วิศวฯม.สารคาม เจ๋ง ผลิต Bio-oil ประเดิมเติมอีแต๋น เตรียมตั้ง รง.ผลิตเชิงพาณิชย์ ลดนำเข้าน้ำมันดิบ

วิศวฯม.สารคาม เจ๋ง ผลิต Bio-oil ประเดิมเติมอีแต๋น เตรียมตั้ง รง.ผลิตเชิงพาณิชย์ ลดนำเข้าน้ำมันดิบ

วิศวฯม.สารคาม เจ๋ง ผลิต Bio-oil ประเดิมเติมอีแต๋น เตรียมตั้ง รง.ผลิตเชิงพาณิชย์ ลดนำเข้าน้ำมันดิบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผศ.ดร.อดิศักดิ์ ปัตติยะ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยพลังงานชีวภาพและทรัพยากรหมุนเวียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า สำหรับงานวิจัยเรื่องการผลิตไบโอออยล์ จากของเหลือใช้จากการเกษตรมีความสำคัญอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีของเหลือทิ้งจากการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านพลังงานอย่างจริงจัง จากความจำเป็นและความสำคัญดังกล่าวจึงได้ทำการวิจัยเรื่องนี้ขึ้น โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หมุนเวียนได้คือ ชีวมวล

สำหรับ "Bio-oil" มีวัตถุดิบหลักที่ใช้เป็นชีวมวล เช่น ใบอ้อย ยอดอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ลำต้นมันสำปะหลัง หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรชนิดไหนก็ได้ วิธีการ คือ หากมีความชื้นมากจะต้องอบให้แห้ง ให้มีความชื้นต่ำกว่า 10% หลังจากนั้น นำชีวมวล มาผ่านกระบวนการที่เรียกว่าฟาสไพโรไรซีส (Fast pyrolysis) หรือไพโรไรซีสแบบเร็ว ซึ่งเป็นกระบวนการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่ไม่มีอากาศ หรือไม่มีออกซิเจน เมื่อชีวมวลเข้าไปสู่บริเวณที่มีอุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส เกิดการสลายตัวทางความร้อนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นควัน สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ ถ่านชาร์ ควัน พร้อมถ่านชาร์ถูกพาออกบริเวณโซนร้อนอย่างรวดเร็ว ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่าไซโคลนเพื่อแยกถ่านชาร์ออก เสร็จแล้วเฉพาะควันผ่านไปยังชุดควบแน่น โดยชุดควบแน่นใช้ 2 ตัวร่วมกัน คือชุดควบแน่นด้วยน้ำ กับใช้ระบบดักจับด้วยไฟฟ้าสถิต สองตัวนี้ทำให้ควันรวมตัวกลายเป็นของเหลวที่เรียกว่าไบโอออยล์ (Bio-oil)

"ไบโอออยล์ส่วนหนึ่งนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลประมาณ 10% เพื่อทดสอบวิ่งในรถยนต์ เราได้ทดสอบกับรถอีแต๋น สามารถใช้งานได้ ในสัดส่วน 10% อีกทั้งยังไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในเครื่องกังหันแก๊ส เครื่องยนต์ดีเซล และหม้อไอน้ำได้ และต่อจากนี้จะต่อยอดคุณภาพภายในกระบวนการเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ซึ่งในระดับงานวิจัยสามารถทำได้แล้ว เป็นน้ำมันสีเหลือใส ซึ่งได้ทดสอบทางเคมีพบว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน เรียกว่า น้ำมันไบโอแก๊สโซลีน (Biogasoline) และต่อไปจะนำไปทดสอบในเครื่องยนต์เบนซิน เช่น ในรถยนต์หรือจักรยานยนต์" ผศ.ดร.อดิศักดิ์กล่าว

ผศ.ดร.อดิศักดิ์กล่าวว่า ในอนาคตมีโครงการที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อผลิตน้ำมันให้มีปริมาณมากขึ้นในเชิงพาณิชย์เพื่อส่งขายตลาด โดยน้ำมันที่ผลิตได้ขณะนี้จะมี 2 เกรด เกรดปกติทั่วไปจากกระบวนการ Fast Pyrolysis คือ เกรดเทียบเท่าน้ำมันเตา สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง ราคาขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ ประมาณ 10-20 บาท/ลิตร แต่ถ้าเป็นเกรดน้ำมันเบนซิน ราคา อยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ขึ้นไป

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เกรดทดแทนน้ำมันเตา มีกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาอยู่แล้ว เช่น ใน Boiler ส่วนเกรดน้ำมันเทียบเท่าเบนซิน กลุ่มเป้าหมายคือ บริษัทน้ำมัน หรือโรงกลั่นซึ่งควรเป็นผู้นำไปใช้ผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้อยู่เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถทั่วไป จะทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบประหยัดเงินตราของชาติปีละหลายล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook