ตะลึง! ม.4 "ซ้ำชั้น-ออกกลางคัน" 4 หมื่น

ตะลึง! ม.4 "ซ้ำชั้น-ออกกลางคัน" 4 หมื่น

ตะลึง! ม.4 "ซ้ำชั้น-ออกกลางคัน" 4 หมื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตะลึง! ม.4 "ซ้ำชั้น-ออกกลางคัน" 4 หมื่น-ปี สอศ.เล็งโอน น.ร.สายสามัญมาอาชีวะ ผุดคู่มือเทียบโอนหน่วยกิตให้วิทยาลัย

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่าจากการศึกษาข้อมูลแต่ละปี พบว่ามีนักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณ 9 แสนคน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายประมาณ 5 แสนคน เรียนต่อสายอาชีพประมาณ 3 แสนคน และพบว่าแต่ละปีนักเรียนที่เลือกเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนไม่น้อยต้องเรียนซ้ำชั้นหรือออกกลางคันเพราะเรียนไม่ไหวโดยเมื่อดูจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่า นักเรียนชั้น ม.4 ที่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียน ม.5 เฉลี่ยแค่ 85% ที่เหลืออีก 15% หรือประมาณ 4 หมื่นคน เรียนซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน ส่วนนักเรียนชั้น ม.5 สามารถสอบเลื่อนชั้น ม.6 ได้ประมาณ 90% ดังนั้น สอศ.จึงเตรียมทำโครงการส่งเสริมการเทียบโอนหน่วยกิต ของหลักสูตร ม.ปลายเพื่อเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นทางเลือกแก่นักเรียน ม.ปลายที่เรียนไม่ไหว สามารถเปลี่ยนเส้นทางมาเรียนต่อสายอาชีพได้

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสามารถเทียบโอนผลการเรียนในระดับมัธยมปลายเพื่อเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร ปวช. พ.ศ.2556 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเทียบโอนไว้ ให้สถานศึกษารับเทียบโอนผลการเรียนได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยกิตระดับ ปวช. ซึ่งมีเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 3 ปีประมาณ 103 หน่วยกิต โดยหน่วยการเรียนที่รับโอนได้ ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาในกลุ่มทักษะชีวิต หรือกลุ่มวิชาสามัญ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา เป็นวิชากลุ่มสามัญซึ่งมีทั้งหมด 21 หน่วยกิต

"ปัจจุบันสถาบันอาชีวศึกษายังเข้าใจไม่ตรงกัน บางวิทยาลัยไม่รู้ว่าสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ ฉะนั้น จะมีการซักซ้อมความเข้าใจและแนวปฏิบัติในการเทียบโอนให้ตรงกัน อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ในการเทียบโอนกำหนดว่า เนื้อหาวิชาที่จะเทียบโอนนั้น เนื้อหาต้องตรงกันเกิน 60% ซึ่งที่ผ่านมาเป็นดุลพินิจของวิทยาลัยในการเปรียบเทียบ แต่ต่อไปเพื่อความคล่องตัว สอศ.จะตั้งกรรมการขึ้นมาเปรียบเทียบเนื้อหาในหลักสูตร และทำเป็นบัญชีให้วิทยาลัยสามารถนำไปใช้ได้ทันที" นายชัยพฤกษ์ กล่าว และว่า หากนักเรียนชั้น ม.4 เปลี่ยนมาเรียนสายอาชีพ ก็ยังสามารถเรียนจบพร้อมเพื่อนร่วมรุ่นได้ แต่อาจต้องลงเรียนภาคฤดูร้อนเพิ่มเติม หรือเรียนตามที่วิทยาลัยจัดตารางการเรียนเพิ่มเติมให้

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook