นิยามของคำว่า ‘ช่างภาพมืออาชีพ'

นิยามของคำว่า ‘ช่างภาพมืออาชีพ'

นิยามของคำว่า ‘ช่างภาพมืออาชีพ'
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วีรพงศ์ ชปารังษี :ช่างภาพอิสระ

ในบรรดาช่างภาพที่สามารถถ่ายภาพเด็กได้สื่ออารมณ์ที่สุด พอๆ กับถ่ายภาพหญิงสาวให้ออกมาดูเซ็กซี่ หลายคนลงความเห็นให้เขา

คนนี้อยู่ในลิสต์ เขาที่ว่าคือ ‘วีรพงศ์ ชปารังษี' อดีตช่างภาพแฟชั่นของนิตยสาร GM และเล่มอื่นๆ ในเครือ GM ปัจจุบันเขาเป็น Brand Ambassador ของ แคนนอน ประเทศไทย คอยเทรนช่างภาพในกิจกรรมต่างๆ ของแคนนอน และยังเป็นเจ้าของ Shutter V Studio สตูดิโอถ่ายภาพระดับเอเยนซีโฆษณาต้องชมว่า ‘สุดยอด' และ Shutter V Junior Academy โรงเรียนสอนถ่ายภาพสำหรับเด็กและครอบครัว ที่สอนให้เด็กๆ เข้าใจศิลปะและมีสมาธิผ่านการมองโลกหลังเลนส์

ถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องยาก เดี๋ยวนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้หมด กล้องดีๆ เลนส์ดีๆ ทุกคนมีได้ แต่มุมมองและความคิดคือสิ่งที่ทำให้ช่างภาพแตกต่างกัน ถ้าเราไม่มีวิธีคิด ไม่มีคอนเซ็ปต์ ภาพที่เราถ่ายจะไม่สามารถสื่อสารหรือสามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรได้เลย ถ้าถ่ายภาพสิ่งของมาแล้วไม่ส่งผลด้านอารมณ์ ก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าถ่ายภาพที่เป็นเชิงพาณิชย์ก็ต้องตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กล้องช่วยเราไม่ได้ เพราะอยู่ที่วิธีคิดและการนำเสนอ

ทุกวันนี้ใครมีกล้องก็เป็นช่างภาพได้ เราเลยเห็นช่างภาพแข่งขันกันด้วยการตัดราคาแย่งลูกค้า แต่คนที่เก่งจริงๆ เขาไม่จำเป็นต้องมาแข่งกับใคร เพราะการเป็นช่างภาพอาชีพเราต้องมีสิ่งที่ต่างไปจากที่ทุกคนมี ซึ่งเราจะไปบอกกับใครต่อใครว่าเราเก่ง ภาพเราสวย จ้างเราเถอะเราเก่ง มันไม่มีประโยชน์หรอก ผลงานต่างหากที่พูดแทนเรา ว่าเราเจ๋งหรือเปล่า

ต้องซื่อสัตย์กับอาชีพ รวมถึงให้เกียรติคนที่ทำงานร่วมกับเรา เวลาเราถ่ายรูปเซ็กซี่ก็จะมีคำถามว่าเราถ่ายแล้วเรารู้สึกยังไง คนอื่นไม่รู้ แต่สำหรับเราพอมันเป็นอาชีพ เราก็จะไม่ทำลายอาชีพเราด้วยการทำในสิ่งที่เป็นความเสื่อม ไม่เคยคิดเล็กคิดน้อยหาวิธีเอาเปรียบนางแบบ เพราะงานก็คืองาน

คิดเสมอว่าเราคือช่างภาพอาชีพ เราทำงานแลกกับเงินเขา ถ้าเราทำไม่ได้ เราจะทำงานอาชีพนี้ไปเพื่ออะไร ยังไง ถ้าคิดแบบนี้เราจะไม่หนีปัญหา และต้องแสวงหาวิธีเพื่อให้เราได้งานออกมาดี สมัยก่อนเราทำงานตลอดเวลา ฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา แม้กระทั่งการมองเรายังมองทุกอย่างเป็นภาพถ่าย หรือจดจำรายละเอียดที่สามารถช่วยในงานได้ เช่น ร้านขายลูกโป่งอยู่ตรงไหน ร้านเชื่อมเหล็กอยู่ตรงไหน เราจะจดไว้หมด หากวันหนึ่งเราต้องการโลเกชั่นหรืออุปกรณ์ เราก็สามารถหาได้เลย เพราะเตรียมความพร้อมไว้แล้ว กล้องก็ดูแลอย่างดี เช็กก่อนถ่ายงานตลอด ไม่เคยมีกล้องพังกลางงาน เมโมรี่เสียก็ไม่เคย บางคนเลยบ่นว่า "ทำงานกับพี่ปุ้ย เรื่องเยอะ" (หัวเราะ) ซึ่งก็จริง แต่ทั้งหมดก็เพื่อความสมบูรณ์ เพราะผมถือคติว่า "งานที่ดีไม่ใช่งานที่ฟลุ๊ค"

My Favorite Picture

มีคนถามตลอดว่าเราชอบภาพไหนที่สุดตั้งแต่ทำงานมา 20 กว่าปี ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราตอบไม่ได้ แต่เพิ่งไม่นานนี้เองที่เราหาคำตอบได้แล้วว่ารูปที่ชอบที่สุดคือรูปแม่ เราถ่ายภาพนี้เพราะเราทำสตูดิโอ เราอยากทำพอร์ตฯ ของสตูดิโอ เลยถ่ายรูปแม่ไป 3-4 รูป ดูแล้วชอบมากๆ จนเอามาตั้งเป็นหน้าเดสก์ท็อป เวลาเปิดคอมพ์มาเจอรูปแม่แล้วหายเหนื่อย หายท้อเลย

Text : พลสัน นกน่วม

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook