"กับดัก" รายได้ขั้นกลาง

"กับดัก" รายได้ขั้นกลาง

"กับดัก" รายได้ขั้นกลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Education Ideas
โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทุกคนในสังคมจะต้องเตรียมความพร้อม และปรับตัวยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้านให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งในวงการการศึกษาไทยสิ่งที่เห็นชัดเจนขณะนี้คือ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงวันเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ เพื่อต้อนรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี 2558

ซึ่งจะทำให้ปลายทางของว่าที่บัณฑิตเหล่านี้ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงตลาดแรงงานในประเทศไทยอีกต่อไปหากแต่คือตลาดแรงงานใน 10 ประเทศอาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน

ดังนั้น หากนิสิตนักศึกษาคนใดกำลังมองหาโอกาสทำงานในตลาดแรงงานอาเซียนแล้ว อาชีพที่อยู่ในความสนใจของทุกคนคงหนีไม่พ้นอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายการทำงานระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนได้อย่างเสรี

ตามการทำข้อตกลงในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่9 ที่มีการกำหนดให้จัดทำความตกลงยอมรับร่วม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement : MRA) ในคุณสมบัตินักวิชาชีพอาเซียน ประกอบด้วย
1.สาขาวิศวกรรม
2.สาขานักสำรวจ
3.สาขาสถาปัตยกรรม
4.สาขาแพทย์
5.สาขาทันตแพทย์
6.สาขาพยาบาล
7.สาขานักบัญชี
คำถามที่สำคัญคือเด็กและเยาวชนไทยมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการเลือกเรียนสาขาที่ต้องการและสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด? และมีทักษะใดบ้างที่จำเป็นสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ?

ลองมาฟังเสียงตัวแทนเยาวชนไทยที่อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่อุดมศึกษาว่ามีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการเลือกเรียนอย่างไร

"พชรพรรษ์ ประจวบลาภ" (น้องอัพ) ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯ กำลังศึกษาอยู่ ปวช.ปี 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า...ผมพยายามศึกษาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และเลือกที่จะเรียนสายอาชีวะ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองถนัด รวมไปถึงการเรียนสายอาชีวะจะช่วยฝึกประสบการณ์ก่อนเข้าสู่อุดมศึกษา

"เมื่อก้าวเข้าสู่อาเซียนแล้ว ตลาดแรงงานจะต้องการสาขาอาชีพนี้ค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันบริษัทออกแบบของเอกชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติจาก LinkedIn เว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่เน้นเครือข่ายด้านธุรกิจ ได้ทำการสำรวจข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2013 เรื่อง 10 อาชีพที่เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี เผยว่า นักโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสาขาการออกแบบกราฟิกเพื่อใช้ในการสื่อสาร ติดอันดับ 4 ใน 10 อาชีพที่กำลังถูกใช้ในตลาดแรงงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสโต 174 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า"

อีกเสียงสะท้อนของนักศึกษาที่อยู่ในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า...สิ่งที่ส่งผลในการเลือกเรียนสาขาการท่องเที่ยว คือความตั้งใจและอยากจะเรียนสาขาที่ตนเองชอบ แต่ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้เริ่มไม่แน่ใจว่าสาขาที่เลือกเรียนจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้หรือไม่เพราะมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และไม่มีข้อมูลว่าตลาดแรงงานต้องการอาชีพนี้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ "ณัฐพล คมใส" ชั้นปีที่ 3 สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้มากว่าครึ่งทางไม่สามารถหันหลังกลับได้ เกิดความไม่แน่ใจว่าความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพจะเป็นไปในทิศทางใด แต่วิธีที่จะรับมือเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้คือการพัฒนาทักษะชีวิตของตนเองในการปรับตัวเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ได้

ขณะที่ "น้องอัพ" กล่าวเสริมว่า...สิ่งที่จำเป็นและต้องการในขณะนี้คือการแนะแนว ซึ่งเป็นช่องทางที่จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร การแนะแนวในที่นี้ไม่ใช่เพียงครูแนะแนวเท่านั้น แต่ควรจะมีระบบสารสนเทศที่มีข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงาน แล้วบอกได้ว่าแต่ละอาชีพมีความสำคัญอย่างไร

"ให้ข้อมูลเหล่านี้วิ่งไปถึงตัวเด็กและเยาวชนให้ได้ ผมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ และน้อง ๆ อีกหลายคนที่จะช่วยตัดสินใจก่อนก้าวเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย จึงอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุนสิ่งนี้เพื่อแก้ปัญหาต้นทางด้วยครับ"

ความพยายามของน้องๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเหล่านี้เป็นความหวังสำคัญของประเทศไทย หากประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ขั้นกลาง (Middle Income Trap) ไปได้อย่างประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเกิน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังแรงงานของไทยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัจจุบันโดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานสิงคโปร์และมาเลเซีย 1 คน สามารถทำงานผลิตสินค้าและบริการได้มากกว่าแรงงานไทย 1 คนกว่า 4 เท่า และ 2.5 เท่าตามลำดับ

หากระบบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษายังไม่สามารถยกระดับผลิตภาพในการทำงานของเยาวชนไทยได้อย่างต่อเนื่อง ช่องว่างในขีดความสามารถการทำงานระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานประเทศคู่แข่งทางการค้าในอาเซียนยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศไทยก็จะติดอยู่ในกับดักรายได้ขั้นกลางไปอีกนานหลายสิบปี

นอกจากข้อมูลที่มีความสำคัญในการตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาชีพแล้วอีกส่วนหนึ่งที่เด็กและเยาวชนไทยจะต้องพัฒนาควบคู่คือ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครื่องมือเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชนไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

ผลการวิจัยพบว่าสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับการจัดการการศึกษาของไทยให้แข่งขันได้ในโลกนั้น จะต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านต่างๆ มากกว่าการมีความรู้ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ครูต้องมีการปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ

โดยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ช่วงชั้น ม.4-6 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา มี 5 ข้อ ดังนี้
1.มีความรู้เชิงการประยุกต์ใช้การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ในสายการเรียนรู้ของตน
2.วางแผนและคิดอย่างมีเหตุผลเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้
3.การมีคุณธรรมและจริยธรรมในการใช้องค์ความรู้
4.สื่อสารกับผู้คนได้อย่างเข้าใจทั้งในภูมิภาคและต่างภูมิภาค
5.นำทักษะต่าง ๆ ไปต่อยอดองค์ความรู้ในระดับสูง
ทั้งนี้ เมื่อไปประกอบอาชีพใด ๆ ต้องสามารถปรับตัวและสร้างประโยชน์ให้องค์กรหรือผลิตภัณฑ์ โดยมีกระบวนทำงานด้วยการใช้ทักษะด้านสื่อสารอย่างเข้าใจทั้งความคิดที่แตกต่าง ด้านประเพณี และวัฒนธรรม และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาเพื่อปรับเปลี่ยนในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้อย่างมีความสุข

คอลัมน์ Education Ideas โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook