กระจกวิเศษสะท้อนภาพความตกต่ำของการศึกษาไทย

กระจกวิเศษสะท้อนภาพความตกต่ำของการศึกษาไทย

กระจกวิเศษสะท้อนภาพความตกต่ำของการศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย เพชร เหมือนพันธุ์

ประเทศไทย นำโดยรัฐบาล คสช. ซึ่งมี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 กำลังจะปฏิรูปประเทศไทยใน 11 ด้าน ด้านที่สำคัญอย่างยิ่งด้านหนึ่งคือ ด้านที่ 5 การปฏิรูปการศึกษา คณะกรรมการที่ออกแบบการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะมีทั้งหมด 15 ท่าน ที่ คสช.ได้เลือกมาจากองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ และจากที่คณะกรรมการจังหวัดเลือกมา คนไทยทั่วประเทศอยากเห็นความสำเร็จ อยากฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการชุดนี้แม้ว่าจะเป็นฝางเส้นสุดท้าย และจะขอเอาใจช่วยเป็นกำลังใจในการทำงานสำคัญครั้งนี้ด้วย

ก่อนการปฏิรูปการศึกษา เราคงต้องกลับมาสำรวจดูสภาพของตนเองผ่านกระจกเงาที่สะท้อนภาพมาจากสถาบันประเมินผลต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศก่อนที่จะรื้อระบบหรือทุบทิ้ง เพื่อลบความสะเทือนใจความรู้สึกอึดอัดใจที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ผลการประเมินจากสถาบันต่างๆ พบว่า คุณภาพของการศึกษาไทยตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต่างก็ทุ่มงบประมาณลงไปอย่างไม่อั้น รัฐนาวาทางการศึกษาไทยก็ไม่ยอมหันหัวกลับ มีแต่แล่นออกนอกเส้นทางห่างไกลจากเป้าหมายออกไปเรื่อยๆ ยิ่งใกล้จะถึงเวลาเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ยิ่งยังมองไม่เห็นฝั่ง

การประเมินภายในประเทศ ผลสอบ O-NET พบว่านักไทยโดยเฉลี่ยเรียนสอบตกแทบทุกวิชา คะแนนเฉลียไม่ถึง 50% ทุกรายวิชา ตกยกชั้นตกยกประเทศ ถ้าเป็นสมัยโคลัมบัสที่เดินเรือรอบโลกเรือยิ่งแลนห่างฝังออกไปมากเท่าใดก็ยิ่งไม่เห็นเป้าหมายมากขึ้นเท่านั้น จนทำให้ลูกเรือทนต่อความหวาดกลัวที่เรือจะตกจากขอบโลกไม่ไหว จนเกิดวิกฤตก่อการจลาจลบนเรือเดินทะเล

การศึกษาไทยวันนี้ก็ตกอยู่ในสภาพนั้นเพราะความไม่เชื่อมั่นในฝีมือกัปตันสะสมมีมานานแล้ว แม้ผู้ปกครองและครูยังไม่ก่อการจลาจลเพราะไม่ไว้ใจกัปตัน แต่ถ้าพลาดอีกในคราวนี้ก็ไม่แน่ว่าจะควบคุมอยู่

กระจกวิเศษที่สะท้อนภาพความสามารถทางการแข่งขัน PISA ได้ประเมินเด็กที่มีอายุ 15 ปีทั่วโลกใน 3 ด้านคือ ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และด้านการอ่านหนังสือ ประกาศผลเมื่อปีที่แล้ว (2555) จำนวนประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 65 ประเทศ พบว่า คณิตศาสตร์ เด็กไทยอยู่ลำดับที่ 50 เวียดนามอยู่ลำดับที่ 17 ด้านวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่ลำดับที่ 48 จีนอยู่ลำดับที่ 1 สิงคโปร์อันดับที่ 3 ญี่ปุ่นอันดับที่ 4 เวียดนามอยู่ลำดับที่ 8 ด้านการอ่านไทยอยู่ลำดับที่ 47 เวียดนามอยู่ลำดับที่ 19 จีนอันดับที่ 1 สิงคโปร์อันดับที่ 3 ญี่ปุ่นอันดับที่ 19 เราแพ้เวียดนามอย่างน่าละอาย และแพ้ประเทศในเอเชียหลายประเทศ

กระจกเงาอีกบานคือ สถาบันทดสอบ WEF (World Economic Forum) เมื่อปีที่แล้ว 2013-2014 ผลความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเปรียบเทียบเฉพาะในอาเซียน ซึ่งส่งเข้าประกวดเพียง 8 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 8 เป็นอันดับบ๊วยสุดของกลุ่ม แพ้เขมร แพ้เวียดนาม ถ้าลาวและพม่าเข้าร่วมด้วยก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะชนะ 2 ประเทศนี้ได้ แต่ได้มีข่าวใหม่ล่าสุดจาก น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 6 กนยายน 2557

ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันโลก ปี 2014-2015 ที่ WEF ประกาศออกมาแล้ว พบว่า ไทยได้คะแนนเป็นดีดขึ้นเป็นลำดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ เด้งขึ้นจากปีที่แล้วถึง 6 อันดับ ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 37 ดีขึ้นกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกถึง 7 ประเทศ แต่ยังแพ้สิงคโปร์และมาเลเซีย นี้คือข่าวดี แต่ยังมีจุดอ่อนที่ยังต้องกังวล ที่แก้ยังไม่ตกคือทางด้านการศึกษาที่ยังหล่นลงไปต่ำกว่าปีที่แล้วอีกถึง 9 อันดับ ลงไปอยู่ในลำดับที่ 87 ใน 144 ประเทศ เป็นดัชนีที่บอกว่า คุณภาพการศึกษาไทย ... ห่วยมากๆ!!

เมื่อปี พ.ศ.2556 มีกระจกวิเศษบานใหญ่บานหนึ่งที่ได้สะท้อนภาพความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผ่านมุมมองของครูฝรั่งที่เคยสอนอยู่ในประเทศไทยเกิน 3 ปี ได้ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน ได้เขียนบทความเสนอข่าวเผยแพร่ ผ่านสื่อข่าว CNN-IREPORT เกี่ยวกับความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย เธอชื่อ Cassandra James เธอเป็น A British-American Writer Currently เคยเขียนบทความลงในวารสารและหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนักเขียนดีเด่น 1 ใน 100 คนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความของเธอ ขึ้นต้นว่า "ระบบการศึกษาไทย : คือความล้มเหลวแบบน่าสยดสยองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (A terrible failure in S.E.) เธอสะท้อนภาพระบบการศึกษาไทยที่เธอเคยเป็นครูเข้ามาสอนในโรงเรียนไทย เธอบอกว่า ปัญหาการศึกษาไทยเป็นโรคระบาดในด้านงบประมาณที่ไม่เคยเพียงพอ ปัญหาห้องเรียนที่มีนักเรียนเกิน 50 คน ปัญหาวิธีการผลิตและการฝึกอบรมครูที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาที่นักเรียนขี้เกียจ ปัญหาที่ระบบการเรียน (การวัดผล) ที่กดดัน (Force) ให้ครูต้องผลักดันให้นักเรียนได้เลื่อนชั้นทั้งๆ ที่ยังสอบตก และปัญหาที่ครูทุกคนยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้มองไม่เห็นปัญหาวิกฤตที่รุนแรง (Serious) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เด็กนักเรียนไทยไม่ได้ถูกสอนให้คิด ไม่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

ในโรงเรียนรัฐบาล มีนักเรียนเกินกว่าห้องละ 50 คนถือเป็นเรื่องปกติ ครึ่งหนึ่งของนักเรียนในชั้นหลับตลอดชั่วโมง โดยที่ครูไม่ได้สังเกตว่าเด็กนักเรียนจะฟังครูหรือไม่ หนังสือเรียนมีจำกัด เครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ไม่มีอยู่ในหลายแห่ง ครูชาวต่างประเทศเป็นเสมือนกากหรือตะกอนของสังคม

ขณะที่การศึกษาในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและพุ่งทะยาน แต่ที่ประเทศไทยกลับกำลังจมลงสู่จุดที่ต่ำสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่ำลงทุกปี

สังคมไทยเป็นสังคมของการรักษาหน้าและรักษาภาพลักษณ์ในทุกสิ่ง สนใจแต่เพียงภาพที่ให้เด็กดูดีมากกว่าที่จะดูว่าเด็กมีความรู้อะไร แม้การศึกษาไทยจะถอยหลังตกต่ำลงไปในเกมการแข่งขันทางการศึกษา แต่อย่างน้อยก็ยังมองเห็นความน่ารักของเด็กนักเรียนเวลาใส่เครื่องแบบนักเรียนเดินพาเหรดให้เห็นอยู่ในโรงเรียแม้ว่าจะพูกภาษาอังกฤษได้ไม่ถึง 10% ที่สามารถพูดภาษอังกฤษได้มากกว่า 20 คำ และเด็กๆ เหล่านี้แม้แต่ในภาษาของตนก็ไม่ได้ดีอะไร

กระจกวิเศษที่ยกมาเหล่านี้เพียงพอที่จะบอกอาการป่วยของการศึกษาไทยอย่างไม่มีทางปฏิเสธคนต่างชาติอาจใช้มุมมองที่เอาพื้นฐานของเขาเป็นหลัก แต่ก็สามารถสะท้อนได้ระดับหนึ่ง นี่คือ กระจกที่สะท้อนภาพให้เห็นหากเราไม่เชื่อกระจกแล้วเราจะเชื่ออะไร เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของตนเองได้ จึงต้องอาศัยคนอื่นบอก หรืออาศัยกระจกส่องดู

บรรยากาศของประเทศไทยในขณะนี้ ทุกคนกำลังรอดูหน้าตาของทีมปฏิรูปการศึกษา (15 อรหันต์ รุ่นที่ 2) ที่กำลังจะได้รับการคัดเลือกให้มายกร่างปฏิรูปการศึกษาไทยให้พ้นวิกฤต เพื่อให้รัฐนาวาการศึกษาไทยที่หลงทิศหลงทางมานานได้ปรับหางเสือหันหัวเรือเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ให้ก้าวพ้นจุดวิกฤตออกไปให้ได้ ประเทศคู่แข่งในสนามเออีซี จำนวน 10 และบวกเพิ่มอีกหลายประเทศ กำลังมองดูประเทศไทยด้วยความสับสน เพราะประเทศไทยเป็นทางผ่าน เป็นสนามการค้า เป็นสนามแข่งขัน ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่เคยตามก้นเรามาเมื่อก่อนนี้เดี๋ยวนี้เริ่มแซงไปได้แล้ว

กลับมาสำรวจตนเอง หันมาดูสภาพทางกายภาพ (Physical) ทางการศึกษาไทยเรามีจุดแข็งมากกว่าคู่แข่งอยู่หลายขุม เช่น อาคารเรียนเราสวยกว่าหลายประเทศ สนามโรงเรียนกว้างได้มาตรฐาน อาคารโรงฝึกงานก็พร้อม อาคารประกอบ หอประชุม โรงอาหาร แปลงเกษตร ห้องทดลอง Tablet รั้วโรงเรียนที่สวยงาม ป้ายประตูที่โอ่อ่า งามสง่ากว่าเพื่อนบ้าน พอหันกลับเข้าไปดูภายในโรงเรียนและสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังมีความเหนียวแน่นแข็งแกร่ง แต่ในด้านจิตวิทยา (Psychological) กลับพบว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียนั้นล้มเหลว มีเด็กนักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ คิดเลขไม่คล่อง ในระดับประถมศึกษาตอนต้นเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วประเทศและสอบตกสะสมต่อไปจนถึงชั้น ม.3 ซึ่งเป็นตัวฉุดที่ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำตามมา

วิธีการประเมินผลการเรียนที่ผลักดันให้เด็กที่สอบไม่ผ่านได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นปัญหาต่อเด็กต่อครูต่อผู้ปกครองและต่อโรงเรียน มีให้เห็นทุกปี จนผู้ปกครองบางคนเดือดร้อน ต้องมาสอบแก้ ๐ ร มส แทนลูก นี่คือปัญหาที่รุนแรง (Serious) ที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูในโรงเรียนต้องหลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้ทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา เพราะมันเป็นความผิดพลาดของการออกแบบหลักสูตรในส่วนการวัดและประเมินผลการศึกษา

ดังนั้น ต้องไปแก้ไขที่วิธีวัดผลประเมินผลในหลักสูตร โรงเรียนและครูแก้เองไม่ได้ ปัญหานี้จึงต้องถูกปล่อยให้สะสมทับถมมาเรื่อยๆ เป็น 10-20 ปี นักปฏิรูปท่านต้องมอง เพราะมันเป็นจุดวิกฤตสุดท้ายของการเรียน

การสอนในอดีตที่ผ่านมา ครูแทบทุกโรงเรียนสอนแบบบรรยาย (Lecture) เพราะตอนที่ไปเรียนวิชาครูมาจากสถาบันผลิตครูทั้งหลายก็สอนมาแบบนั้น แต่จำเอามาไม่หมด ก็เลยจำเอาเฉพาะแบบบรรยายมาสอนเด็ก โดยที่ครูเป็นฝ่ายผูกขาดความรู้ความถูกต้อง นักเรียนเป็นผู้ที่จะต้องจำความรู้ทุกอย่างที่ครูสอน ใครจำได้มากเข้าใจมากคนนั้นก็จะเป็นคนเก่ง แต่โลกในศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นโลกยุคดิจิตอล Digital Age วิชาความรู้ไม่ได้อยู่ในตัวครูเท่านั้น ความรู้จำนวนมหาศาลอยู่ในสื่ออินเตอร์เน็ต อยู่ใน Google อยู่ในสื่อ on line

ดังนั้นการเรียนยุคใหม่ ครูต้องสอนให้เด็กรู้จัก วิธีแสวงหาความรู้ หรือ Learn how to learn เด็ก จะต้องสามารถวิธีเรียนรู้สืบค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง (Independent Inquiry study) วิธีสอนของครูจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยคือ การสอนแบบโครงงาน (Project Base Learning) ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมการสอนในศตวรรษที่ 21 นี้ การวัดผลก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เป็นการวัดจากความสามารถที่มองเห็นจับต้องได้ปรากฏผ่านการแสดงผ่านผลงานการนำเสนอ Presentation เป็นนิทรรศการหรือการแสดง (Demonstration, Exhibition, Performance)

จะออกแบบปฏิรูปการศึกษาใหม่ต้องหันไปดูเพื่อนบ้านหันไปดูคู่แข่งด้วย ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนใหม่ วิโดโด้ บอกว่าจะสร้างประเทศอินโดนีเชียให้เป็นประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกให้ได้ภายใน 10 ปีนี้ การจัดการศึกษาจะให้ดูประเทศมาเลเซียเป็นต้นแบบ แล้วประเทศไทยเราจะเอาประเทศอะไรเป็นต้นแบบการปฏิรูปการศึกษา น่าจะลองไปปรึกษาท่าน พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา "ดรุณสิขาลัยโรงเรียนแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้" ไว้เป็นต้นแบบ

ส่วนเป้าหมายการพัฒนาประเทศจะเอาประเทศใดเป็นต้นแบบเพื่อตามเขาให้ทัน ให้ไปปรึกษาสิงคโปร์ ฝากไว้ด้วยความห่วงใย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook