โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ โมเดลการศึกษาปั้นนัก SME มืออาชีพ

โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ โมเดลการศึกษาปั้นนัก SME มืออาชีพ

โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ โมเดลการศึกษาปั้นนัก SME มืออาชีพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เป็นที่ทราบว่าเป้าหมายของการศึกษาคือการให้วิชาความรู้แก่ผู้เรียน เพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองในอนาคต แต่กระนั้นก็มีผู้เรียนเป็นจำนวนมากที่อยากประกอบธุรกิจของตัวเอง เพียงแต่หลายธุรกิจยังมีจุดอ่อนในการบริหารงานด้านต่าง ๆ

ผลเช่นนี้จึงทำให้ "ดร.แสงสุข พิทยานุกุล"เจ้าของผลิตภัณฑ์เวชสำอางสมูท อี ที่มีมานานกว่า 20 ปี ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ : The Business Incubation School ขึ้นในปีนี้

"ดร.แสงสุข พิทยานุกุล" กล่าวในเบื้องต้นว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ เพราะจากข้อมูลของแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3(พ.ศ. 2555-2559) พบว่าประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจทั้งสิ้น 2.9 ล้านราย

"โดยร้อยละ 99.60 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คิดเป็นร้อยละ 42.35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ และ 28.40 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ"

แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนด้านการบริหารจัดการธุรกิจ, ความสามารถในการพัฒนาสินค้าและบริการ, โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ความรู้, ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ และขาดโอกาสทางการตลาด และการเข้าถึงข้อมูลการตลาดเชิงลึก ส่งผลให้ยากที่จะประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อไปสู่ตลาดระดับโลก

"ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างโมเดลการศึกษาใหม่ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของการศึกษาในระบบไทย เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในระดับสูงเมื่อประกอบธุรกิจ โดยโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจเปิดการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 2 ปี และแบบไม่มีปริญญา ระยะเวลาเรียน 1 ปี แต่ได้รับประกาศนียบัตรสำหรับการอบรมระยะยาวกว่า 400 ชั่วโมง"

"ดร.แสงสุข" อธิบายเพิ่มเติมว่า ในฐานะนักธุรกิจที่มีประสบการณ์จากการเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางทั้งในประเทศ และภูมิภาคเอเชียมากว่า 20 ปี จึงอยากนำประสบการณ์ของตนเองมาสร้างประโยชน์ให้เกิดนักธุรกิจรุ่นต่อ ๆ ไป

"ผมดำเนินการบริหารโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจในรูปแบบขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร คือผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาตามหลักสูตรโดยยังไม่ต้องชำระเงินจนกว่าผลประกอบการของธุรกิจของผู้เรียนแสดงยอดกำไรสุทธิหลังหักภาษีเป็น 200,000 บาทต่อเดือน แล้วค่อยทยอยชำระค่าเล่าเรียนเพราะเราต้องการมอบโอกาสการเรียนรู้ และประกอบอาชีพให้กับคนไทย"

"เราต้องการมุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง และสร้างแรงจูงใจ (Uniqueness & Differentiation) ให้ผู้เรียน และมีเครือข่ายธุรกิจที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ โดยการเรียนการสอนจะแบ่งกลุ่มละ5-6 คน เพื่อให้เป็นการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเข้มข้น โดยจะสอนวิชาทั่วไปตามหลักสูตรปริญญาโท ทั้งยังเน้นพิเศษเรื่องการบริหารคน (HR), การเงินการบัญชี, การตลาด, การผลิตและเทคโนโลยี และการดำเนินงานต่าง ๆ"

"เพราะการทำธุรกิจใด ๆ มักจะประสบปัญหาเรื่องเหล่านี้ เราจึงให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจจริง ๆ มาสอนเทคนิคต่าง ๆ เพื่อเป็นการบ่มเพาะธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านทฤษฎี จนทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างรอบด้านและครบถ้วน"

ส่วนการคัดเลือกผู้เรียน "ดร.แสงสุข" บอกว่า เราดูที่ความมุ่งมั่นของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งยังพิจารณาจากแผนธุรกิจที่ผู้เรียนเขียนส่งมา เราเปิดรับผู้เรียนตั้งแต่อายุ 25-40 ปี ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ต้องการความมั่นใจในการทำธุรกิจ

"โดยรุ่นแรกเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าร่วมหลักสูตรละ 50 คน และคาดว่าจะเปิดหลักสูตรแบบไม่มีใบปริญญาในเดือน มิ.ย. 2558 และเปิดหลักสูตรแบบมีใบปริญญาในเดือน ส.ค. 2558 ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับนักศึกษามาก แต่โมเดลนี้จะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ใหม่ ให้กับวงการการศึกษาอย่างแน่นอน"

ทั้งนี้การเรียนการสอนจะมีอาจารย์ที่เป็นมืออาชีพ พร้อมกับมีนักบ่มเพาะธุรกิจที่อยู่ในวงการธุรกิจจริง ๆ กว่า 25 ท่าน มาทำหน้าที่เป็นครู และที่ปรึกษาให้กับผู้เรียน อาทิ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน), ดร.ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร-ด้านพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่/ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด เป็นต้น

สำหรับโค้ชธุรกิจตัวจริงที่จะเข้ามาปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่าง "ดนัย จันทร์เจ้าฉาย" กล่าวว่า ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เล็งเห็นว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับตลาดแรงงานในประเทศไทยคือเมื่อผลิตบัณฑิตแล้ว ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที เพราะระบบการศึกษาของเราเน้นการท่องจำและทฤษฎีมากเกินไป

"โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจจึงน่าจะเป็นรูปแบบที่ดีแก่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นสถาบันวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นองค์กรธุรกิจด้วย คณะไหนมีความนิยมมากก็ตั้งคณะขึ้นมา และจ้างอาจารย์เข้ามาสอน แต่สิ่งสำคัญคือผู้สอนต้องมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอ"

"สถาบันการศึกษาที่ดีต้องเน้น 3 ฐานคือ ฐานกาย, ฐานจิต และฐานความคิด แต่กระนั้นก็จะต้องลงมือปฏิบัติจริง ๆ ด้วยนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรานำนักธุรกิจมืออาชีพเข้ามาสอน เพราะเราอยากให้ผู้เรียนรู้จริง เมื่อรู้จริง เขาจะก้าวมาสู่การรู้จำ และรู้แจ้งในที่สุด"

จึงนับว่าโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจเป็นการศึกษาต้นแบบทางด้านการไปประกอบอาชีพทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ที่ไม่เพียงจะสร้างเครือข่ายธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ ๆหากยังช่วยสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook