"กูเกิล" เข้าถึงครู-นักเรียนทั่ว ปท. ผนึก "สพฐ." ปูพรม 4 พันโรงเรียน

"กูเกิล" เข้าถึงครู-นักเรียนทั่ว ปท. ผนึก "สพฐ." ปูพรม 4 พันโรงเรียน

"กูเกิล" เข้าถึงครู-นักเรียนทั่ว ปท. ผนึก "สพฐ." ปูพรม 4 พันโรงเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หลังจากโครงการแท็บเลตสำหรับนักเรียนต้องยุติลงไป ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรต้องรอรัฐบาลใหม่ จะปรับไปเป็นระบบห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ "สมาร์ทคลาสรูม" หรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจน

"พรทิพย์ กองชุน" หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย มองว่า สมาร์ทคลาสรูมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เพราะช่วยให้นักเรียนและผู้สอนเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ง่ายขึ้น ทำให้การเรียนหนังสือเป็นเรื่องสนุก แต่การมีสมาร์ทคลาสรูมที่ดีจำเป็นต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ, คลาวด์คอมพิวติ้งที่เป็นแบบเปิดหรือส่วนตัวก็ได้ และแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับคลาวด์ พร้อมทำงานในอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, แท็บเลต หรือสมาร์ทโฟน

สำหรับ "กูเกิล" มีบริการ Google for Education หรือกูเกิลเพื่อการศึกษา ตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการนำบริการต่าง ๆ ที่ให้ภาคธุรกิจเสียค่าใช้จ่ายในการใช้งาน (50 ดอลลาส์สหรัฐ/ไอดี/ปี) มาเปิดให้บริการฟรีสำหรับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีการใช้งานกว่า 30 ล้านไอดี จาก 130 ประเทศทั่วโลก ก่อนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2555 มีผู้ใช้งานราว 1 ล้านไอดี จากสถาบันการศึกษา 500 แห่งทั่วประเทศ บริการเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยจีเมล์ สำหรับใช้งานอีเมล์, กูเกิลไดรฟ์สำหรับฝากไฟล์งาน, กูเกิลปฏิทินสำหรับเช็กตารางเรียน, กูเกิลไซต์ สำหรับจัดการเว็บไซต์โรงเรียน และกูเกิล แฮงเอาต์ สำหรับพูดคุยระหว่างกูเกิลไอดีด้วยกัน

บริการทั้งหมดนี้คล้ายกับที่ให้บุคคลทั่วไปใช้งาน แต่พิเศษกว่าคือสามารถปิด-เปิดให้แสดงโฆษณา, ตัวอีเมล์จะมีโดเมนของโรงเรียนแทน @gmail.com ต่อท้าย และมีเส้นทางเชื่อมต่อเข้าระบบที่เร็วกว่าการใช้งานปกติ นอกจากนักเรียนและครูที่ใช้งานได้ ระบบยังเปิดให้ผู้ปกครองเข้ามาลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบการเรียนการสอนได้เช่นกัน และเพื่อให้บริการต่าง ๆ ปรับเข้ากับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้ดีขึ้น

"กูเกิล" จึงเปิด API หรือโค้ดคำสั่งของระบบดังกล่าวให้แต่ละสถาบันนำไปปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นำไปใช้กับกระดานอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกูเกิลไดรฟ์ เพื่อแสดงไฟล์พรีเซนเตชั่น พร้อมเขียนข้อมูลลงบนกระดานได้ทันที แต่กว่าสถาบันการศึกษาจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กูเกิลได้เข้าไปฝึกอบรมผู้สอนกว่า 6 หมื่นชั่วโมง เพราะบางส่วนของผู้ใช้งานกลุ่มนี้ยังไม่สามารถประยุกต์เทคโนโลยีที่มีในมือได้ แม้จะใช้งานเป็นประจำก็ตาม

"จริง ๆ บริการของเราก็มีลักษณะคล้ายกับที่นักเรียน และผู้สอนใช้งานเป็นประจำ เช่น เวิร์ดโปรเซสเซอร์, สเปรดชีต และตัวสร้างพรีเซนเตชั่น แค่เราเอาทุกอย่างไปไว้บนคลาวด์ และมีระบบให้ผู้ใช้หลาย ๆ ไอดีเข้ามาแก้ไขงานร่วมกันได้ ดังนั้นอยู่ที่ผู้สอนจะประยุกต์ไปในทางไหน เช่น บางโรงเรียนนำสเปรดชีตมาให้นักเรียนกรอกข้อมูลพื้นฐานลงไป หรือนำเวิร์ดโปรเซสเซอร์มาสร้างแบบทดสอบความเข้าใจระหว่างเรียน ทั้งหมดนี้ผู้สอนสามารถเช็กความถูกต้อง และเก็บสถิติคะแนนไว้ได้ทันที ที่สำคัญยังช่วยประหยัดกระดาษได้"

จุดเด่นของระบบคลาวด์ทำให้การทำงานหรือการสอน ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะนักเรียนทุกคนเข้าถึงข้อมูลจากบ้านได้ และส่งงานให้ผู้สอนได้ทันที หรือถ้าไม่เข้าใจก็สามารถพูดคุยกับผู้สอนได้โดยตรง

เป้าหมายในปีนี้ของ "กูเกิลเพื่อการศึกษา" คือเพิ่มสถาบันการศึกษาให้ใช้งานอีก 4 พันแห่งทั่วประเทศ กำหนดกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนมัธยม โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อกรองโรงเรียนที่มีระบบไอทีพร้อมระดับหนึ่ง เช่น มีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ได้ เป็นต้น

โดย "กูเกิล" จะเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนเหล่านี้อีกแรง เช่น ช่วยอัพเกรดระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความเร็วเพียงพอกับโรงเรียน และมอบโน้ตบุ๊ก รวมถึง "โครมบุ๊ก" (โน้ตบุ๊กของกูเกิล) ที่ทำงานบนคลาวด์เต็มรูปแบบมาให้ใช้งาน เป็นการช่วยกันลงทุนระหว่างโรงเรียนกับกูเกิล


"เรามีฝ่ายธุรกิจเกี่ยวกับการช่วยเหลือเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะ เม็ดเงินลงทุนระบบอินเทอร์เน็ตมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ เป็นการพูดคุยกับโรงเรียนว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง ซึ่งบริการต่าง ๆ ยืนยันว่าไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ"

ด้าน "เสาวนีย์ จำเริญวงศ์" อาจารย์โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา 1 ในโรงเรียนที่ใช้งานกูเกิลเพื่อการศึกษา เล่าว่า บริการต่าง ๆ ที่กูเกิลให้ ทางโรงเรียนจะนำไปใช้ในวิชาหลักก่อน เช่น คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ โดยนำไปประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ เช่น ให้นักเรียนออกแบบโจทย์คณิตศาสตร์ร่วมกันผ่านกูเกิลกรุ๊ป ซึ่งการใช้บริการใหม่เหล่านี้ทำให้การเรียนการสอนสนุกขึ้นสำหรับเด็กนักเรียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook