มทร.ธัญบุรี โชว์นวัตกรรม ระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและไฟสาธารณะ

มทร.ธัญบุรี โชว์นวัตกรรม ระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและไฟสาธารณะ

มทร.ธัญบุรี โชว์นวัตกรรม ระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและไฟสาธารณะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พลังงานเป็นสิ่งที่มีค่าและมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานน้ำมัน พลังงานไฟฟ้า ซึ่งความต้องการใช้พลังงานมีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่พลังงานต่าง ๆ มีราคาที่สูงขึ้นและกำลังเริ่มขาดแคลน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่ได้ทำโครงการวิจัย "การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและ ไฟสาธารณะ" จนประสบความสำเร็จ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


อาจารย์จตุรพิธ เกราะแก้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ให้บริการไฟถนนสาธารณะสำหรับถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ภายใต้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ล้วนอยู่ภายใต้พื้นที่การให้บริการของ กฟภ. การให้บริการหน่วยงานดังกล่าวนำไปสู่ภาระค่าใช้จ่ายต่อปีที่สูงขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่การบริการด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น กฟภ.จึงตระหนักถึงการประหยัดพลังงานของการใช้พลังงานไฟถนนสาธารณะ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าและความส่องสว่างของถนนในแต่ละพื้นที่ในการกำกับดูแล จึงร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัย ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ลงทุน กฟภ.จะทยอยจ่ายเงินลงทุนคืน จากผลประหยัดที่เกิดขึ้นจริง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ไฟถนนและไฟสาธารณะจะต้องมีค่าความสว่างที่ได้มาตรฐานและคงคุณภาพความสว่างเช่นเดิมหรือดีขึ้น


"เหตุผลสำคัญที่ต้องศึกษาวิจัย และคิดค้นนวัตกรรม เนื่องจากการทำงานของไฟถนนและไฟสาธารณะอาศัยสวิทช์แสงในการสั่งการให้ทำงาน ทำให้มีช่วงเวลาการทำงานในแต่ละวันไม่ตรงกัน อีกทั้งจำนวนหลอดที่ใช้การได้ ในแต่ละช่วงเวลาอาจจะไม่เท่าเดิม ทำให้การคำนวณผลตอบแทนด้วยการดำเนินโครงการแบบ PPP จำเป็นต้องวิเคราะห์และหาแนวทางการตรวจวัดและพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงานสำหรับการจ่ายผลตอบแทนที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ กฟภ. ดังนั้น จึงได้การออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและไฟสาธารณะที่สามารถตอบสนองและแสดงผลการทำงานได้ในแบบเวลาจริง และได้รวบรวมนักวิจัยหลายท่านที่เกี่ยวข้องภายใน มทร.ธัญบุรี เข้าร่วมคิดค้นพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี จนสัมฤทธิ์ผล โดยครอบคลุมอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ทั้งโคมไฟถนนประเภทหลอด High Pressure Sodium (HPS) 250 วัตต์ และหลอดฟลูออเรสเซนต์ ให้สามารถตรวจสอบสถานะหลอดติด-ดับเป็นรายโคม รวมถึงควบคุมการเปิดปิดทั้งวงจร รวมถึงไฟถนนแบบ LED สามารถตรวจสอบสถานะหลอดติด-ดับเป็นรายโคม รวมถึงควบคุมการเปิดปิดทั้งวงจร การเปิดปิดเป็นรายโคม และการหรี่ไฟเป็นรายโคม" อาจารย์จตุรพิธ กล่าว


พื้นที่สำหรับดำเนินโครงการ คือ เขตพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดแล้ว โดยมีจำนวนกล่องควบคุมโคมไฟตามโครงการต้นแบบทั้งสิ้น 160 ชุด ตู้ควบคุมต้นวงจร 10 ตู้ คอมพิวเตอร์แม่ข่าย 1 เครื่อง กล่องควบคุมที่โคมไฟซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ตรวจสอบสถานะ ควบคุมการเปิด-ปิด และการหรี่โคมไฟ ติดตั้งอยู่ที่โคมไฟแต่ละโคม และรับส่งข้อมูล สถานะโคมไฟ กับอุปกรณ์ DCU ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางไฟฟ้าของโคมไฟทั้งวงจรที่ถูกติดตั้งอยู่ตู้ควบคุมต้นวงจร และดึงข้อมูลทางไฟฟ้าที่วัดได้จากมิเตอร์ จากนั้น DCU จะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังการไฟฟ้าสำนักงานใหญ่ เพื่อจัดเก็บลงในระบบฐานข้อมูลผ่านทางระบบ 3G สำหรับประมวลผลและแสดงผลให้กับผู้ใช้งานต่อไป โดยผู้ใช้งานสามารถดูผลได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ทโฟนต่างๆ ได้ และผู้ใช้สามารถสั่งเปิด-ปิด หรือหรี่โคมไฟจากคอมพิวเตอร์ PC ซึ่งคำสั่งเหล่านั้นจะถูกส่งผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยัง DCU และถูกส่งต่อไปยังกล่องควบคุมที่โคมไฟ


"การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานของระบบไฟถนนและไฟสาธารณะนี้ นอกจากการวิเคราะห์และหาแนวทางการตรวจวัดพิสูจน์ผลการประหยัดพลังงานสำหรับการจ่ายผลตอบแทนที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยนี้ สามารถนำไปเพิ่มพูนทักษะ เพื่อสร้างความเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ ให้กับนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย" คณะผู้วิจัย กล่าว
นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ใช้ความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ อย่างบูรณาการ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ผู้สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มทร.ธัญบุรี หรือ โทร. 02 549 4197 - 8

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook