"ดวงตาประดิษฐ์" การก้าวข้ามขีดความสามารถดวงตาในอนาคต

"ดวงตาประดิษฐ์" การก้าวข้ามขีดความสามารถดวงตาในอนาคต

"ดวงตาประดิษฐ์" การก้าวข้ามขีดความสามารถดวงตาในอนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

′ไบโอนิค อายส์′ ไม่แค่ช่วยฟื้นฟูสายตาอีกต่อไป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาบางประเภทกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะมองไม่เห็นสีสันเหมือนกับสายตาของคนปกติก็ตาม นอกจากนั้น ผู้ผลิตระบบดวงตาเทียมเหล่านี้ กำลังพัฒนาทั้งความสามารถและรูปแบบการใช้งานของมันออกไปหลากหลาย จนคาดว่าการฟื้นฟูสายตาให้กลับมามองเห็นได้อีกครั้งไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป แต่ผู้ใช้ "ดวงตาประดิษฐ์" อาจมีขีดความสามารถเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปในอนาคต

ตัวอย่างของระบบตาเทียมที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ มีอาทิ ระบบของ บริษัท เซคคันด์ ไซท์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า "อาร์กัสII" มูลค่า 145,000 ดอลลาร์ ที่มีการติดตั้งใช้งานแล้วในหมู่ผู้พิการทางสายตาราว 80 คนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ระบบดวงตาประดิษฐ์อาร์กัสทูประกอบด้วยแว่นตาที่เลนส์ถูกเปลี่ยนให้เป็นกล้องสำหรับรับภาพจากภายนอกแทนดวงตา แว่นตาดังกล่าวนี้ ติดตั้งไมโครชิปขนาดจิ๋วเพื่อทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลของภาพที่เห็นให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งผ่านระบบไร้สายไปยังอุปกรณ์ที่ผ่าตัดฝังอยู่ในเรตินา หรือเยื่อชั้นในของลูกตาที่เชื่อมต่ออยู่กับประสาทเพื่อการมองเห็นของคนเรา ภายในอุปกรณ์ดังกล่าวมีอิเล็กโทรด 60 ตัว ทำหน้าที่รับสัญญาณและส่งต่อไปยังระบบประสาท เพื่อจำแนกความแตกต่างของแสง, ความเคลื่อนไหว และ รูปร่างต่างๆ แทนนัยน์ตาปกติ

แม้จะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านหนังสือเล่มโตได้อีกครั้ง สามารถเคลื่อนที่ไปมาในบ้านที่ไม่คุ้นเคยได้ และเห็นภาพของบุคคลอันเป็นที่รักได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็ตาม แต่ภาพที่เห็นผ่านระบบอาร์กัสทู ยังเป็นขาวดำและมีความละเอียดไม่มากนัก

ในประเทศเยอรมนี มีผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกัน เรียกว่า "อัลฟา ไอเอ็มเอส" เลือกใช้วิธีการผ่าตัดฝังเซ็นเซอร์เข้าไว้ในตัวผู้พิการทางสายตาแทนที่การสวมแว่นตา เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพที่รับได้ไปยังเรตินาได้โดยตรง และมีความก้าวหน้ากว่า อาร์กัสทู ตรงที่ใช้จำนวนออเล็กโทรดมากกว่าถึง 25 เท่าตัวทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ามาก

ทั้งอาร์กัสทู และอัลฟา ไอเอ็มเอส ถือเป็นพัฒนาการรุ่นแรกๆ ของ "ดวงตาประดิษฐ์" ที่คาดหมายกันว่าจะคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ นักวิจัยทางด้านระบบตาเทียมของมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า ดวงตาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถทำหน้าที่แทนตาธรรมชาติได้สมบูรณ์แบบ น่าจะมาถึงภายในปี 2020 นี้

พัฒนาการก้าวสำคัญในอนาคตต่อไปก็คือ การก้าวข้ามระบบดวงตาตามธรรมชาติของคนเรา เพื่อเชื่อมต่อเซ็นเซอร์รับภาพจากภายนอกเข้าสู่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นโดยตรง ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการฟื้นฟูการมองเห็นของผู้พิการสายตา ที่เรตินาเสียหายไปด้วยเพราะโรคบางชนิดอย่าง ต้อหิน หรือ เบาหวาน ด้วยการหาทางลัดผ่านชั้นเนื้อเยื่อของเรตินาไปฝังอิเล็กโทรดไว้กับสมองโดยตรง

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเชื่อว่า ดวงตาประดิษฐ์ ในอนาคตจะมีขีดความสามารถอย่างที่ตาของคนทั่วไปทำไม่ได้ อย่างเช่น การซูมภาพเข้าออก หรือดวงตาที่สามารถฉายรังสีเอ็กซ์ (เอกซเรย์) เพื่อตรวจสอบหากับระเบิดได้โดยตรง หรือกระทั่งทำให้ระบบดวงตาเทียมเปิดรับภาพอยู่ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหลับ

แม้กระทั่งการติดตั้งระบบไวไฟให้กับดวงตาประดิษฐ์แล้วใช้เชื่อมต่อกับเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง

ดูยูทูบหรือภาพยนตร์โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์อีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook