ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)

ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)

ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ Education Ideas โดย ดร.ไกรยศ ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

จากการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดย World Economic Forum หรือ WEF ในปี 2557 ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ ซึ่งเป็นลำดับที่ดีขึ้น 6 อันดับ โดยมีจุดแข็งคือ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และการพัฒนาการเงิน แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือคุณภาพระบบการศึกษาอยู่อันดับที่ 87 ซึ่งเป็นอันดับถดถอยลงถึง 9 อันดับจากปี 2556

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD เปรียบเทียบใน 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบคือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของเอกชน และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงการศึกษาในปี 2557 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ลดลง 2 อันดับ โดยระบบการศึกษาไทยเป็นปัจจัยฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเช่นกัน

ที่สำคัญคือความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งพบว่าอาชีพที่เด็กจะไปประกอบอาชีพในอนาคตกว่า 65% ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาบัณฑิตตกงานรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า บัณฑิตจบ ป.ตรี มีแนวโน้มการตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ 1.6-1.7 แสนคน จากปัจจุบันที่มี 1.45 แสนคน โดยเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการถึงผลผลิตแรงงานไทยในปัจจุบันพบว่า ยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ การใช้ไอที การคิดคำนวณ ความคิดสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำ เป็นต้น

ปัญหาที่พบจึงเป็นปรากฏการณ์เด็กจบใหม่หางานทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน นายจ้างไม่สามารถหาคนงานที่ต้องการเข้ามาทำงานได้ นั่นคือสถานการณ์การว่างงานชั่วคราว "Frictional Unemployment" จึงได้เกิดผลงานวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ในปี 2553

ซึ่งได้ศึกษาวิจัยปัญหาดังกล่าวในระดับนานาชาติ และแนะนำให้มีการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องออกแบบร่วมกับความต้องการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเชื่อมโยงกับความต้องการแรงงานในอนาคต

คำถามที่ตามมาคือจะพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพได้อย่างไร ?

ขณะที่ประเทศไทยยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษายังมีเด็กไทยที่อยู่นอกระบบการศึกษาถึง 2 ล้านคน และเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกถึง 2 ล้านคน จากการคำนวณโดย "ดร.นิโคลลัส เบอร์เนตต์" อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ชี้ว่าปัญหาเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไทยสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 330,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเทียบได้กับงบประมาณสร้างรถไฟฟ้า 2 สายต่อปี

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก และเยาวชนอย่างไร เมื่อเด็กและเยาวชนถึง 60% ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ม.6/ปวช. หรือต่ำกว่า

มีกรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกา ในรัฐฟลอริดาที่จัดทำระบบการเรียนการสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนมัธยมปลายสามัญ เพื่อฝึกงานจริงกับว่าที่นายจ้าง และเปิดสอนหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียน หรือที่เรียกว่า "Career Academies" ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วม 8,000 แห่งทั่วประเทศ นักเรียนจำนวน 1 ล้านคน โดยสามารถลดอัตราการออกกลางคันจาก 32% เหลือ 21% อัตราจบสูงขึ้น 90% มีรายได้สูงกว่านักเรียนที่จบปกติ 11%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook