ชีวิตรักวัยรุ่น สีดำ-เก็บงำ-บอกพ่อแม่ไม่ได้

ชีวิตรักวัยรุ่น สีดำ-เก็บงำ-บอกพ่อแม่ไม่ได้

ชีวิตรักวัยรุ่น สีดำ-เก็บงำ-บอกพ่อแม่ไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความรักเป็นสิ่งสวยงามเสมอ ถ้ารักนั้นเป็นรักที่เกื้อกูลกัน เข้าอกเข้าใจกัน และพร้อมจะทำสิ่งดีๆ ให้กัน

โดยเฉพาะในวัยแรกรุ่นที่สดใส โลกนี้เป็น "สีชมพู" มีเพียงสองเราที่สัญญารักมั่น จะรักกันตลอดไป

แต่อยู่มาวันหนึ่ง ความรักกลับกลายเป็น "สีดำ" เพราะความหึงหวง นอกใจ หรือไม่เข้าใจกัน แล้วนำมาซึ่งความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง

ความรุนแรงที่สังคมมักจะคุ้นเคยกับความรุนแรงในครอบครัว แต่จริงๆ แล้วทุกซอกมุมในสังคมมีความรุนแรงซ่อนอยู่ โดยเฉพาะ "ความรุนแรง" ใน "รักวัยรุ่น"

ปัญหาที่ "น่าเป็นห่วง" เพราะเป็นความรักที่ต้อง "เก็บงำ" ไม่ให้ "พ่อแม่รับรู้" เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น หนักที่สุดคือ ฆ่าตัวตายหนีปัญหา!

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเล็งเห็นปัญหาอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้ จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "อย่าอ้างว่ารัก แล้วทำร้าย" ภายในงานมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ นิทรรศการให้ความรู้ และเดินรณรงค์แจกสื่อยุติความรุนแรงให้ผู้คนผ่านไปมาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ภายในงานมีการเปิดผลสำรวจ"สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น" ที่เก็บแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นหญิง อายุ 17-25 ปี จำนวน 1,204 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

ในชีวิตคู่รักวัยรุ่นที่ต้องเผชิญ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 98.4 เป็นการนอกใจจากคู่รัก รองลงมาคือการใช้คำหยาบคาย การทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย กักขังและหน่วงเหนี่ยว

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงสาเหตุการ "ทำร้ายร่างกาย" ของคู่รักวัยรุ่นว่า ส่วนใหญ่มาจากการนอกใจถึงร้อยละ 18.8 รองลงมาคือการหึงหวง และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผลสำรวจยังชี้ถึงเหตุผลที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องทนกับความรุนแรงคือ เพราะรัก ร้อยละ 23.3 แต่ที่น่าตกใจถึงร้อยละ 22.7 วัยรุ่นหญิงไม่กล้าบอกใคร เพราะกลัวพ่อแม่รู้ และร้อยละ 17.9 กลัวถูกฝ่ายชายทำร้ายซ้ำ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เพราะมีการทำร้ายกันเสียชีวิตมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น อาทิ การหึงหวง โดยบางครั้งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปกระตุ้น เราจึงเลือกยุติความรุนแรงในปีนี้ด้วยการนำเสนอประเด็นความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น

"หลายคู่รักวัยรุ่นคบกันโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกมีแฟนจึงยากที่จะรับทราบว่าลูกได้ถูกกระทำความรุนแรง เพราะเรื่องนี้ต้องเก็บซ่อนไว้ ปิดไว้ ซึ่งถือว่าน่าห่วงมาก ขณะที่พื้นที่ที่จะให้เยาวชนเหล่านี้ได้ระบายออกมายังมีน้อย อย่างมหาวิทยาลัยก็มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปัญหานี้จึงสะสม จนวันหนึ่งระเบิดออกมา เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจต้องเสียเลือดเนื้อ" จะเด็จบอกอย่างเป็นห่วง

จะเด็จกล่าวว่า ฉะนั้น เราสะท้อนปัญหาให้ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เราจะเสนอให้หลักสูตรการศึกษามีเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต เพราะหลักสูตรต้องสอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักควบคุมอารมณ์ รู้จักเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี เพราะไปมุ่งกับความเป็นเลิศทางวิชาการกับการแข่งขัน รวมถึงอยากให้มหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือรับเป็นที่พึ่งด้วย 2.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรจัดพื้นที่สร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก เพราะปัจจุบันมีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย เด็กก็ไปหมกมุ่นกับบริโภคนิยม เชื่อสื่อจนทำให้ฝังใจว่าต้องมีแฟนหน้าตาดี ทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ และ 3.สายด่วนสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 1323 หรือกระทั่งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300 ที่เป็นสายด่วนราชการ ก็อยากให้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยทันที

"อยากแนะนำพ่อแม่ว่าไม่ควรโกรธลูก หากลูกมีแฟนหรือมีปัญหาอะไร เพราะจะยิ่งผลักลูกให้ไกลออกไป ทำให้วันหนึ่งถูกทำร้ายโดยที่เราก็ช่วยอะไรไม่ทัน" จะเด็จกล่าวย้ำ

ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะในคู่รักวัยรุ่นหรือคู่รักที่เป็นครอบครัว เฉกเช่นชีวิตของ กุ้ง (นามสมมุติ) อายุ 32 ปี ชาวกรุงเทพฯ เธอถูกแฟนหนุ่มที่อยู่กินด้วยกันจนมีลูกทำร้าย เพราะอารมณ์โกรธที่เธอใช้ให้ทำโน่นนี่ จากที่เคยเป็นคนดีในสายตามาตลอด

"หลังจากมีลูกด้วยกัน เขาเริ่มมีเพื่อนฝูง เริ่มเที่ยว กินสุรา และเริ่มแชต วันหนึ่งเขากำลังนั่งแชตอยู่ เลยบอกให้ทำโน่นนี่ คิดว่าเขาคงโมโหก็มาปัดหน้า พอขู่ไปว่าจะกลับบ้าน เขายิ่งโมโหเข้ามาบีบคอและเตะ ตอนนั้นคิดในใจว่าสู้ไม่ได้จึงอุ้มลูกขึ้นมา แต่ปรากฏลูกก็โดนเตะเป็นรอยเท้าที่หลังด้วย จึงตัดสินใจหนีออกมากลับบ้านมาอยู่กับแม่ ถัดมา 2 สัปดาห์เขาก็มาง้อและชวนกลับไปอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นคิดว่าเขาจะไม่ทำอีกจึงพาลูกกลับไป สุดท้ายก็เหมือนเดิม คราวนี้ไม่รอให้โดนหนักกว่าเก่า และไม่กลับไปอีกเลย"

"ฝากถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องเจอสถานการณ์เดียวกัน หากคิดว่าตัวเองทนได้เพื่อรักษาสถานภาพครอบครัวเอาไว้ ก็อยากให้คิดว่าความรุนแรงนี้จะต้องโดนอีกเท่าไหร่ หรือจนถึงวันตาย แล้วลูกโตขึ้นมาจะต้องมาเห็นสภาพพ่อแม่ตีกัน เขาจะโตมาเป็นเด็กมีปัญหาหรืออารมณ์รุนแรงขนาดไหน ก็อยากให้คิดถึงลูกและตัวเรา หากทนแล้วไม่มีความสุขก็อย่าทนดีกว่า" กุ้งกล่าว และทิ้งท้ายว่า

"กลับมาที่บ้านยังมีพ่อมีแม่ที่เปิดรับเราเสมอดีกว่า"

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook