กยศ.ยัน "ยึดทรัพย์" เบี้ยวหนี้กู้เรียนในปี 58 เผยขั้นต่ำ "เกรด 2" เป็นไปตามนโยบายคสช. คัดกรองเด็ก

กยศ.ยัน "ยึดทรัพย์" เบี้ยวหนี้กู้เรียนในปี 58 เผยขั้นต่ำ "เกรด 2" เป็นไปตามนโยบายคสช. คัดกรองเด็ก

กยศ.ยัน "ยึดทรัพย์" เบี้ยวหนี้กู้เรียนในปี 58 เผยขั้นต่ำ "เกรด 2" เป็นไปตามนโยบายคสช. คัดกรองเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้จ้างบริษัทติดตามหนี้ ให้เร่งรัดติดตามผู้กู้ที่ค้างชำระและใกล้ครบกำหนดที่จะต้องชำระคืนในปี 2558 ประมาณ 100,000 กว่าราย ให้มาชำระเงินคืน กยศ. เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กยศ.มองว่า การจ้างบริษัทติดตามหนี้ให้ไปติดตามผู้กู้ยืมที่ไม่มาติดต่อ กยศ. น่าจะเป็นผลดีกับผู้กู้มากกว่าผลเสีย เพราะหากผู้กู้รู้ตัวและมาชำระหนี้ ก็จะไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่หากเพิกเฉย ไม่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือติดต่อชำระหนี้ กยศ.ต้องฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อคดีถึงที่สุด ก็ต้องยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 กำหนดให้การบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว

"การจ้างบริษัทติดตามหนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กยศ.ไม่ได้ทำนอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ เรื่องนี้เป็นภารกิจหนึ่งของ กยศ. แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครทำ จึงทำให้มียอดค้างชำระจำนวนมาก" น.ส.ฑิตติมากล่าว

ส่วนแนวทางการปล่อยกู้ที่ กยศ.จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2558 นั้น เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ปล่อยกู้ให้ยาก จ่ายคืนให้ง่าย เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าเงิน และเน้นคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ดังนั้น กยศ.จึงได้กำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำของผู้กู้ให้อยู่ที่ 2.00 โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว สถานศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาเด็กเอาเงินไปใช้แล้วไม่ตั้งใจเรียน บางคนเรียนได้เกรดเฉลี่ยแค่ 1 กว่า ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้ว ก็ไม่มีงานทำ ดังนั้น หากเราเริ่มปลูกฝังให้เด็กมีความซื่อสัตย์ ตั้งใจเรียน เมื่อโตขึ้น ก็จะไม่เกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีเสียงคัดค้านว่าการกำหนดเกรดเฉลี่ยที่ 2.00 จะไม่สามารถคัดกรองเด็กที่ยากจนได้จริงนั้น เด็กที่ยากจนและเรียนดีก็มีจำนวนมาก และเกรดเฉลี่ยที่กำหนดก็ไม่ถือว่ามากเกินไป กยศ.อยากให้เด็กมีความพยายาม ไม่ใช่ได้อะไรมาง่ายๆ ขณะเดียวกัน หากเด็กที่แน่ใจแล้วว่าเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 แน่นอน ก็สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพได้อีกช่องทาง ซึ่งจะมีเงินกู้ให้เด็กแน่นอน เพราะเกณฑ์ใหม่กำหนดสัดส่วนสายสามัญต่อสายอาชีพที่ 50:50 เพิ่มสัดส่วนนักเรียนอาชีวะให้มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล

ข่าวจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แจ้งว่า นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ กยศ. ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน พบว่า

ร้อยละ 75.46 เห็นด้วย ที่กำหนดผู้กู้ต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.00 เพราะเด็กจะได้ตั้งใจเรียน แต่ร้อยละ 21.08 ไม่เห็นด้วย เพราะปิดกั้นโอกาสเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

สำหรับการเข้าร่วมโครงการจิตอาสานั้น ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก เด็กยังต้องรับผิดชอบในเรื่องเรียนหรือช่วยทางบ้าน หากเป็นระดับอุดมศึกษา ก็เรียนและทำงานไปด้วย อาจทำให้ไม่มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการต่างๆ

ส่วนที่บังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวกับระดับมัธยมปลาย อนุปริญญา ปริญญาตรี และผู้กู้รายเก่า แต่ไม่บังคับใช้กับผู้กู้ในระดับ ปวช. ปวท. ปวส. นั้น ร้อยละ 63.37 ไม่เห็นด้วย เพราะควรมีสิทธิกู้ยืมได้เหมือนกัน ขณะที่ร้อยละ 32.66 เห็นด้วย เพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ศึกษาต่อสายอาชีวะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook