นาฏศิลป์ไทย ลมหายใจที่เข้าออก ของเก๋ - อทิตา แซะจอหอ

นาฏศิลป์ไทย ลมหายใจที่เข้าออก ของเก๋ - อทิตา แซะจอหอ

นาฏศิลป์ไทย ลมหายใจที่เข้าออก ของเก๋ - อทิตา แซะจอหอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หญิงสาวที่ขยันและมุ่งมั่นหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ด้วยวิชาความรู้นาฏศิลป์ไทย เก๋ - อทิตา แซะจอหอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

เก๋ เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอให้ฟังว่า "ก่อนนี้ ครอบครัวของหนู มีฐานะปานกลาง พ่อกับแม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงงานกลึงโลหะ แต่ด้วยช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจย่ำแย่และมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ จึงนำพาให้สถานภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม"

เมื่อเรียนจบจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เก๋ จึงจากครอบครัวและพี่น้องอีก 4 คน มาตามความฝันของตนเอง โดยขึ้นมาเรียนต่อทางด้านนาฏศิลป์ไทยที่ มทร.ธัญบุรี ด้วยเงินก้อนสุดท้ายที่พ่อแม่ตั้งใจมอบให้
"ชีวิตหนูเริ่มต้นด้วย ต้นทุนชีวิตที่ต่ำมาก หากเทียบกับเพื่อนคนอื่นๆ หนูคิดว่าการตัดสินใจขึ้นมาเรียนต่อที่นี่ จะสร้างโอกาสให้แก่ตัวหนูและครอบครัว ภาพที่พ่อกับแม่บรรจงนับเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขึ้นมาเรียนยังติดตาอยู่เสมอ หนูพูดและสัญญากับท่านว่าจะมุ่งมั่นที่จะเรียนและทำงานไปพร้อมๆ กัน"

และเหมือนชีวิตเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อเรื่องราวชีวิตของเก๋ ถูกขยายวงกว้างขึ้น ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคนรอบข้างมากขึ้นด้วย ทั้งจากอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อนๆ ร่วมสาขา
ด้วยวิชานาฏศิลป์ที่ได้สัมผัสจากตอนเด็กๆ ที่แม่พาไปดู เช่น ลิเก หนังตะลุง หรือการแสดง การร่ายรำตามงานต่าง ๆ รวมถึงความรู้ที่สั่งสมมาจากวิทยาลัยฯ "ตอนอยู่ชั้นปีที่ 1 อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้ชักชวนให้ไปรำตามงานต่างๆ เช่น ในงานรื่นเริง งานแก้บน รวมถึงงานศพ ซึ่งรายได้ต่อการรำครั้งหนึ่งๆ รวมกับเงินรางวัลที่ผู้ชมมอบให้ก็สามารถประคับประคองชีวิตต่อไปได้"

เพราะความชอบและหลงใหลในนาฏศิลป์ เก๋ จะให้ความสำคัญกับการเรียนเสมอ จะเข้าเรียนทุกครั้งที่มีเรียน เพื่อฝึกปฏิบัติการร่ายรำต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แสดงในงานต่างๆ

"คุณค่าและความงามของนาฏศิลป์ คือ เอกลักษณ์ไทย ศิลปะไทย ที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีความงาม ความอ่อนช้อย มีสีสันจากเครื่องแต่งกาย และมีเครื่องดนตรีไทยประกอบการแสดง เวลาที่หนูได้แสดงหรือรำในทุก ๆ ครั้ง ก็มีความภาคภูมิใจ และมากไปกว่านั้นคือการที่หนูได้รับค่าตอบแทน ซึ่งส่วนหนึ่งที่ได้รับ หนูจะส่งให้กับที่บ้านตลอดทุกครั้ง"

นอกจากการรำแล้ว เก๋ ก็เริ่มเก็บขวดน้ำพลาสติกที่เหลือใช้ กระป๋องน้ำอัดลมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยกลับมาที่ห้องอยู่เสมอ จากสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับหลายคน ตอนนี้ขวดน้ำมีค่ากับหนูมาก เพราะขายแต่ละครั้งต่อสัปดาห์จะได้เงิน 300 - 400 บาท ซึ่งเดือนหนึ่งๆ อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าบาท ก็เพิ่มรายได้ส่วนหนึ่งไปในตัว ขณะไปเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่เบียดเบียนเวลาเรียนและเป็นงานที่สุจริต

"บางครั้งเพื่อนๆ เมื่อดื่มน้ำเสร็จแล้ว พวกเขาก็จะเก็บมาให้ หนูก็จะมีถุงสำหรับเก็บขวดน้ำติดตัวอยู่เสมอ อาจารย์หลายท่านก็รวบรวมมาให้ เช่น ท่านอาจารย์มาโนช บุญทองเล็ก หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ มทร.ธัญบุรี ท่านได้เมตตาหนูเสมอ ท่านจะเก็บขวดน้ำมาให้หนู บางทีท่านขนมาให้ไม่ไหว ก็อนุญาตให้ไปขนที่บ้าน"

สิ่งที่ทำให้เก๋ เป็นเก๋ จนถึงทุกวันนี้ คือแม่ "หนูเคยท้อกับชีวิตมากๆ ทำไมหนูต้องเหนื่อย ต้องขวนขวายหนักขนาดนี้ แต่พอได้ยินเสียงแม่โทรมา ขอบคุณนะลูกที่ส่งเงินมาให้ หนูจึงรู้ว่าสิ่งที่เราได้ทำนี้ เราทำไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร และคำพูดของแม่ที่ย้ำให้ฟังบ่อยๆ คือ อย่าท้อ ชีวิตคนมีขึ้นมีลง ยามขึ้นอย่าหลง ยามลงอย่าท้อ ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจดีๆ จากแม่ ที่ทำให้ผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ได้เสมอมา"

เส้นทางเดินชีวิตของเก๋ ที่กำลังก้าวเดินด้วยความมุ่งมั่น และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายนี้ และในฐานะของผู้ที่ฝ่าฟันกับความยากลำบากมาได้ เก๋ฝากแง่คิดสำหรับน้องๆ หรือคนที่กำลังท้อแท้ กำลังฝ่าฟันอุปสรรค หรือยังไม่ประสบความสำเร็จว่า

"ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญ ไม่ว่าเราเกิดในครอบครัวไหน จะยากดีมีจนเพียงใด สมาชิกในครอบครัวสำคัญที่สุด อะไรที่เราทำเพื่อครอบครัวได้ จงรีบลงมือทำ และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากฝาก คือ เรื่องการรู้จักแบ่งเวลา เพื่อเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ช่วยเหลือพ่อแม่ อยากขอบคุณโอกาสดีๆ ที่หลายคนมอบให้ ขอบคุณความเป็นนาฏศิลป์ไทยที่เปรียบเหมือนลมหายใจเข้าออก ที่หนูใช้หาเลี้ยงชีวิตและครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้"

(advertorial)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook