ยกเลิกไปเลยดีไหม? ประเพณีการรับน้อง

ยกเลิกไปเลยดีไหม? ประเพณีการรับน้อง

ยกเลิกไปเลยดีไหม? ประเพณีการรับน้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงแม้ว่าแต่ละสถาบันจะมีมาตรการป้องกันการรับน้องที่เกินกว่าเหตุ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่วายมีเหตุการณ์ให้ต้องเป็นข่าวได้อยู่ทุกปี โดยปีนี้เหตุการณ์รับน้องที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีมากมายหลายเหตุการณ์ มีทั้งกรณีรุ่นพี่วิทยาลัยเทคนิครับน้องโหดจับหัวรุ่นน้องมุดทราย เทเหล้ากรอกปาก จนรุ่นน้องถึงกับเสียชีวิต รับน้องโดยให้รุ่นน้องกินฟักทองบดบนแปรงขัดส้วม ล่าสุดก็กรณีรุ่นพี่ใช้น้ำตาเทียนหยดใส่รุ่นน้องจนเป็นแผลพุพอง

เมื่อปัญหาเหล่านี้แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้สักที จะยกเลิกประเพณีอันดีงานเหล่านี้ไปเลยดีไหม? หรือเห็นสมควรจะคงไว้ แต่ถ้าจะคงไว้เราควรจะมีมาตรการแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?

ด้านแฟนเพจ ANTI SOTUS ก็ได้เปิด Campaign รณรงค์ "ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการรับน้องรุนแรงต้องถูกดำเนินคดีและถูกบันทึกทะเบียนอาชญากรรม" เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาฯ ต่อผู้กระทำความผิดในกิจกรรมรับน้องที่รุนแรงหรือไม่เหมาะสม และบันทึกทะเบียนอาชญากรรมสำหรับกรณีที่เกิดความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย หรือการกระทำอื่นใดที่เข้าข่ายอาชญากรรม เพื่อเป็นบทลงโทษที่ชัดเจน และสามารถยับยั้งให้นักศึกษารุ่นพี่ ยั้งคิดถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน การป้องปราม มิให้การรับน้องรุนแรงคงอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไป


ขณะที่เหล่าดาราขวัญใจวันรุ่นหลายคนก็ให้ความคิดเห็นในประเด็นการรับน้องไว้อย่างหน้าสนใจดังนี้

ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร หรือ ไผ่ Hormones ศึกษาอยู่ชั้นปีที่3 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องรับน้องโหด ผมมองว่าเป็นประเพณีที่แต่ละที่จะต่างกัน ผมคงไม่พูดหรือก้าวก่ายใครว่าทำไม่ถูกต้อง มันขึ้นอยู่กับความคึกคะนองของแต่ละบุคคล หรือในแต่ละเหตุการณ์ อย่างคณะผมจะเป็นคณะที่วิชาการหนักมาก การรับน้องก็จะเบาๆ มีพี่ระเบียบ เราก็จะรู้สึกว่ารุ่นพี่เราไม่รุนแรง อย่างตอนที่ผมเป็นรุ่นพี่ ผมจะพูดกับน้องดีๆ นั่งลงคุยกับน้องได้ เราจะไม่ลืมตัวว่าตอนที่ตัวเองอยู่ปี 1 เป็นยังไง เราก็เคยทำ ถึงตอนนี้น้องทำผิดระเบียบบ้างเราก็จะเข้าใจและอธิบายว่าโตๆ กันแล้ว

ส่วนตัวผมใช้ความเป็นตัวเองเข้าหาเพื่อให้คนยอมรับแบบที่เราเป็น อย่างการไหว้รุ่นพี่ผมก็ไม่เคยบังคับรุ่นน้อง มันขึ้นอยู่กับว่ารุ่นพี่ทำตัวน่าเคารพแค่ไหน บางทีน้องก็ไหว้เองโดยไม่ต้องบอก เราก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับกัน อย่างผมเคยเห็นมหาลัยอื่นว๊ากน้องรุนแรงหน่อย แบบใช้เสียงดุๆ ทำท่าดุ รุ่นพี่มากันหมดแล้วก็ต้อนเด็กเข้าหอ แต่พอเด็กเข้าไปหมด พวกพี่ก็กลับเป็นคนเฮฮาคนเดิม ไม่ต้องทำร้ายกันอยากให้อยู่แบบไม่มีอคติ ถ้ารุ่นน้องไม่ยอมก็ไม่ควรบังคับเค้า ไม่ควรให้เค้าต้องมาเปลี่ยนตัวเองให้ยอมรับ ทั้งหมดก็เพราะอยากให้น้องรักเพื่อน รักสถาบัน

วี วิโอเลต วอเทียร์ จาก The Voice Thailand Season 2 ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า วีว่าการรับน้องจะมีต่อไปก็ได้หรือไม่มีก็ได้ เพราะมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าไม่มีแล้วจะมีวิธีอื่นที่ทำให้น้องรักกันได้ไหม รับน้องวีมองว่าเป็นฟีลการลิ้มรสประเพณีของมหาลัย แต่ต้องอยู่ในขอบเขต พอรับน้องจบไปเราก็รู้สึกดีของมหาลัย วีจะมีรับน้อง 2 แบบ แบบสนุกก็จะเฮฮาปาร์ตี้ แบบโหดก็เข้าห้องเชียร์และมีพี่ว๊าก น้องก็มานั่ง รุ่นพี่ก็จะใช้คำพูดแบบจิตวิทยากดดันน้อง แต่จะไม่ใช้คำหยาบเลย ประเด็นคืออยากให้รุ่นน้องรักกัน รักพี่ พี่ว๊ากก็ทำตัวเป็นศัตรูกับรุ่นน้อง เพื่อทำให้เค้ารู้สึกร่วมกัน และร่วมมือกัน วีว่าการรับน้องเป็นวิจารณญาณของรุ่นพี่ พี่บางคนเล่นไม่รู้เรื่อง การไม่โดนตัวน้องดีที่สุด และไม่ควรบังคับแม้แต่เรื่องเหล้า เพราะมันคือสิทธิส่วนบุคคล น้องมีสิทธิเลือก

นักร้องขวัญใจเด็กแนว แอมมี่ The Bottom Blues จบการศึกษาจากจากคณะ BBA มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มองเรื่องนี้ว่า ผมว่ามันเป็นธรรมเนียมดีๆ ที่ควรจะมีต่อไป แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตด้วย การรับน้องมันมีประโยชน์มาก เป็นการผูกสัมพันธ์ การดูแลกัน ได้ทำความรู้จักกัน ที่ผมเคยผ่านมาจะมีโดนให้เล่นเกมสนุกๆ เข้าฐาน เล่นกันแบบเอาฮา สุดท้ายมีการบายศรี มันทำให้ซึ้ง

น้องมันแกว เน็ตไอดอลคนดัง ก็โพสต์ข้อความในเฟสบุกส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ปัญหารุ่นพี่ทำรุนแรงกับรุ่นน้องแกวว่าสาเหตุมาจากค่านิยมการเคารพรุ่นพี่จนเกินไปค่ะ ถ้าปลูกฝังว่าคนมาเรียนมีสถานะเท่าเทียมกัน รุ่นพี่ไม่มีความวิเศษใดๆ คือนักศึกษาเช่นเดียวกัน ไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องฟัง รุ่นพี่พวกนั้นจะได้ไม่หลงตัวเองว่าเหนือกว่า แล้วมาบังคับรุ่นน้อง และในส่วนรุ่นน้องหากรู้สึกว่ารุ่นพี่ก็เพียงแค่นักศึกษาที่เรียนมาก่อน การยอมให้โดนทำร้ายหรือกลัวรุ่นพี่ก็จะหมดไปค่ะ ..ความคิดเห็นส่วนตัวแกวนะคะ

ถึงแม้ว่าจะมีข่าวด้านลบเกี่ยวกับการรับน้องอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่รับน้องอย่างสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึกที่ดีแต่ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ยังไงถ้าจะรับน้องในปีต่อไป อยากให้รับน้องกันแบบสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้มงวดกวดขัน หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอดส่องดูแล เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะเบาบางลง และประเทศไทยก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งประเพณีรับน้องใหม่(แบบสร้างสรรค์) สืบไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook