นักศึกษาไทย"เรียน"แบบไหน?

นักศึกษาไทย"เรียน"แบบไหน?

นักศึกษาไทย"เรียน"แบบไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

99 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558

[เกิด 9 มีนาคม 2459 ที่ย่านตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ชื่อ "ป๋วย" แปลตรงตัวว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง" และ "เสริมกำลัง"]

มีหนังสือที่ระลึก โดยโครงการตำราฯ รวบรวมวาทะสำคัญๆตอนหนึ่ง ดังนี้

นักศึกษาไทยนักศึกษาไทย

ผู้ที่กล่าวว่า "นักศึกษามีหน้าที่เฉพาะแต่การเรียน" นั้น กล่าวถูกและกล่าวผิด แล้วแต่จะตีความคำว่า "เรียน" กว้างหรือแคบเพียงใด

ถ้าตีความหมาย "เรียน" อย่างแคบ ก็เป็นมิจฉาทิฐิแน่นอน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้กล่าว

ถ้าหมายความว่านักศึกษาจะต้องเรียนโดยเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ของชุมชน เรียนโดยสนใจแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เรียนโดยแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและใช้วิธีสันติ แม้ว่าจะร่วมกันเป็นหมู่มากก็เป็นความหมายที่ถูก [มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย, 2516/1973]

อาจารย์มหาวิทยาลัยฝูงหนึ่งปัจจุบันนี้ ตีความหมาย"เรียน"อย่างคับแคบและอย่างมิจฉาทิฐิ ว่าคนคิดต่างเป็นคนคิดเลว

อาจารย์ฝูงนี้จึงปิดกั้นนักศึกษาที่เอาใจใส่ความเคลื่อนไหวทางสังคม และสนใจปัญหาบ้านเมือง

เสรีภาพทางวิชาการในไทย

นักวิชาการ นักคิด นักเขียนนานาชาติ 238 คน ส่งจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการกลับคืนมาในประเทศไทย หลัง มธ. ไล่ออก ′สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล′ ออกจากตำแหน่ง

ในตอนท้ายของจดหมาย นักวิชาการกลุ่มนี้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก้าวออกมาเป็นผู้นำในการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง

พร้อมกับเสนอว่าการคิดแตกต่างกันไม่ใช่อาชญากรรม

ถ้าหากไม่ได้คิดต่างกันในรั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นพื้นที่การเรียนการสอนและการแสวงหาความจริงแล้ว พื้นที่สำหรับความคิดนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มหดหายไปเช่นกัน

ทั้งนี้ โดยไม่ได้ยกเสรีภาพทางวิชาการว่ามีความสำคัญเหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน

(สรุปจาก ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 หน้า 1)

อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยอีกฝูงหนึ่งซึ่งมีไม่น้อยไม่สนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการ และไม่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง

โดยใส่ร้ายว่าผู้คิดแตกต่างจากตนเป็นคนคิดเลว และถือเป็นอาชญากรรม สมควรถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยไม่ว่าอาจารย์หรือนักศึกษา ถ้าเป็นประชาชนก็ต้องถูกจับติดตะรางขังคุก

ส่งผลให้อาจารย์และนักศึกษาที่เคยร่วมกันเป่านกหวีด ต้องถูกควบคุมให้เป่าสาก ไม่ว่าในสังคมข้างนอกมหาวิทยาลัยจะเป็นจะตายอย่างไรก็ไม่รู้สึกรู้สา ไม่อินังขังขอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook