สังคมเมืองกับพฤติกรรม การใช้โซเชียลมีเดีย ร้อยละ 75 หยุดใช้โซเชียลฯได้ไม่เกิน3วัน

สังคมเมืองกับพฤติกรรม การใช้โซเชียลมีเดีย ร้อยละ 75 หยุดใช้โซเชียลฯได้ไม่เกิน3วัน

สังคมเมืองกับพฤติกรรม การใช้โซเชียลมีเดีย ร้อยละ 75 หยุดใช้โซเชียลฯได้ไม่เกิน3วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (เอสเอบี) ได้ดำเนินโครงการสำรวจพฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียของคนใน สังคมเมือง จากกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,026 ตัวอย่าง ช่วงระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 13 มิถุนายน 2558 ซึ่งนายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ เปิดเผยว่า ตัวอย่างผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่สำรวจถึงร้อยละ 93.2 มีการใช้โซเชียลมีเดีย โดยส่วนใหญ่ใช้มากกว่า 1 ประเทศ (เฉลี่ย 4 ประเภท) สำหรับโซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก คิดเป็นร้อยละ 89.5 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 84.1 ส่วนช่องทางสำคัญที่ใช้คือ โทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 95.4 รองลงมาคือโน้ตบุ๊ก ร้อยละ 41.7 และแท็บเล็ต/ไอแพด ร้อยละ 23.9

ประเด็นที่น่าสนใจพบว่า เวลาเฉลี่ยที่ใช้ต่อวันคือ 4.23 ชั่วโมง โดยเพศหญิงมีแนวโน้มใช้สูงกว่าเพศชายประมาณ 45 นาที นอกจากนี้หากพิจารณาด้านความถี่ของการใช้งาน คือการเข้าโซเชียลมีเดียเพื่อเช็กข้อความ โพสต์ข้อความ คลิป รูปภาพ ฯลฯ พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 เข้าใช้งานทุก 30 นาที ซึ่งในกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 10.4 ที่เข้าใช้งานทุกๆ 10 นาที

นายธนกล่าวว่า ช่วงเวลาที่มีการใช้งานมากที่สุดคือก่อนนอน ร้อยละ 80.8 รองลงมาคือช่วงตื่นนอน ร้อยละ 66.2 ซึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างจำนวนไม่น้อย ที่ใช้โซเชียลมีเดียไปพร้อมกับการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ระหว่างเดินไปมา เรียน ทำงานรับประทานอาหาร หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่เข้าห้องน้ำ

ส่วนของลักษณะการใช้งาน พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.3 พูดคุยกันผ่านโซเชียลมีเดียทั้งๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน ขณะที่ร้อยละ 39.8 มีการแชร์ ส่งต่อคลิป ข้อมูลต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นจริงหรือไม่ รวมถึงร้อยละ 27.9 ที่แสดงความเห็นกับคลิป ข้อมูล โดยที่ยังไม่รู้ความจริงหรือที่มาที่ไปแน่ชัด และร้อยละ 14.1 มีการแชร์หรือส่งต่อข้อความ คลิป ลิงก์ รูปภาพประเภทวาบหวิว โป๊ เปลือย ขณะที่ร้อยละ 6.1 ใช้เป็นช่องทางหาคู่นอน/มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก

ประเด็น ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวอย่างถึงร้อยละ 65.1 ระบุว่ามีอาการปวดตา ปวดเมื่อยตามร่างกายเวลาเล่นนานๆ ขณะที่ร้อยละ 59.0 ระบุว่าทำให้นอนดึก ตื่นสาย พักผ่อนน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 35.2 ระบุว่าออกกำลังกายน้อยลง

สำหรับผลกระทบทางสังคมนั้น ตัวอย่างร้อยละ 44.1 ยอมรับว่าการเล่นโซเชียลมีเดียทำให้การพูดคุยกับเพื่อน แฟน รวมถึงคนในครอบครัวน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 28.3 และร้อยละ 17.5 ยอมรับว่าการเชล่นโซเชียลมีเดียมีผลทำให้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงความรู้สึกนึกถึง คิดถึงคนกลุ่มดังกล่าวน้อยลงด้วยเช่นกัน ซึ่งการสำรวจยังพบผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมาธิในการเรียนและสมาธิในการทำงานที่สั้นลง การเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นที่มาของปัญหาความหึงหวง ทะเลาะเบาะแว้งกับแฟนหรือคนรักอีกด้วย

ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็น ว่า โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของคนเมือง ดังที่ตัวอย่างร้อยละ 76.1 เห็นด้วยว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิต สอดคล้องกับคำตอบเกี่ยวกับการหยุดใช้งาน

ซึ่งตัวอย่างส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 75.1 ระบุว่า หยุดใช้โซเชียลมีเดียได้ไม่เกิน 3 วัน ซึ่งในกลุ่มนี้เอง ร้อยละ 12.6 ระบุว่าไม่สามารถใช้ได้ และร้อยละ 34.8 บอกว่าหยุดได้ไม่เกิน 1 วัน ก็ต้องกลับมาใช้โซเชียลมีเดียอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook