คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Boycott

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Boycott

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Boycott
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คำนี้ท่านได้แต่ใดมา
ผู้เขียน สุกิจ กิตติบุญญานนท์ (I Get English Magazine)

Boycott


หากชื่อของใครหรือนามสกุลของใคร ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนน ชื่ออาคาร หรือชื่อพิพิธภัณฑ์ ลูกหลานของตระกูลนั้นจะต้องเกิดความภาคภูมิใจในตัวบรรพบุรุษของเขาเป็นแน่แท้ เพราะบุคคลที่ว่านั้นคงได้สร้างคุณงามความดีไว้มากมายให้กับสังคมหรือประเทศชาติ แต่เรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้นกับลูกหลานของกัปตัน Charles Cunningham Boycott อย่างแน่นอน เพราะว่านามสกุลของกัปตัน Charles ซึ่งก็คือ "Boycott" นั้นถูกนำไปใช้ในความหมายเชิงลบ และยิ่งไปกว่านั้น คำว่า Boycott นี้ยังนำไปใช้ในหลายๆ ประเทศ ชนิดที่เรียกว่าใช้คำทับศัพท์แล้วยังเข้าใจได้ง่ายกว่าการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นเสียอีก


Boycott ซึ่งมีความหมายว่าการคว่ำ บาตรหรือการต่อต้านนั้น มีใช้ทั้งในภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซียรวมถึงอีกหลายภาษาในเอเชียด้วยครับ


ในอดีตที่ดินส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์มักมีเจ้าของเป็นเหล่าขุนนางจากอังกฤษ เช่นเดียวกับที่ดินในบริเวณ Lough Mask House, County Mayo ในประเทศไอร์แลนด์ ที่ขุนนางอังกฤษได้ว่าจ้างกัปตัน Charles Cunningham Boycott (ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่าง ค.ศ.1823 ถึง ค.ศ.1897) ให้เข้าดูแลและบริหารจัดการที่ดินในบริเวณดังกล่าว


หน้าที่ของกัปตัน Charles หลักๆ คงหนีไม่พ้นการเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินจากชาวนาในไอร์แลนด์ที่เขาดูแลอยู่ และหากชาวนาคนใดยากจนมากจนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินได้ หน้าที่ของกัปตันCharles ก็คือการขับไล่ชาวนาเหล่านั้นออกไปจากที่ดิน แต่ก็ใช่ว่าชาวนาทุกคนจะไม่ยินดีจ่ายค่าเช่าให้แก่กัปตัน Charles แต่จุดเดือดมาระเบิดขึ้น เมื่อชาวนาขอต่อรองให้กัปตัน Charles ช่วยผ่อนผันลดค่าเช่าให้ในช่วงเวลาที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ทำให้ผลผลิตไม่มากพอที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวนา แต่กัปตัน Charles ก็ยังนั่งยันนอนยันว่าจะไม่ผ่อนผันให้


เมื่อการร้องขอของชาวนาไม่ได้รับความสนใจจากกัปตัน Charles การโต้ตอบจึงเกิดขึ้นจากทางฝั่งชาวนานำโดย Charles Stewart Parnell ได้รวมตัวกับชาวนารายอื่นก่อตั้งสันนิบาตที่ดินแห่งชาติ (National Land League) ขึ้น โดยได้ออกคำสั่งไปยังชาวนาทุกคนในบริเวณดังกล่าวและใกล้เคียงว่า หากใครก็ตามที่ยังยอมทำงานบนที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่เคยขับไล่ชาวนาคนเดิมออกไปหรือบนที่ดินที่เจ้าของที่ดินปฏิเสธที่จะลดค่าเช่าให้บุคคลคนนั้นจะถูกตัดขาดจากการคบค้าสมาคมและจะโดนทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อน


จากมาตรการขั้นเด็ดขาดของฝั่งชาวนานี้เองเมื่อกัปตัน Charles ยังคงยืนกรานไม่ลดค่าเช่าที่ดินและยังคงยืนยันที่จะขับไล่ชาวนาออกไปจากที่ดินที่กัปตัน Charles ดูแลอยู่ ทำให้ชาวนาต่างลุกฮือทำลายข้าวของ รื้อรั้ว และปล่อยวัวควายเข้าไปวิ่งป่วนบนที่ดินของกัปตัน Charles


การต่อต้านกัปตัน Charles ไม่ได้จำกัดแค่การตอบโต้ของชาวนาที่โดนไล่ที่เท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปยังทุกหนทุกแห่งที่กัปตัน Charles เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบายใจบนแผ่นดินไอร์แลนด์ เพราะถูกปฏิเสธจากร้านค้าต่างๆ ชนิดที่เรียกว่าจะซื้อขายอะไรก็ไม่ได้จดหมายที่เขาจะส่งก็ไปไม่ถึงปลายทางเพราะไม่มีผู้ใดบริการนำส่งให้ ตามถนนหนทางมีผู้คนออกมาเยาะเย้ยถากถางพร้อมกับทำหุ่นเสมือนกัปตัน Charles แขวนคอเพื่อเป็นการข่มขวัญ


การคว่ำบาตรกัปตัน Charles ดังกล่าวได้ผลเกินคาด เพราะหลังจากนั้นไม่เกิน 2 เดือนนามสกุลของ Charles Cunninghan Boycottก็กลายไปเป็นศัพท์ใหม่ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีความหมายถึง "การคว่ำบาตร" และมีการใช้มาแล้วร่วมร้อยปีจนถึงปัจจุบันปัจจุบัน เราอาจจะคุ้นเคยเห็นการ Boycottทางด้านการค้าหรือทางด้านการเมืองซะเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้แต่วงการกีฬาระดับโลกการ Boycott ก็ยังมีให้เห็นกันด้วยครับเมื่อ ค.ศ.1980 กรุงมอสโคของอดีตสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย) ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก สหรัฐอเมริกาได้เป็นแกนนำร่วมกับชาติอื่น เช่น ญี่ปุ่น เยอรมันตะวันตกสวิตเซอร์แลนด์ ในการ Boycott ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อตอบโต้การที่สหภาพโซเวียตส่งทหารเข้าบุกอัฟกานิสถาน

4 ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1984 เมื่อนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกบ้าง สหภาพโซเวียตจึงเป็นแกนนำ Boycott ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อเป็นการแก้แค้น
ปัจจุบัน หากใครได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวประเทศในแถบยุโรปอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ อาจพบชาวอังกฤษที่ยังคงใช้นามสกุล Boycott อยู่บ้าง ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดครับ แค่เราอย่าเผลอไป Boycott เลิกคุยกับเขาก็แล้วกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook