เปิดตำรา "นาซา" ค้นหา "สิ่งมีชีวิตต่างดาว"

เปิดตำรา "นาซา" ค้นหา "สิ่งมีชีวิตต่างดาว"

เปิดตำรา "นาซา" ค้นหา "สิ่งมีชีวิตต่างดาว"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายละเอียดออกมาเป็นครั้งแรกถึงแผนการค้นหา "สิ่งมีชีวิตนอกโลก" ในการสำรวจ "ยูโรปา" ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของดวงจันทร์ของโลกเรา โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับจากยานสำรวจอวกาศกาลิเลโอที่เคยเฉียดผ่านดวงจันทร์ยูโรปามา 11 ครั้งก่อนหน้านี้

การสำรวจดังกล่าวกำหนดจะมีขึ้นในทศวรรษ 2020 ภายใต้ข้อแม้ว่า ภารกิจดังกล่าวยังได้รับความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทางนาซาเชิญชวนให้มีการนำเสนอรายการอุปกรณ์ที่จะนำขึ้นไปกับยานสำรวจที่ชื่อ "ยูโรปา" เช่นเดียวกับดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี และคัดเลือก 9 อุปกรณ์ จาก 33 อุปกรณ์ที่มีการนำเสนอมา ยานยูโรปาที่จะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ถูกกำหนดให้โคจรเฉียดผ่านดวงจันทร์ยูโรปารวมแล้วกว่า 45 เที่ยว ที่ระดับความสูงแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับสูงราว 25.7 กิโลเมตร เรื่อยไปจนถึง 2,736 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปา เพื่อให้อุปกรณ์บนยานทำหน้าที่สำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นหนึ่งในดวงจันทร์อย่างน้อย 63 ดวงของดาวพฤหัสบดี ขนาดใกล้เคียงกับดวงจันทร์ของโลก นักวิทยาศาสตร์คิดว่าใต้พื้นผิวที่มีลักษณะเป็นแผ่นน้ำแข็ง เพราะความเย็นจัดนั้นมีมหาสุมทรที่อยู่ในสภาพของเหลวซุกซ่อนอยู่ และพื้นผิวมหาสมุทรดังกล่าวขรุขระ เต็มไปด้วยโขดหินใหญ่น้อย สภาพของ "น้ำ" ใต้ผิวน้ำแข็งดังกล่าวเค็มจัด คงสภาพของเหลวอยู่ได้เนื่องจากได้รับความร้อนที่ได้จากสภาวะน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงมหาศาลจากดาวพฤหัสบดี

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า สภาวะใต้เปลือกโลกที่เป็นน้ำแข็งของยูโรปาดังกล่าวนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสมสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

เพื่อพิสูจน์ข้อสมมุติฐานดังกล่าวนี้ นาซาคัดเลือกเครื่องมือ 9 ชิ้น สำหรับค้นหาหลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนยูโรปา อุปกรณ์เหล่านี้มีทั้งที่เป็นเครื่องมือในการหาหลักฐานการคงอยู่ของน้ำ, เครื่องมือเพื่อประเมินความลึกของมหาสมุทร และทำหน้าที่ถ่ายภาพความละเอียดสูงของพื้นผิวดวงจันทร์ยูโรปา ทั้งยังพยายามมองหา "น้ำพุ" ที่คิดกันว่าเกิดขึ้นเมื่อน้ำใต้ผิวเยือกแข็งของมหาสมุทรแทรกตัวผ่านรูหรือช่องปริแตกพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ และเชื่อว่าเกิดขึ้นเป็นประจำบนยูโรปา

อุปกรณ์ทั้ง 9 ชิ้น ประกอบด้วย "พลาสมา อินสตรูเมนท์ ฟอร์ แม็กเนติก ซาวดิ้ง-พิมส์" ที่ออกแบบมาเพื่อวัดความหนาของแผ่นเปลือกนอกของยูโรปาที่จับเป็นแผ่นแข็ง, วัดความลึกของมหาสมุทร และระดับความเค็มของน้ำ "อินทีเรีย คาแรคเตอไรเซชั่น ออฟ ยูโรปา ยูสซิ่ง แม็กนีโตมิเตอร์-ไอซ์แม็ก" ใช้คลื่นเสียงแม่เหล็กไฟฟ้าหลายความถี่ในการทำงานร่วมกับ "พิมส์" เพื่อคำนวณหาคุณสมบัติด้านต่างๆ ของมหาสมุทรยูโรปา

"แมปปิ้ง อิเมจิ้ง สเปกโตรมิเตอร์ ฟอร์ ยูโรปา-ไมส์" ใช้ในการประเมินชนิดของสารชีวภาพ, เกลือ, ความเป็นกรดในน้ำ, คุณลักษณะของน้ำแข็งและวัสดุอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาประเมินได้ว่าเหมาะสมต่อการมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ "ยูโรปา อิเมจิ้ง ซิสเต็ม-อีไอเอส" สำหรับถ่ายภาพพื้นผิวจากระดับความละเอียด (รีโซลูชั่น) ตั้งแต่ 0.5 เมตร ไปจนถึง 50 เมตร, "เรดาร์ ฟอร์ ยูโรปา แอสเซสเมนท์ แอนด์ ซาวดิ้ง: โอเชียน ทู เนียร์ เซอร์เฟซ-รีสัน" ซึ่งเป็นสัญญาณเรดาร์คู่ที่สามารถทะลวงผ่านแผ่นน้ำแข็ง สำหรับสำรวจคุณลักษณะของแผ่นน้ำแข็งโดยเฉพาะ, "ยูโรปา เธอมัล อีมิสชัน อิเมจิ้ง ซิสเต็ม-อี-เธมิส" อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน เช่น ปรากฏการณ์น้ำพุ, "แมส สเปคโตรมิเตอร์ ฟอร์ แพลเนทารี เอ็กซพลอเรชัน/ยูโรปา-แมสเพกซ์" สำหรับใช้สำรวจบรรยากาศยูโรปา

สองชิ้นสุดท้ายคือ "อัลตราไวโอเลต สเปกโตรกราฟ/ยูโรปา-ยูวีเอส" สำหรับตรวจสอบและเรียนรู้เกี่ยวกับบรรยากาศ กับ "เซอร์เฟซ ดัสต์ แมส อะนาไลเซอร์-ซูดา" สำหรับวัดและนับปริมาณอนุภาพที่ถูกดีดออกมาจากดวงจันทร์ยูโรปา

นาซามั่นใจว่าสิ่งที่อุปกรณ์เหล่านี้ค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นอะไรต้องเป็นการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจแน่นอน




ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook