"มูลนิธิยุวพัฒน์" เพื่อเด็กยากไร้ หัวใจไม่ยอมแพ้

"มูลนิธิยุวพัฒน์" เพื่อเด็กยากไร้ หัวใจไม่ยอมแพ้

"มูลนิธิยุวพัฒน์" เพื่อเด็กยากไร้ หัวใจไม่ยอมแพ้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีใครเข้าใจประโยคเชยๆ อย่าง "คนเราเลือกเกิดไม่ได้" มากไปกว่าคนที่เลือกเกิดไม่ได้จริงๆ

จะทำอย่างไรหากเกิดมาในครอบครัวที่ "การศึกษา" คือเรื่องที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ในแต่ละวันต้องใช้ชีวิตวนเวียนกับคำถามที่ว่า "วันนี้จะเอาอะไรกิน?" "วันนี้จะมีงานให้ทำไหม?" "วันนี้จะออกไปรับจ้างทำอะไรดี?" มีรายได้แค่พอต่อชีวิตไปวันๆ

โชคดีที่อยู่ในโชคร้ายคือความยากลำบากจะช่วยหล่อหลอมให้เด็กๆ เหล่านี้มีหัวจิตหัวใจที่เข้มแข็ง เราจึงมีโอกาสได้เห็นเด็กหญิงหรือเด็กชายในชุดนักเรียนเก่าๆ ออกไปตระเวนรับจ้างใช้แรงงานแลกเงินเพื่อต่ออนาคตทางการศึกษาให้กับตัวเอง

ในขณะที่เด็กบางคนมีหน้าที่เรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเด็กอีกหลายๆ คนต้องดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ เพราะรู้ดีว่ามีแต่ "การศึกษา" เท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมแห่งความจนที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

ประเทศของเรายังมีความยากจนในแบบที่ชนชั้นกลางทั่วไปนึกไม่ถึง เด็กบางคนไม่ได้รับโอกาสให้ทำดินสอยางลบหาย เพราะมีค่าเท่ากับการรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นเวลานับชั่วโมง เพื่อแลกกับเงิน 10 บาท

นี่คือเหตุผลที่ทำให้องค์กรเพื่อสังคมอย่าง "มูลนิธิยุวพัฒน์" ถือกำเนิดขึ้น เพื่อนำเงินจากการลงขันของคนในสังคมไปมอบให้กับเด็กยากไร้ ถึงจนเงินแต่ไม่จนใจที่จะศึกษาเล่าเรียน

โดยเฉลี่ยแล้ว เด็ก 1 คน ต้องการเงิน 600 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเป็นค่าอาหารที่โรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น มันคือเงินที่จะสร้างชีวิตใหม่ให้กับเด็กๆ

เพราะในบางกรณี เด็กเหล่านี้คือคนแรกของตระกูลที่อ่านออกเขียนได้ แล้วจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าการศึกษาไม่ใช่เครื่องมือพลิกชีวิตที่จะพาพวกเขาออกมาจากความยากจน

ไม่ใช่แค่ชีวิตของเด็ก แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาทั้งในปัจจุบัน และครอบครัวในอนาคต เป็นการหยุดยั้งสภาวะยากจน และมันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในที่สุด นั่นคือความเชื่อของมูลนิธิยุวพัฒน์ ได้รับการถ่ายทอดโดยผู้อำนวยการคนปัจจุบัน "คุณโมนา ศิวรังสรรค์"

ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่นี้ เธอคือสาวนักเรียนนอก เคยทำงานให้กับบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคระดับนานาชาติ มีทางเลือกมากมายในชีวิต แต่เธอเลือกที่นี่เพราะมันคือส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างสิ่งที่ชอบ สิ่งที่เชื่อ และสิ่งที่ใช่

การทำงานในลักษณะที่ไม่แสวงหากำไร ใช่ว่าจะไม่มีความกดดัน เพราะหากจะมองกันให้ลึกลงไป เดิมพันสูงสุดของมูลนิธิฯ คืออนาคตของเยาวชนผู้ยากไร้ และจากการสำรวจ พบว่าเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพราะความยากจน มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคนทั่วประเทศ

ถือเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนากว่าการคิดถึงกำไรขาดทุนหลายเท่าตัว เพราะในปีนี้ ทางมูลนิธิได้รับเงินบริจาคเพียงพอสำหรับ 700 คน จากจำนวนเด็กยากไร้ที่รอความช่วยเหลือ 1,200 คน

...เท่ากับว่าอนาคตทางการศึกษาของเด็กอีก 500 คนยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ถึงอย่างนั้น ผอ.โมนาและเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ทุกคนก็ยังไม่ถอดใจ

"จริงๆ แล้วไม่ว่าเราจะทำงานอะไร เราก็ต้องเจอกับความเหนื่อย ความท้าทาย ปัญหาและอุปสรรคอยู่แล้ว แต่หากเราเหนื่อยจากงานที่เราทำ แล้วมีใครบางคนที่ได้ประโยชน์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเด็กๆ ที่ขาดโอกาส เราก็รู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะทำ"

ผอ.โมนาเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธอและเจ้าหน้าที่ในมูลนิธิฯ ชื่นใจมากที่สุด คือการได้เห็นเด็กๆ เหล่านั้นเติบโต ประกอบอาชีพสุจริต ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้ และกลายมาเป็นผู้ส่งต่อโอกาสให้แก่เด็กรุ่นหลัง

"สิ่งที่เขาได้รับจากคนในสังคม ไม่ใช่แค่เงินทุนการศึกษา แต่มันทำให้เขาเห็นคุณค่าของ "โอกาส" ดังนั้น เมื่อมีกำลังพอเขาก็จะสนับสนุนรุ่นน้องต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้ "กองทุนพี่ให้น้อง" มีปริมาณมากขึ้นทุกปี แต่ปริมาณไม่ใช่ประเด็นนะคะ มันสำคัญตรงที่เขาเปลี่ยนจาก "ผู้รับ" มาเป็น "ผู้ให้" แล้วต่างหาก"

นี่คือการซื้ออนาคตให้กับอนาคตของชาติ ด้วยเงินเพียงแค่ 600 บาทต่อเดือน

หนึ่งในคนที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คงจะเป็น "จ่าสิบเอก อัมรุต อุ่นหล้า" หรือ "เอ็ม" อดีตนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์

"จ่าเอ็ม" ทหารหนุ่มร่างเล็ก หัวใจใหญ่ คือคนที่ยกมือเสนอตัวลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งเห็นเพื่อนร่วมอาชีพประสบเหตุมากเท่าไร ยิ่งทำให้เขาอยากไปมากเท่านั้น เพราะชายชาติทหารไม่ควรปฏิเสธหน้าที่ที่มีต่อบ้านเมือง และมันคือวิธีตอบแทนสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง

"ทำงานนี้ เราต้องตัดประเด็นเรื่องความกลัว ผมเป็นคนเชียงราย แต่ผมอยู่ได้ทุกที่ครับ อาจจะเป็นข้อดีของคนที่เคยลำบากมาก่อน คือลำบากกว่านี้เราก็อยู่รอดมาได้"

อดีตของจ่าเอ็มไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ ที่ได้รับทุนเท่าไรนัก เมื่อครอบครัวขาดเสาหลักอย่างกะทันหัน คนที่ยังอยู่ก็ต้องดิ้นรนออกไปทำงานรับจ้างเท่าที่พอจะทำได้เพื่อเลี้ยงปากท้อง ตัวเขาเองในวัยนั้น ทำได้เพียงรับจ้างล้างจาน

การทำงานตั้งแต่อายุ 11 ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกลำบาก เพราะชีวิตของเขาไม่ได้สุขสบายมาแต่แรก เงินเดือนของพ่อที่เคยได้รับสำหรับเลี้ยงดู 5 ชีวิตในครอบครัว ก็เพียงแค่ 4,000 บาท

เขาจำใจเลิกคิดเรื่องเรียนต่อ เพราะพี่สาวทั้ง 2 คนต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานรับจ้าง ตัวเขาเองมี 2 ทางเลือก คือทำเหมือนพี่สาว หรือบวชเณรเพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว

ก่อนที่ประตูแห่งโอกาสทุกบานจะปิดลง มูลนิธิยุวพัฒน์ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยได้ทันเวลา เขาใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างรู้คุณค่า ปั่นจักรยานไปโรงเรียน ห่อข้าวจากที่บ้านไปกิน แวะซื้อแคปหมูราคา 5 บาทระหว่างทางทุกวัน มันคือที่มาของฉายา "เอ็ม แคปหมู" ที่เพื่อนๆ เรียก

"ผมชอบฉายานี้นะ มันทำให้เห็นว่าเราผ่านอะไรมา ความจน ความลำบากมันทำให้เราเสียศูนย์ แต่ถ้าเราอยากสู้ต่อ ก็มีคนพร้อมจะช่วยเหลือ มันเลยทำให้เราลุกขึ้นมาได้"

ความฝันของจ่าเอ็มคือการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ไม่เจริญ เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาสเช่นเดียวกับตัวเขาเองในอดีต ถึงจะเปลี่ยนชีวิตใครไม่ได้ แต่ก็อยากช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้นขยับเข้าใกล้มาตรฐานมากขึ้น

"มูลนิธิยุวพัฒน์ให้ชีวิตใหม่กับผม เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์คือโอกาสที่ทำให้ผมมาไกลถึงจุดนี้ ถ้าตอนนั้นไม่มีมูลนิธิฯ ผมคงลาออกไปรับจ้างล้างจาน แล้วก็มีชีวิตแค่นั้น อย่างดีที่สุดก็บวชเณร คงไม่มีเงินมาดูแลแม่อย่างทุกวันนี้" จ่าเอ็มย้ำอีกครั้ง

เขาคือทหารหนุ่มผู้โหยหา "ความไม่เจริญ" เพื่อแบ่งปันสิ่งที่เคยได้รับกลับคืนไปสู่ผู้คนที่ขาดแคลน

งานของ "มูลนิธิยุวพัฒน์" ไม่ใช่การสร้างนวัตกรรมพลิกโลก แต่เป็นการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตคนตัวเล็กๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม

ขึ้นชื่อว่า "การให้" มันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วในตัวเอง และเมื่อได้ให้อย่างถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา มันจะเป็นการให้ที่สมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีใครรู้ซึ้งถึงคุณค่าของ "โอกาส" มากไปกว่าคนที่ต้องการมันมากที่สุด


ร่วมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาให้กับเด็กยากไร้ได้ที่นี่


ขอขอบคุณภาพประกอบจากมูลนิธิยุวพัฒน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook