ถอดรหัสพันธุกรรม "แมมมอธ"สำเร็จแล้ว

ถอดรหัสพันธุกรรม "แมมมอธ"สำเร็จแล้ว

ถอดรหัสพันธุกรรม "แมมมอธ"สำเร็จแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมนักพันธุศาสตร์จากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด (จีโนม) ของช้างแมมมอธคู่หนึ่งออกมาได้ครบถ้วนสมบูรณ์ นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร "เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี" เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเป็นการเปิดทางให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะ "ชุบชีวิต" ของช้างยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วขึ้นมาได้อีกครั้งแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของแมมมอธในอดีตอีกด้วย

ช้างแมมมอธขนยาวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกบนโลกเมื่อราว700,000 ปีก่อนหน้านี้ แรกสุดพบเห็นเฉพาะในพื้นที่ไซบีเรีย แต่หลังจากนั้นก็แพร่หลายออกไปทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ จากข้อมูลในดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าแมมมอธเกิดปัญหาประชากรลดจำนวนลงถึง 2 ครั้ง ก่อนหน้าที่จะสูญพันธุ์ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 280,000 ปีก่อน อีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่ผ่านมานี่เอง เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ส่งผลให้จำนวนประชากรของแมมมอธลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว โดยมีกลุ่มสุดท้ายใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในพื้นที่ไซบีเรีย เหมือนถูกกักบริเวณอยู่อีกยาวนานเกือบ 6,000 ปีก่อนที่จะเกิดปัญหาอันเนื่องจากการผสมพันธุ์ในกลุ่มเดียวกันไปมาที่นำไปสู่การสูญพันธุ์โดยสมบูรณ์แบบในที่สุด

ความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของทีมจากฮาร์วาร์ดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกหลังจากที่เคยมีผู้ดำเนินความพยายามมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง โดยที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยในเรื่องนี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อปี 2008 ที่เป็นความพยายามถอดรหัสนิวเคลียสของเกลียวดีเอ็นเอที่ได้จากซากแมมมอธแช่แข็ง ต่อมาทีมนักวิจัยชาวเกาหลีใต้ของซูแอม ไบโอเทค รีเสิร์ช ฟาวเดชั่น ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินความพยายามในการถอดรหัสพันธุกรรมของซากแมมมอธที่พบในสภาพน้ำแข็งชั่วนาตาปีในไซบีเรียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ความพยายามที่ผ่านมาดังกล่าวเหล่านั้นทำได้เพียงแค่การถอดรหัสของดีเอ็นเอสายยาวจากซากแมมมอธตัวอย่างเท่านั้นเอง

ในขณะที่ทีมฮาร์วาร์ดเป็นทีมแรกที่สามารถถอดจีโนมในนิวเคลียสออกมาได้ทั้งหมด นอกจากนั้น ทีมจากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกทีม นำโดย ศ.จอร์จ เชิร์ช ก็ประกาศไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ประสบความสำเร็จในการนำเอารหัสดีเอ็นเอสายสั้นของแมมมอธต่อเข้ากับเซลล์ของช้างในยุคปัจจุบัน

แม้ความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมสามารถทำแผนที่พันธุกรรมทั้งหมดของแมมมอธได้ในครั้งนี้ทำให้โอกาสเป็นไปได้ที่จะสร้างแมมมอธขึ้นมาใหม่มีสูงมาก แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งยังคงไม่แน่ใจทั้งทางด้านเทคนิคเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทั้งความเหมาะสมในแง่จริยธรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ว่าความเป็นไปได้ดังกล่าวเป็นจริงได้หรือไม่

โลเวดาเลน นักพันธุศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของสวีเดน ยอมรับว่า ถ้าชุบชีวิตแมมมอธขึ้นมาใหม่ได้ก็คงดี แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นสิ่งควรทำหรือไม่กันแน่


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook