สิทธินันท์ กันมล หนุ่มคลั่งไคล้เรื่องเก่า แอดมินเพจ "คลังประวัติศาสตร์ไทย"

สิทธินันท์ กันมล หนุ่มคลั่งไคล้เรื่องเก่า แอดมินเพจ "คลังประวัติศาสตร์ไทย"

สิทธินันท์ กันมล หนุ่มคลั่งไคล้เรื่องเก่า แอดมินเพจ "คลังประวัติศาสตร์ไทย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"ผมคิดว่าทุกที่ที่เรายืนอยู่หรือสถานที่ที่เราเคยไปนั้น มันมีความเป็นมาทั้งนั้น เช่น เป็นอะไรมาก่อน ใครเป็นเจ้าของ สำคัญอย่างไร นี่แหละคือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ผมสนใจและนำมาสู่ความชอบในที่สุด"

มุมมองหนุ่มวัย 24 ปี สิทธินันท์ กันมล หรือเนท ผู้ก่อตั้งเพจ "คลังประวัติศาสตร์ไทย" ทางเฟซบุ๊ก เพจประเภทการศึกษาที่มียอดไลค์แล้ว 1.6 แสนกว่าคน แม้เขาจะศึกษาจบระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร จากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจในประวัติศาสตร์น้อยลงเลย

"จุดเริ่มต้นมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผมอาศัย ค่อนข้างจะโบราณพอสมควร เลยทำให้ผมอยากรู้อยากเห็นและอยากทราบเหตุผลของเรื่องเหล่านั้น จนวันหนึ่งในระหว่างนั่งเรียนวิชาสถิติและการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ตอนนั้นผมแอบเหม่อลอยคิดแต่เรื่องประวัติศาสตร์ไทย (หัวเราะ) จึงตัดสินใจเปิดโน้ตบุ๊กและสมัครเพจเฟซบุ๊กในตอนนั้นเลย โดยใช้ชื่อว่า "คลังประวัติศาสตร์ไทย" สิทธินันท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพจนี้

สิทธินันท์ยอมรับว่า ผลตอบรับเพจฯ ช่วงเริ่มแรกถือว่าเงียบพอสมควร อาจเพราะเขายังไม่มีประสบการณ์ในการเขียนบทความประวัติศาสตร์ แต่ด้วยทักษะการเขียนที่มีอยู่แล้ว จากการเขียนนิยายวัยรุ่นในเว็บไซต์ จึงเรียนรู้ที่จะเรียบเรียงภาษา เพื่อให้สมาชิกเพจเข้าใจเนื้อหาง่ายและสนุกเวลาที่อ่านได้ไม่ยาก

"ผมจะเลือกประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในตำรา ประวัติศาสตร์ที่คนไม่รู้ มองเห็นแต่เดินผ่าน มาทำให้น่าสนใจ เช่น สร้างเมื่อไหร่ ใช้อะไร มีประวัติอะไรบ้าง เป็นการสร้างจุดเด่นเพื่อเปลี่ยนความเฉยเป็นความสนใจ ขณะที่การเขียนบทความสักเรื่องหนึ่งจะใช้ตำรามากกว่าหนึ่งเล่ม เมื่อรวมเวลาในการเขียน เรียบเรียง และตรวจคำผิดถูกแล้ว ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน โดยประมาณ"

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ขวา) ทรงสร้าง สะพานชมัยมรุเชฐ เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระเชษฐา (พี่ชาย) ทั้ง 2

ข้อมูลต่างๆ มาจากการที่สิทธินันท์ชอบท่องเที่ยวและถ่ายภาพตามอุทยานประวัติศาสตร์ รวมถึงการอ่านตำราประวัติศาสตร์จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา ตลอดจนหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และยังได้รับอนุเคราะห์ตำราประวัติศาสตร์จากห้องสมุดสำนักพระราชวัง ศาลาลูกขุนใน

"การทำอย่างนี้มีบางคนถามผมว่าจะเหนื่อยและทำไปทำไม ไม่เห็นได้อะไร ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ไม่ได้ทำเพราะผมอยากได้ แต่ที่ทำเพราะอยากให้"

เรื่องราวประวัติศาสตร์ในเพจนี้มีหลากหลาย มีทั้งเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ วัด วัง สถานที่ต่างๆ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น้อยคนนักจะรู้ แต่ทั้งหมดคือ "เสน่ห์" ที่ชวนติดตามยิ่ง

ประวัติศาสตร์ที่สิทธินันท์ชอบมากที่สุด เขายกให้ "ประวัติศาสตร์ราชสำนัก" เพราะเป็นเรื่อง "ใกล้ตาแต่ไกลตัว"

"เราเห็นเรื่องราชสำนักบ่อยๆ จากข่าวในพระราชสำนักทางโทรทัศน์ เห็นภาพข่าวสังคมชั้นสูงบ่อยๆ จากหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไกลที่จะหาโอกาสเข้าสัมผัส จึงชอบเขียนบทความประเภทนี้"

ท่าโพสต์สุดฮิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน

บทความที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ เรื่อง "10 จอมนางแห่งราชสำนักไทย" อาทิ ท่านผู้หญิงนาค ปฐมฤกษ์จอมนางแห่งราชสำนักไทย, กุณฑลทิพยวดี มเหสีที่ถูกลืม, หญิงน้อย ราชนารีแห่งยุคประชาธิปไตย, คุณหญิงสดับ ผู้มั่นคงในความรักจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น

"ผมดึงสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตของแต่ละจอมนางมาเขียนในเชิงเล่าเรื่อง ถึงชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต อุปสรรคในการดำรงชีวิตในสมัยนั้นเป็นอย่างไร จุดจบเป็นอย่างไร อีกทั้งในแต่ละตอนจะแฝงไปด้วยคติเตือนใจ เพื่อให้สมาชิกเพจนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย"

นอกจากนั้น เป็นเรื่องราชประเพณีต่างๆ ในราชสำนักไทย และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีต เช่น การถ่ายทุกข์ของสาวชาววัง, กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยห้ามโลหิตสามัญชนตกในวังหลวง, ธรรมเนียมทหารล้อมวัง เป็นต้น

สำหรับอนาคตเพจฯ เขาว่าจะทำต่อไปจนถึงจุดที่ตนเองคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องส่งมอบให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจในประวัติศาสตร์ เพื่อสมาชิกจะได้เห็นความหลากหลายในการเขียนมากขึ้น

"แต่เด็กและเยาวชนยังมองวิชาประวัติศาสตร์ว่าเป็นการการศึกษาเรื่องโบราณ สถานที่เก่าแก่ หรือบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้น่าสนใจและจับต้องไม่ได้" สิทธินันท์แสดงความเป็นห่วง

"ดังนั้น การจะทำให้ให้เยาวชนสนใจในประวัติศาสตร์มากขึ้นคือ ต้องทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์กับปัจจุบันเดินไปพร้อมๆ กัน หรือนำบทเรียนในอดีตกลับมาสอนคนในปัจจุบัน ส่วนตำราเรียน อยากให้เพิ่มเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในแต่ละยุคเข้าไป มีภาพประกอบให้มากขึ้นเพื่อความน่าสนใจ และสอดแทรกการไปเรียนในสถานที่จริงที่มีการอธิบาย"

อย่างกลวิธีการนำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ของสิทธินันท์ก็นำเรื่องราวมา "ผูกโยงกับปัจจุบัน" เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการพูดถึง "สะพานชมัยมรุเชฐ" กันมาก เขาก็ไปหาประวัติของสะพานแห่งนี้มา จนได้ความว่าเป็นสะพานที่สร้างให้พี่ชายผู้ล่วงลับทั้งสอง" สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงสร้างเพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระเชษฐา (พี่ชาย) ทั้ง 2 ที่พระองค์ทรงรักและผูกพันคือ สมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย เมื่อปี 2444 สมัยรัชกาลที่ 5

หรือเรื่อง "ท่าโพสต์สุดฮิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน" ความนิยมในการถ่ายภาพสมัยก่อน จะมีคำที่ใช้เรียกกันติดปากว่า "เล่นกล้อง" ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกถ่ายรูปจะเรียกว่า "ถูกฉาย" นอกจากการโพสต์ท่าแล้ว ก็จะมีการเล่นหน้าเล่นหน้าเล่นตาเหมือนกันกับสมัยนี้ แล้วยังพบว่าในอดีตก็นิยมการถ่ายภาพจากด้านข้างไม่มองกล้องและถ่ายจากด้านหลัง

"ประวัติศาสตร์นอกตำราเรียนเป็นสิ่งที่คนไทยไม่รู้ และมีเรื่องราวมากมาย ประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้หยุดนิ่ง มันยังมีอะไรให้เราค้นหาไปอีกมากอย่างไม่สิ้นสุด ไม่มีในตำรา นี่แหละที่จะทำให้เยาวชนสนใจในประวัติศาสตร์มากขึ้น" เจ้าของเพจซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องเก่าทิ้งท้าย


ที่มา นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook