออาจารย์ประจำทุกภาควิชาของมหาวิทยาลัยปทุมธานีมีตัวตนมาทำการสอนจริงๆ

"เรื่องดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท รวมทั้งลูกศิษย์อีกจำนวนมาก ต่างโทรศัพท์มาสอบถามข้อเท็จจริง ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปแล้วบางส่วน ทั้งนี้ ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้จะมอบหมายให้ ผศ.ดร.วิภาส ทองสุทธิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง" นางชนากานต์กล่าว

ผศ.ดร.วิภาสกล่าวว่า วันที่ 28 สิงหาคมนี้จะทำเรื่องอุทธรณ์และสอบถามเหตุผลที่ ก.ต.เพิกถอนการรับรองหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยว่าเพราะเหตุใด เนื่องจากหลักสูตรนี้ ก.ต.เคยรับรองไปแล้ว และมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนมานานเกือบ 10 ปีแล้ว มีนักศึกษาจบไปแล้วกว่า 100 คน ยืนยันว่ามีคุณภาพแน่นอน ตรงตามหลักเกณฑ์ สกอ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็รับรองด้วย

นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา อาจารย์พิเศษ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องหนักใจ หากทางมหาวิทยาลัยได้ทำตามหลักเกณฑ์ทั้งหมดแล้ว และให้ทาง ก.ต.พิจารณาใหม่อีกครั้งก็คงไม่มีปัญหา ผู้ที่เรียนจบไปสามารถไปสมัครสอบใหม่ได้ ทั้งนี้ เข้าใจว่าทาง ก.ต.ต้องการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา

อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มบ.คนหนึ่ง กล่าวว่า หลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายของ มบ.ผ่านกระบวนการรับรองจาก สกอ.แล้ว และยังมีความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดจัดส่งบุคลากรมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษในหลักสูตรด้วยหลักสูตรนี้มีมาตรฐานแน่นอน และนักศึกษาที่จบไปยังไปสอบเป็นผู้ช่วยอัยการได้ อย่างไรก็ตาม หาก ก.ต.มีความเห็นออกมาอย่างไร ทาง มบ.ก็พร้อมปรับปรุง และเสนอกลับไปให้พิจารณาใหม่ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรนี้อย่างแน่นอน

นายพรเลิศ สุทธิรักษ์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยตาปี กล่าวว่า โครงสร้างหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (นม.) สาขาวิชากฎหมายมหาชน หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555 ที่ไม่ผ่านการพิจารณาหลักสูตรของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วหลักสูตรนี้ได้ผ่านการพิจารณาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางด้านธุรการ ซึ่งเกิดความล่าช้าในการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งนายโกเมศ ขวัญเมือง คณบดีคณะนิติศาสตร์ไปชี้แจงรายละเอียดที่ สกอ.แล้ว

นายศรัณย์ พันธ์มณี คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายของทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ สกอ. และได้เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก.พ.ก็รับรอง นักศึกษาที่เรียนจบไปสามารถทำงานได้ และเมื่อกลางปีที่ผ่านมาทางสำนักงานอัยการก็ยังรับผู้จบจากมหาวิทยาลัยที่ไปสอบมาแล้ว อย่างไรก็ตามได้รับแจ้งจาก ก.ต.ว่าทางมหาวิทยาลัยมีสิทธิจะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในช่วงเย็นวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการส่งหลักฐานเอกสารให้กับทาง ก.ต.เพื่อพิจารณาแล้ว โดยได้ชี้แจงเกี่ยวกับจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร คุณสมบัติของอาจารย์ สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้ชี้แจงไปยัง ก.ต.แล้วว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด และ ก.พ.ก็รับรองให้สอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องเอกสารที่อาจส่งไปไม่ครบ หรือเอกสารบางชิ้นอาจไม่ชัดเจน

"เช้าวันเดียวกันนี้ ทางอธิการบดีได้เรียกคณบดีทุกคณะประชุมเรื่องนี้ และให้ชี้แจงนักศึกษา เพราะมีนักศึกษาโทรศัพท์สอบถามเข้ามามาก โดยหลักสูตรนี้มีนักศึกษาจบไปแล้ว 2 รุ่น ประมาณ 10 คน และกำลังอยู่ระหว่างศึกษาอีกประมาณ 20 คน" นายศรัณย์กล่าว

นายณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โดยหลักการแล้วผู้มีหน้าที่อนุมัติหลักสูตรคือ สกอ. เมื่อ สกอ.รับทราบหลักสูตรแล้ว การบริหารจัดการที่เหลือจะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ซึ่งในกรณีการไม่รับรองหลักสูตรของ ก.ต. ถือเป็นการตรวจสอบของหน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งอาจมีกระบวนการที่ลึกลงไปอีก ถือเป็นสิทธิที่ทำได้

ด้านแหล่งข่าวจาก ก.ต.ระบุว่า มหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งที่ทาง ก.ต.มีมติไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษานั้น หากมหาวิทยาลัยใดมีการปรับปรุงหลักสูตรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สกอ. ก็สามารถยื่นเรื่องให้ทาง ก.ต.พิจารณาใหม่ได้ โดย ก.ต.จะตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ หากพิจารณาแล้วพบว่ามีการปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานและถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของ สกอ. ทาง ก.ต.ก็จะเพิกถอนมติไม่รับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา หากทางคณะทำงานที่ ก.ต.แต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สกอ. และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ตรวจสอบพบว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยใดไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ทาง ก.ต.ก็จะพิจารณาเพิกถอนการรับรองหลักสูตรเช่นกัน แต่ก่อนที่ทาง ก.ต.จะมีมติใดๆ จะเปิดโอกาสให้ผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าชี้แจงและสอบถามข้อเท็จจริงก่อน ทั้งนี้ สำหรับผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว ไม่พบว่ามีคนใดจบหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook