หัวใจการศึกษาไทย ในมุมมอง "หลังบ้านนายกฯ"

หัวใจการศึกษาไทย ในมุมมอง "หลังบ้านนายกฯ"

หัวใจการศึกษาไทย ในมุมมอง "หลังบ้านนายกฯ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Hello เซเลบ

เป็นหนึ่งในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเรื่องการศึกษาทางไกล ทั้งยังกำชับหนักหนาผ่านเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกว่าต้องขยายระบบการศึกษาทางไกลไปยังพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล โดยเฉพาะกับโรงเรียนขนาดเล็ก

ท่านนายกรัฐมนตรีอาจมองทะลุปรุโปร่งในเรื่องนี้ เพราะมีที่ปรึกษาดีอย่าง อ.น้อง-รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มูลนิธิที่ก่อตั้งตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดสอนทางไกลการศึกษาสายสามัญตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมถึงการศึกษาสายอาชีพตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งจะครบรอบก่อตั้ง 19 ปีของมูลนิธิ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นี้

รศ.นราพรเล่าถึงที่มาของการเข้ามาทำงานในมูลนิธิว่า ตอนที่ยังเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มาช่วยมูลนิธิเป็นครั้งคราวเป็นเวลา 3 ปี อย่างเรื่องการอบรมครูโดยเฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พอลาออกจากจุฬาฯ ท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯชวนให้มาช่วยงานที่มูลนิธิ ซึ่งสำหรับดิฉันถือว่าคุ้นเคยอยู่แล้ว ก็เข้ามาทำและนี่ก็เป็นเวลา 9 ปีแล้ว

"งานหลักๆ ที่นี่คือดูแลการอบรมและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ช่วยดูแลครูต้นทางของโรงเรียนวังไกลกังวล ควบคู่ไปกับการพัฒนาครูปลายทาง รวมถึงช่วยประสานความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งองค์กรต่างประเทศและในประเทศ"

สำหรับหัวใจของการศึกษา หลังบ้านนายกรัฐมนตรี มองว่า

"ครูคือหัวใจสำคัญของการศึกษา สามารถสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้แสดงความคิดอย่างมีเหตุผลได้ในทุกรายวิชา แต่ที่ผ่านมาครูไปสอนให้เรียนตามคำบอก ขณะที่นักเรียนก็เยอะเกินไป ไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่เป็นข้อสงสัยของนักเรียนได้เท่าไหร่" อาจารย์นราพรแสดงความคิดเห็น

เมื่อเห็นปัญหา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกล จึงให้ความสำคัญกับการ "อบรมและพัฒนาครู" โดยใช้เวลาหลังจบคาบสอนในแต่ละวัน อบรมครูผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทำให้ไม่ต้องทิ้งห้องเรียนมาอบรม เป็นการทำระบบให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนและครู

"การพัฒนาการศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษา อย่างแรกต้องปฏิรูปที่คน หรือปฏิรูปที่ครูก่อน ทำอย่างไรให้สามารถสอนนักเรียนให้คิดวิเคราะห์ พูดโต้ตอบ ไม่ใช่อ่านตามท่องตามอย่างเดียว ก็อยากให้ ศธ.พัฒนาครูให้ได้แบบนี้มากขึ้น"

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของมูลนิธิ 19 ปีที่ผ่านมา รศ.นราพรเล่าว่า ที่ผ่านมามูลนิธิได้แจกจ่ายอุปกรณ์การรับชมให้โรงเรียน จำนวน 30,000 กว่าโรงทั่วประเทศ แต่การใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร โดยจากผลประเมินมีเพียง 6,000 กว่าโรงที่ตอบรับกลับมาว่าใช้การศึกษาผ่านดาวเทียม ฉะนั้นก็อยากฝากให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินเรื่องนี้ให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีระบบการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด การประเมินผลติดตาม เพราะประโยชน์จะเกิดขึ้นกับเด็กไทย

"เราอยากให้มีโรงเรียนปลายทางที่ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น มีครูเก่งๆ จากโรงเรียนใหญ่ๆ ของ สพฐ.มาช่วยพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต้นทาง เพื่อให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ห่างไกลได้เรียนกับครูเก่งๆ เหมือนนักเรียนในกรุงเทพ นี่เป็นความก้าวหน้าที่เราอยากเห็นในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษของมูลนิธิในปี 2558"

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสะท้อนผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนดีขึ้นเป็น 2 เท่า จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (National Test) หรือเอ็นที และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ล่าสุดในภาคการศึกษาที่ 2/2557 สพฐ.มีการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไปยังอีก จำนวน 15,369 โรง มีนักเรียนไทย จำนวน 1,015,974 คนได้รับอานิสงส์

นับเป็นความก้าวหน้าของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไม่น้อย

"การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของครูปลายทาง อย่างที่ผ่านมามีบทเรียนในช่วงแรกที่ไม่ได้ผล เพราะบางแห่งครูเปิดโทรทัศน์แล้วครูหายไปเลย แต่จริงๆ ครูต้องอยู่ตลอด ต้องรู้ทุกขั้นตอนว่าตอนนี้ถึงช่วงไหนๆ ก็จะได้รู้ว่าช่วงนี้ควรจะทำอะไร ซึ่งที่ผ่านมาเราก็จัดทำคู่มือสำหรับครูปลายทางแจกให้แล้ว ซึ่งในคู่มือจะมีทั้งหน่วยการเรียนรู้ ผังมโนทัศน์ แผนการสอน ขณะเดียวกันเรายังส่งเสริมให้ครูต้นทางและปลายทางติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา"

ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อการศึกษาของเด็กไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร รศ.นราพร บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า

"การทำงานของมูลนิธิเป็นการทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นโรงเรียนราษฎร์ในพระองค์ ทั้งทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนของพระองค์ ฉะนั้นต้องทำให้ดี"

นับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ภริยานายกรัฐมนตรีคนนี้ "ภูมิใจ"

"ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งช่วยให้การศึกษาบ้านเราได้รับการพัฒนาขึ้น" รศ.นราพรกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook