ชะตากรรมของเด็กผู้ลี้ภัย ความใฝ่ฝัน การศึกษาเเละสิทธิที่หายไปจากสังคม

ชะตากรรมของเด็กผู้ลี้ภัย ความใฝ่ฝัน การศึกษาเเละสิทธิที่หายไปจากสังคม

ชะตากรรมของเด็กผู้ลี้ภัย ความใฝ่ฝัน การศึกษาเเละสิทธิที่หายไปจากสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา ประชาชาติฯออนไลน์ : รายงาน

"ตอนนี้ฉันมีใบอนุญาตฯการผดุงครรภ์และได้รับประกาศนียบัตรจากโครงการเรียนโดยใช้ภาษาอังกฤษ แต่ฉันจะไม่มีอะไรเลยถ้าฉันกลับไป เพราะฉันไม่มีประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัย ก็เลยเป็นเรื่องยากมากที่จะสมัครงาน โอเค ฉันทำงานเป็นแม่บ้านก็ได้ แต่มันไม่ใช่ความฝันของฉันเลย"

เอสเตอร์ ฮูตู เด็กสาวผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง กล่าวถึงอนาคตของเธอกับอุปสรรคด้านการรับรองการศึกษาในค่ายอพยพที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากระบบการศึกษาของประเทศเมียร์มาร์ ถึงแม้เธอจะเคยทำงานด้านผดุงครรภ์ให้กับคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวอเมริกันเป็นเวลาถึง2ปีและมีทักษะภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม ทว่าเมื่อเธอกลับไปประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเธอแล้ว กลับได้ทำงานใช้แรงงานทั่วไปเท่านั้น และนั่นไม่ใช่ความใฝ่ฝันของเธอ รวมถึงไม่ใช่ความใฝ่ฝันของเด็กในค่ายอพยพทุกคนด้วย พวกเขาอยากนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

"ดูมือของพวกเราสิ มือของพวกเราสวยงามด้วยนิ้วที่ต่างกัน แล้วลองดูประเทศของเราบ้าง เราประกอบด้วยชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่หากเราทุกคนสามารถทำงานได้โดยปราศจากการกดขี่ใดๆ ถ้าแต่ละคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อการพัฒนาประเทศของเราก็จะเป็นสิ่งที่ดี่สุด" ซอ คลอ วา ครูในค่ายผู้ลี้ภัยทางภาคเหนือของประเทศไทยกล่าว

จากปัญหาความขัดแย้งที่ยาวนานหลายทศวรรษ ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาร์ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยถือว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานการณ์ด้านการลี้ภัยที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีผู้อพยพลี้ภัยราว 110,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า

เป็นที่น่าตกใจว่า ในจำนวนนั้น เป็น "เด็กผู้ลี้ภัย" กว่า 30,000 คน ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน 80 แห่งที่ตั้งอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย โดยมีครูผู้สอนทั้งหมดประมาณ 1,500 คน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการศึกษาจากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ

ภาพยนตร์สั้นเรื่อง "การศึกษา: ต่อเติมฝันเด็กผู้ลี้ภัย" (Recognize Our Education: Realize Our Dreams) ที่ได้ยกเสียงของเด็กและครูผู้ลี้ภัยขึ้นมานำเสนอ โดยเด็กผู้ลี้ภัยได้พูดถึงความไฝ่ฝันของตนในอนาคตและความกลัวที่จะต้องเข้ารับการทดสอบวัดผลตามหลักสูตรที่พวกเขาไม่คุ้นเคยและไม่เคยเรียนมาก่อนส่วนครูของเด็กๆเหล่านี้กล่าวถึงความต้องการที่จะสอนหนังสือต่อไปหากพวกเขากลับสู่ประเทศเมียนมาร์ และยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาและความปลอดภัยของนักเรียนของตนหากการศึกษาของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับเมื่อกลับสู่ประเทศบ้านเกิด

นำเสนอโดยนายทิโมที สิโรตาช่างภาพและผู้สร้างภาพยนตร์ฝีมือดี ที่มีผลงานเกี่ยวกับเผยแพร่เกี่ยวกับปัญหาด้านสังคมการเมือง และมนุษยธรรมทั้งในประเทศเมียนมาร์และบริเวณชายแดนไทย-พม่าในประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัย ทุ่นระเบิด นักโทษทางการเมือง สุขภาพของมารดา และการลักลอบค้าช้าง

ซึ่งนาย สิโรตา เคยได้รับรางวัลและคำยกย่องจากนานาชาติจากการทำภาพข่าวสารคดีและเป็นผู้เขียนเรื่อง ′ยินดีต้อนรับสู่ประเทศพม่า ขอให้ท่านเพลิดเพลินกับประสบการณ์ภายใต้ระบอบเผด็จการ (Welcome to Burma and Enjoy the Totalitarian Experience) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ออร์คิด เพรส ปีพ.ศ. 2544 โดยเขามุ่งสนใจถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้นับตั้งแต่ที่เขาได้เดินทางไปยังประเทศเมียนมาร์ในปี พ.ศ. 2540 และได้กำกับภาพยนตร์กว่า 20 เรื่อง

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาจัดการระบบการศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัย โดยระบบการศึกษาเหล่านี้ตอบสนองความต้องการเรียนภาษาและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนผู้ลี้ภัยซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กผู้ลี้ภัยรวมถึงคุณวุฒิทักษะและประสบการณ์ของครูผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศใดเลย

โดยมีหลากหลายประเด็นที่ทำให้ระบบการศึกษาของเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยมีปัญหาและยิ่งน่ากังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อเด็กๆ เหล่านั้นจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศบ้านเกิดในเร็ววันนี้ ซึ่งทางองค์กรช่วยเหลือเด็กจึงได้ผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาร์ยอมรับการศึกษาของเด็กและครูผู้ลี้ภัย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงการศึกษาและมีงานที่ดีทำเมื่อกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ


"ฉันอยากเป็นสถาปนิกซึ่งเป็นสาขาของวิศวกรรมที่ต้องเก่งคณิตศาสตร์ฉันก็เลยพยายามเรียนคณิตศาตสตร์ให้เก่งที่สุด"
"ถ้าฉันได้เป็นหมอฉันจะช่วยรักษาคนในชุมชนของฉัน"
"ฉันอยากเป็นครู คนรุ่นต่อไปจะได้อ่านออกเขียนได้และมีการศึกษา"

เด็กๆผู้ลี้ภัยกล่าวถึงความฝันของตนเองด้วยสายตาอันมุ่งมั่นแต่แฝงไปด้วยความเศร้า เพราะในใจพวกเขาก็รู้ดีว่าในสังคมข้างนอกนั้นยังไม่ได้ยอมรับระบบการศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ ความใฝ่ฝันของพวกเขาก็ดูจะต้องฝ่าฝันอุปสรรคไปด้วยความยากลำบาก

"นักเรียนแทบไม่ต้องท่องจำเลยนะเพราะพวกเขาต้องคิดและวิเคราะห์ว่าจะสนองต่อสิ่งที่เรียนได้อย่างไรและวิชาที่ผมได้เรียนก็เป็นวิชาที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน เช่นการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและวิธีที่จะได้มาซึ่งสันติภาพ ประเด็นเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมาร์" เนง ออง นักเรียนผู้ลี้ภัยกล่าวถึงคุณภาพการศึกษาในค่ายผู้อพยพที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และเด็กๆก็ชื่นชอบการเรียนการสอนในลักษณะนี้ซึ่งแตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก

"ผมกลับไปที่เมียนมาร์และพยายามเข้าเรียนในระดับเกรด10อาจารย์ใหญ่บอกว่าผมจะต้องสอบให้ผ่านทุกวิชาในระดับ9ก่อนผมก็เลยพยายามตั้งใจเรียนอย่างหนัก แต่หลักสูตรเกือบทุกวิชาแตกต่างจากที่ผมเรียนมาก จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม เช่นวิชาคณิตศาสตร์ที่มีตั้ง 12 บทและมีเวลาเรียนเพียงเดือนเดียว ผมไม่มั่นใจก็เลยสอบตก ผมก็เลือกกลับมาที่ค่าย" ฮซาร์ คมู หนึ่งในนักเรียนในค่ายอพยพกล่าว

"มันไม่ยุติธรรมเลย น้องชายผมเรียนอยู่เกรด 7 ถ้าถูกส่งไปเรียนในระดับเดียวกัน ผมคงอายมาก และถ้าคนอื่นเห็นเข้า ผมจะเสียใจมาก จนไม่อยากไปโรงเรียนเลย" นักเรียนคนหนึ่งกล่าว

"ถ้าการศึกษาของเด็กๆ ไม่ได้รับการยอมรับและพวกเขาต้องเริ่มเรียนใหม่ พวกเขาอาจจะต้องจบลงด้วยการทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีแต่จะสร้างปัญหาให้กับประเทศมากขึ้นในอนาคต นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอก" คพอ ชี ครูในค่ายอพยพกล่าว

สำหรับการที่จะมีคุณสมบัติที่จะเป็นครูในประเทศเมียนมาร์ได้นั้น ในปัจจุบันผู้สมัครครูจะต้องจบการศึกษาระดับมัธยมปลายและได้รับใบประกาศวิชาชีพครูจากวิทยาลัยที่ได้รับรองในประเทศเมียนมาร์ทำให้ครูที่สอนในค่ายอพยพที่ไม่ได้รับการรับรองจากภาคการศึกษาของทางการไมสามารถกลับไปเป็นครูที่บ้านเกิดของตนเองได้แม้ว่าพวกเขาจะมีความรู้ความสามารถก็ตาม

"ถ้ารัฐบาลให้โอกาสผู้ลี้ภัยศึกษาต่อและมีอิสระในด้านการศึกษารวทมทั้งยอมรับวัฒนธรรมของคนเหล่านี้ผู้ลี้ภัยทุกคนจะรู้สึกขอบคุณและจะต้องการจะทำประโยชน์ให้กับประเทศเป็นการตอบแทนด้วยพวกเขาจะซาบซึ้งที่ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเช่นกัน"เอเอ ทิน ครูในค่ายผู้ลี้ภัยกล่าว

การกลับไปทำประโยชน์ให้ประเทศเมียนมาร์ เหล่าผู้ลี้ภัยที่รอสร้างฝันให้เป็นจริงเหล่านี้ จะสามารถช่วยนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้ หากพวกเขาได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีสิทธิเท่าเทียม เมื่อพวกเขาหวนคืนสู่บ้านเกิด

ในงานเสวนาเรื่อง ′การศึกษาของผู้ลี้ภัย : สิทธิเด็กที่ขาดหายไปจากสังคม′ ซึ่งจัดโดยองค์การช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) กล่าวถึงประเด็นสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในค่ายชั่วคราว 9 แห่ง บริเวณชายแดนไทย-พม่า ซึ่งจะต้องย้ายกลับสู่ประเทศเมียนมาร์ในเร็ววันนี้

นางแอนเดรีย คอสตา ตัวแทนจากองค์การช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) เสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาว่า รัฐบาลไทยควรมีการประสานงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อจัดระบบการศึกษาที่เอื้อให้เด็ก สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมเมียนมาร์ได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัย อาจจะยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเมียนมาร์ดี หากสามารถแก้ไขปัญหาให้เด็กกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคมได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จากต้นทางได้

ทั้งนี้ ทางองค์การช่วยเหลือเด็กได้ทำการสำรวจพบว่า ทางประเทศเมียนมาร์ไม่มีนโยบายที่จะให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้ารับการศึกษา โดยสถานศึกษาบางแห่งมีการปฏิเสธการรับเข้าศึกษาต่อ รวมถึงเด็กนักเรียนบางคน ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม จึงจะเข้าศึกษาต่อได้ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

นาย ลอ เอ มู ตัวแทนจากแผนกการศึกษาของชาวกะเหรี่ยงกล่าวว่า อยากให้ทางเมียนมาร์เปิดเวทีให้ชนกลุ่มน้อยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ เข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงในสภา และอยากให้ทุกภาคฝ่ายช่วยสนับสนุนให้มีการรับรองการศึกษาในค่ายผู้ลี้ภัยให้สามารถกลับไปรวมกับสังคมเดิมได้และได้รับการรองรับทางวิชาชีพจะเป็นการนำความหวังมาให้คนหนุ่มสาวมาร่วมพัฒนาประเทศไม่ใช่ผลักดันให้พวกเขาเข้าสู่การทำงานที่ผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องการประท้วงของนักศึกษาเมียนมาร์ที่มีนักศึกษาจำนวนมากถูกจับกุมไปนั้นทางเราได้แถลงการณ์ประณามการกระทำนั้นและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ให้เร็วที่สุด และควรมีการเจรจาเพื่อสันติภาพ

สำหรับในเรื่องการขัดแย้งในเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น นายลอ เอ มู กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองยังไม่คุ้นเคยกับการที่ทางรัฐบาลเมียนมาร์ได้ส่งครูจากพื้นที่อื่นเข้ามาสอนในชุมชนของพวกเขา ซึ่งครูเหล่านั้นไม่ได้มีความเข้าใจในภาษา และไม่รู้จักวัตฒธรรมท้องถิ่นของพวกเขาดีพอ อีกทั้งการเดินทางมาสอนยังเรียกค่าเดินทางและค่าที่อยู่อาศัยและอาหารการกินจากพวกเขาด้วย และในบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งในชุมชนด้วย

นายทิโมที สิโรตา ช่างภาพและผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เชี่ยวชาญประเด็นสังคมในเมียนมาร์ กล่าวว่า จากการที่เขาทำงานศึกษาประเด็นปัญหาด้านสังคม การเมือง และมนุษยธรรมทั้งในประเทศเมียนมาร์และบริเวณชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และได้กำกับภาพยนตร์กว่า 20 เรื่อง พบว่า รัฐบาลกลางของเมียนมาร์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประชากรอย่างจริงจังและจริงใจ หลายครั้งที่มีนโยบายที่ไม่โปร่งใส และไม่ปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบาย และละเมิดสิทธิมนุยชนขั้นพื้นฐาน คิดว่าการกำหนดหลักสูตรการศึกษาโดยไม่ปรึกษา ไม่รับฟังความเห็นของกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยเลยนั้น เป็นการถอยหลังเข้าคลองมากกว่าเป็นการเดินหน้าปฎิรูป

นายสิโรตา เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว ตอนที่ทำงานในเมืองหลวงของเมียนมาร์ว่า เขาได้เห็นหนังสือเรียนของรัฐบาลเมียนมาร์มีการเผยเพร่ตีพิมพ์ในหลายภาษา ตามภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในเมียนมาร์ ตอนแรกเขารู้สึกดีใจมาก แต่พอมาทราบภายหลังว่ารัฐบาลเมียนมาร์จัดทำหนังสือแบบเรียนเหล่านี้โดยที่ไม่ให้กลุ่มเจ้าของภาษานั้นๆเข้ามามีส่วนร่วมเลยเขารู้สึกผิดหวังและคิดว่าการกำหนดหลักสูตรการศึกษาโดยที่ไม่รับฟังความเห็นของกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยเลยนั้นเป็นการถอยหลังเข้าคลองมากกว่าที่จะเป็นการเดินหน้าปฎิรูป

เหล่านี้คือมุมมองที่ถูกถ่ายทอดให้เห็นการศึกษาของผู้ลี้ภัย...สิทธิเด็กที่ขาดหายไปจากสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook