อเด็คโก้ชี้ "วิศวกร" เนื้อหอม เงินเดือนสูง...ฝันแรกมนุษย์ทำงาน

อเด็คโก้ชี้ "วิศวกร" เนื้อหอม เงินเดือนสูง...ฝันแรกมนุษย์ทำงาน

อเด็คโก้ชี้ "วิศวกร" เนื้อหอม เงินเดือนสูง...ฝันแรกมนุษย์ทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จาก ผลสำรวจ "ภาพรวมตลาดแรงงานไทยปี 2557 รวมถึงปัจจัยที่ทำให้พนักงานอยากอยู่ต่อกับองค์กร หรือมองหางานใหม่" ของ "อเด็คโก้" ผู้ให้บริการด้านการบริหารงานทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจรระดับโลก เปิดเผยถึงสัญญาณการจ้างงานในประเทศไทยที่กำลังเติบโตขึ้นในทิศทางของ อุตสาหกรรมเทรดดิ้ง ซึ่งสอดรับต่อแนวโน้มการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

เบื้องต้น "ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์" ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจไทย (GDP) จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3.5-4.5% จากการปรับตัวขึ้นในภาคเอกชนตามสภาวะภาพรวมของเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐที่มีความชัดเจน จนเกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 อยู่ที่ 1.4-2.4% จึงส่งผลต่ออัตราว่างงานจำนวน 300,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.8-1.0%

ผลสำรวจตลอดปี 2557 พบว่า สายงานที่มีการจ้างงานในประเทศไทยไม่สอดรับกับตำแหน่งงานที่ต้องการในตลาด ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างสัดส่วนความต้องการของตลาดงานที่รองรับ โดยผลสำรวจระบุว่าสายงานที่มีการจ้างงานมากที่สุดในตลาดแรงงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ สายงานวิศวกรรม 17.05%, งานขาย16.82%, ไอที 14.27%, บัญชี 11.90% และธุรการ 11.39% ตามลำดับ

โดยตำแหน่งงานทางด้านวิศวกรรมเป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาด คือ วิศวกรขาย, วิศวกรการผลิต, วิศวกรบริการ และวิศวกรโยธา

ขณะที่ผู้สมัครจาก 5 อันดับสายงานมีอัตราส่วนไม่สอดคล้องกัน โดยสายงานวิศวกรรมมีผู้สมัครเพียง 6.60%, ส่วน
งานขาย 4.97%, ไอที 5.84%, บัญชี 4.57% และธุรการ 5.26% ซึ่งผู้หางานส่วนใหญ่กลับไปให้ความสนใจใน 5 ตำแหน่งงาน โดยอันดับสูงสุด คือ เจ้าหน้าที่การตลาดและประชาสัมพันธ์ 7.60%, วิศวกร 6.60%, เจ้าหน้าที่ไอที 5.84%, พนักงานธุรการ 5.26% และพนักงานขาย 4.97% ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนความต้องการแรงงานกับผู้สมัครงานปัจจุบัน

"ธิดารัตน์" เปิดเผยว่า เกิดความไม่สอดคล้องกัน แม้จะเป็นสัดส่วนจำนวนไม่มากนักแต่หากยังเกิดความไม่สอดคล้องกันจะก่อให้เกิดช่องว่างในการจัดหางาน ทั้งยังจะส่งผลต่อสภาวะการจ้างงานต่อไป

"อย่างตำแหน่งงานทางด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ เป็นตำแหน่งงานที่ผู้สมัครมองหามากที่สุด แต่จำนวนตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้หางาน จึงทำให้เกิดการแข่งขันสูง ขณะที่ตำแหน่งงานทางด้านวิศวกรรม, งานขายและงานไอที กลับเป็นตำแหน่งงานที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงาน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องที่จะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในอนาคต"

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยซึ่งผลสำรวจแบ่งออกเป็น 5 สายงานดังนี้

หนึ่ง สายงานออฟฟิศ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง, อุตสาหกรรมการผลิต, การบริการ, การค้าปลีก, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

สอง สายงานวิศวกรรมและช่างเทคนิค ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อิเล็กทรอนิกส์, อาหารและเครื่องดื่ม

สาม สายงานไอที ได้แก่ กลุ่มผลิตซอฟต์แวร์, การเงินการธนาคารและประกัน, อุตสาหกรรมการผลิต, ธุรกิจออนไลน์ และโทรคมนาคม

สี่ สายงานปฏิบัติงานในเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เทรดดิ้ง, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็ก-ทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมการผลิต

ห้า สายงานใช้ทักษะภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ ธุรกิจไอที, เทรดดิ้ง, โทรคมนาคม, การเงิน,การบริการ, ธุรกิจขนส่ง, ธุรกิจยานยนต์, ที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ และอสังหาริมทรัพย์

ทั้ง 5 สายงานธุรกิจ "ธิดารัตน์" ชี้ว่าจะส่งผลต่อการเกิดตำแหน่งงานใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานที่เคยเป็นความต้องการของตลาด แต่ปัจจุบันอาจไม่เป็นที่ต้องการแล้ว ซึ่งตำแหน่งงาน
ดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ต่อความทันสมัยในยุคปัจจุบัน

"ดังนั้น ผู้สมัครงานจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มทักษะให้ได้อย่างน้อย 1 ทักษะ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการสมัครงานให้กับตนเอง เพราะผลสำรวจเชื่อมโยงสู่การสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กร เพราะถ้าหากพนักงานมีความรู้สึกพึงพอใจกับงานที่ทำ จะไม่ส่งผลต่ออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น"

"อเด็คโก้" จึงเปิดเผยอีกหนึ่งผลสำรวจที่น่าสนใจคือ "อยู่หรือไป อะไรสำคัญสุด" เพื่อมุ่งเน้นเรื่องปัจจัยที่มีผลทำให้คนอยากอยู่กับองค์กรหรือมองหางานใหม่ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 2,276 คนทั่วประเทศ จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ 27% เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์การทำงาน 0-5 ปี และ 73% เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

"ธิดารัตน์" เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้คนอยากอยู่ต่อกับองค์กร 5 อันดับแรก คือ เงินเดือนและสวัสดิการ รองลงมา คือ ความก้าวหน้าในการทำงาน ตามด้วยหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และโอกาสในการพัฒนาตนเอง ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้หางานต้องการงานใหม่ พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น ถัดมา คือ งานมีความท้าทายมากขึ้น, อิสระในการทำงาน, วัฒนธรรมองค์กร และตารางงานที่ยืดหยุ่นได้ ตามลำดับ

"โดยผลการสอบถามความพึงพอใจที่มีต่องานปัจจุบันพบว่า 26% พอใจกับงานที่ทำอยู่ ส่วน 18% ไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ แต่ยังไม่ได้คิดหางานใหม่ ขณะที่ 56% ไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ และกำลังมองหางานใหม่ ส่วนในเรื่องของเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน พบว่า 51% พอใจกับเงินเดือน และ 49% ไม่พอใจกับเงินเดือน"

"สรุปคือ ค่าตอบแทนเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกสำหรับพนักงานที่อยากอยู่ต่อกับองค์กร หรือผู้ที่กำลังหางานใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน แต่แรงจูงใจที่ดีควรมาจากหลายสิ่งประกอบกัน"

"ผลการสำรจของอเด็คโก้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลด้านผลตอบแทน (Compensation) และภาพรวมตลาดแรงงาน (Labor Market Reflection) เพื่อนำไปปรับกลยุทธ์ และต่อยอดให้กับองค์กรในการหาวิธีการ และแนวทางในการสร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กร เพื่อรักษาพนักงานที่ดีมีคุณภาพให้คงอยู่กับองค์กรต่อไป"

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงานในองค์กรด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook