เทรนด์ใหม่โซเชียล จิตแพทย์เตือนวัยรุ่น "รับสมัครFC" อันตราย เสี่ยงสัมพันธภาพเหลว

เทรนด์ใหม่โซเชียล จิตแพทย์เตือนวัยรุ่น "รับสมัครFC" อันตราย เสี่ยงสัมพันธภาพเหลว

เทรนด์ใหม่โซเชียล จิตแพทย์เตือนวัยรุ่น "รับสมัครFC" อันตราย เสี่ยงสัมพันธภาพเหลว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กำลังเกิดกระแสใหม่ที่กำลังมาแรงในหมู่วัยรุ่น โดยมีการกระจายในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการ เปิดรับสมัครแฟนคลับ (FC) ของวัยรุ่นตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป โดยมีการโพสต์ รวมทั้งถ่ายเป็นคลิปวิดีโอลงในสังคมยูทูบ เพื่อเชิญชวนให้มาเป็นแฟนคลับ โดยมีกฎกติกาต่างๆ อาทิ สามารถส่งของให้ได้ทุกเดือน หากส่งของให้จะตั้งให้เป็นเพื่อนรักหรือเอฟซีดีเด่น ที่สำคัญวัยรุ่นเหล่านี้กล้าที่จะโพสต์ที่อยู่ของตนเอง จนหลายคนกังวลว่า กระแสดังกล่าวจะเป็นดาบสองคมหรือไม่

พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ในวัยนี้จะเป็นช่วงที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งวิธีการมีทั้งแบบเชิงบวก คือ ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีมีวินัย มีความรับผิดชอบ ช่วยงานบ้าน มีกิจกรรมที่เป็นที่ยอมรับอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับเพื่อนๆ ในขณะที่เด็กบางคนก็จะมีวิธีการสร้างจุดสนใจผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งอย่างกรณีนี้ก็ต้องระมัดระวัง เนื่องจากหากใช้โซเซียลมีเดียเกินขอบเขตอาจส่งผลกระทบต่อตนเองตามมาได้ เนื่องจากการโพสต์ข้อความและแสดงข้อมูลส่วนตัว การโพสต์รูปภาพของตนเองในอิริยาบทต่างๆ รูปโป๊ ย่อมมีผลกระทบในเชิงลบที่ตามมาได้ อาทิ ปัญหาการถูกล่อลวง ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ การถูกตำหนิ นินทาจากสังคม เรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหันมาใส่ใจ และดูแลมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าการเล่นโซเซียลไม่ได้ก่ออันตราย แต่หากไม่ระมัดระวังอาจส่งผลกระทบ จึงต้องมีกฎกติกา ขอบเขตในการเล่น แนะนำการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่เหมาะสม หรือควรเบี่ยงเบนชักชวนบุตรหลานไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ตลอดจนการชักนำให้ทำงานอดิเรกที่สร้างสรรค์ เป็นต้น

"จริงๆแล้วการเล่นลักษณะนี้ก็เหมือนเป็นการตามกระแส เห็นเพื่อนเล่นก็เล่นตาม แต่หากไม่ระมัดระวัง เล่นจนติดเกินขอบเขตจะส่งผลต่อการพัฒนาอัตลักษณ์ตัวเอง อาทิ ส่งผลกระทบต่อการสร้างสัมพันธภาพในชีวิตจริง เนื่องจากจะทำให้ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะที่ผ่านมาจะแสดงออกผ่านโลกโซเซียลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน และที่สำคัญอาจได้รับอันตรายจากบุคคลที่ไม่หวังดี เพราะอย่าลืมว่าโซเซียลมีเดียมีทั้งดีและไม่ดี เหมือนดาบสองคม "พญ.ทิพาวรรณ กล่าว

ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ด้านเด็กและสื่อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กระแสการรับสมัคร FC เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ 6-7 เดือนก่อน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่เริ่มแพร่หลายขึ้นมากในสังคมออนไลน์ในช่วง 1-2 เดือนมานี้ ซึ่งการรับสมัคร FC นั้นเป็นการใช้สื่อออนไลน์ 2 ชนิดร่วมกัน คือ ยูทิวบ์ และ เฟซบุ๊ก โดยผู้รับสมัครจะถ่ายคลิปตนเองอธิบายกฏเกณฑ์การรับสมัครสมาชิกแบบต่างเพื่อเป็นแฟนคลับของตนเองลงในยูทิวบ์แล้วแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊กเพื่อให้เพื่อนๆได้รับรู้เป้าหมายหลักเพื่อให้ตนเองได้มีแฟนคลับเป็นของตัวเองหรือส่งของขวัญเช่น พวงกุญแจ มาให้เพื่อตนยืนยันการเป็นแฟนคลับ ซึ่งจากการสังเกต พบว่าคลิปเกือบทั้งหมดเป็นเด็กผู้หญิง อายุเฉลี่ยเพียง 10-15 ปีเท่านั้น หรือเป็นวัยที่เริ่มเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ มาไม่นานนั่นเอง

นพ.วรตม์ กล่าวว่า สาเหตุที่เด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้ มองว่าเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ตัวเด็กเอง ซึ่งช่วงวัยนี้อยู่ในวัยกำลังพัฒนาภาพลักษณ์และความภูมิใจในตัวเอง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ประกอบกับเด็กยังขาดวุฒิภาวะและความเข้าใจในประโยชน์และโทษของสังคมออนไลน์ แต่กลับสามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์ได้แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะวิธีการใช้งานถูกพัฒนาให้เข้าใจและใช้งานง่าย เรียนรู้เพียง 15 นาทีก็ใช้เป็นแล้ว ซึ่งการใช้งานเป็นไม่ได้แปลว่า "เข้าใจ" 2.ครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาด้วยกันน้อยลง เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น ขาดการให้คำแนะนำ และการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งพ่อแม่เองกลับไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยี และ 3.ค่านิยมในสังคม มาจากภาพลักษณ์ของดาราและเน็ตไอดอลต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาด้วยภาพที่สวยหรูและฟูฟ่า ได้รับการยอมรับจากมวลชน ได้รับคอมเมนต์ชื่นชมจากแฟนคลับ มีการโชว์ของขวัญต่างๆ โดยเฉพาะเน็ตไอดอลที่โด่งดังมากขึ้น งานก็เริ่มเยอะขึ้น รายได้มากขึ้น บางครั้งอาจพัฒนาไปถึงการเป็นดารานักแสดงได้ หลายคนเห็นก็ต้องอิจฉา อยากได้ อยากเป็น และอยากมีบ้าง

"ภาพลักษณ์ที่คนทั่วไป เน็ตไอดอล หรือดารานักแสดง แสดงออกมาทางโลกโซเชียลนั้น บางครั้งก็เป็นจริง บางครั้งก็ไม่จริง บางครั้งก็จริงแต่ไม่ทั้งหมด จากงานวิจัยเฟซบุ๊กขนาดใหญ่เมื่อปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้มีแนวโน้มการแสดงข้อความด้านบวกมากกว่าด้านลบกว่า 3 เท่า เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ จะมองเห็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ชีวิตด้านดีของคนเหล่านั้นเพียงด้านเดียว ภาพเลยสวยหรูเป็นพิเศษ ทำให้เด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อเห็นตามนั้นก็จะคิดวิธีการหาแฟนคลับของตนเองบ้าง ด้วยวิธีการแบบต่างๆ กันออกไป เพื่อที่ให้ตัวเองมีชื่อเสียง มีคุณค่ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งเป็นการปูทางไปสู่เน็ตไอดอลต่อไป" นพ.วรตม์ กล่าว

นพ.วรตม์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลรุนแรงใน 2 เรื่อง คือ 1.ด้านความปลอดภัย (Internet Safety) เพราะมีเปิดเผยตัวเองชัดเจน ทั้งข้อมูลส่วนตัว เลขประจำตัวประชาชน รวมไปถึงที่อยู่ นับว่าอันตรายมาก ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ นำไปสู่การล่อลวง และอาชญากรรมต่างๆ และ 2.การถูกกลั่นแกล้งในโลกอินเทอร์เน็ต (Internet Bullying) ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่า เด็กหลายคนที่ลงคลิปถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ชมจำนวนหนึ่ง มีการใช้สำนวนดูถูกภาพลักษณ์ ถูกล้อเลียนกลั่นแกล้งเหมือนตัวตลก บางครั้งถึงขั้นถูกทำคลิปขึ้นมาล้อเลียน ก็จะทำให้เกิดความเสียใจและสูญเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตัวเด็กควรทำความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของโซเชียลมีเดียให้รอบด้านมากขึ้น เลือกรูปแบบการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ไม่พยายามขวนขวายที่จะต้องได้ ต้องมี ต้องเป็น เพราะชีวิตจริงไม่มีใครที่มีชีวิตที่สวยหรู 100% เราควรบอกตัวเองว่าแม้วันนี้จะไม่มีแฟนคลับ แต่ถ้าวันหนึ่งเราตั้งใจและพยายามจนสามารถแสดงความสามารถของตัวเองออกมาได้อย่างโดดเด่นและน่าภาคภูมิใจแล้ววันนั้นก็จะมีคนมาติดตามชื่นชมเองโดยไม่ต้องร้องขอจากใครสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลและเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดียให้ทันยุคสมัยติดตามการใช้งานของลูกหลานอย่างใกล้ชิดพูดคุยเรื่องการใช้งานอย่างเปิดอกด้วยความเข้าใจ สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ลดวัตถุนิยม สร้างความมั่นใจในตัวเองกับลูก ให้ความชื่นชมในความสามารถที่ลูกมี เพราะสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กทุกคนคือการยอมรับจากพ่อแม่ ที่เป็นแฟนคลับตัวจริงที่ลูกทุกคนต้องการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook