ครม.เห็นชอบ"ม.เกษตรฯ-สวนดุสิต" ออกนอกระบบ

ครม.เห็นชอบ"ม.เกษตรฯ-สวนดุสิต" ออกนอกระบบ

ครม.เห็นชอบ"ม.เกษตรฯ-สวนดุสิต" ออกนอกระบบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.เห็นชอบ"ม.เกษตรฯ-สวนดุสิต" ออกนอกระบบ "ธรรมศาสตร์-ศิลปากร"จ่อคิวต่อไป

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ขณะตนนี้ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เพื่อบรรจุเป็นวาระในการประชุม ครม. ส่วนจะเข้าสู่การพิจารณาเมื่อไรนั้น ตนไม่สามารถตอบได้

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ระหว่างการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยมีสถานะนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะสมาชิก สนช. กล่าวว่า จากการหารือในเบื้องต้น กมธ. ที่จะมาดูร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบแต่ละฉบับ จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ โดย กมธ. การศึกษาและกีฬา สนช. จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ และอาจมี กมธ.ชุดอื่นมาร่วมด้วย โดยในส่วนของฝ่ายรัฐบาล จะประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ควรพิจารณาโดยกมธ. ชุดเดียวกัน หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นชุดเดียวกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.นอกระบบเป็นกฎหมายลักษณะเดียวกัน และไม่ซับซ้อน แต่ทางรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด กมธ.จะทำงานหนักมาก ดังนั้นจึงอาจต้องตั้ง กมธ. ขึ้น 2-3 ชุดเพื่อมาดูแลเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรอบคอบ


ที่มา มติชนออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook