โลกต้องให้ความสำคัญกับครู (จบ)

โลกต้องให้ความสำคัญกับครู (จบ)

โลกต้องให้ความสำคัญกับครู (จบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


คอลัมน์ Education Ideas โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

กิจกรรมมอบรางวัลสามารถสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพครูแก่สังคมได้ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมเห็นความสำคัญของวิชาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้สังคมสนับสนุนครูให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ

ผมบังเอิญค้นเจอสาระที่น่าจะเป็นคำตอบในเรื่องนี้ จากหนังสือ "นี่แหละเด็ก" ผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนถึงแก่กรรมของ อาจารย์พวงเพ็ชร เอี่ยมสกุล ผู้ร่วมวางรากฐานให้คณะครุศาสตร์ และร่วมก่อตั้งโรงเรียนประถมสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2501 มีใจความดังนี้

ข้อเสนอประกอบบทบาทของผู้บังคับบัญชาครู สำหรับท่านที่เป็นเจ้าของโรงเรียน เป็นผู้จัดการโรงเรียน เป็นอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ หรือผู้บังคับบัญชาครู ดิฉันใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นในฐานะเอกชนคนหนึ่ง ดังนี้

1.ขอให้ส่งเสริมครูมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กเล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาการของเด็กและอาชีพครู โดยจัดให้มีการบรรยาย ประชุม ค้นคว้า อบรมเกี่ยวกับพัฒนาการและปัญหาของเด็กในโรงเรียนที่ท่านรับผิดชอบ และศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็กของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2.ขอให้ส่งเสริมกำลังน้ำใจของครูโดยให้ความสะดวกแก่ครูในการจัดกระบวนการสอน การเรียน การปกครอง การจัดและบริหารโรงเรียน การดำเนินการสอนตามหลักสูตร การจัดหาอุปกรณ์การสอน และการติดต่อขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่และผู้ปกครองเด็กและชุมชน เพราะการที่จะส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กนั้น ไม่ใช่หน้าที่ครูฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ครู พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กและชุมชนในที่สุด

3.ขออย่าได้มีการเปรียบเทียบผลงานของครูคนหนึ่ง กับครูอีกคนหนึ่ง เพราะสถานการณ์ของครู ของโรงเรียน ของชั้นที่ครูปกครอง และของท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ย่อมแตกต่างกัน ขอได้ให้ความหวังแก่ครูว่า ถ้าครูคนใดได้แสดงความสามารถของตนในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กฉันแม่และมิตรอย่างมากที่สุด ครูคนนั้นย่อมได้ชื่อว่าได้แสดงบทบาทของตนดีที่สุดแล้ว"

การที่สังคมช่วยกันส่งเสริมความรู้ทักษะวิชาชีพแก่ครู ไม่ว่าจะด้วยการอำนวยความสะดวกในเรื่องใด ๆ เช่น งบประมาณ สถานที่ ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ส่งเสริมกำลังน้ำใจให้ครูสะดวกในการทำงานสำคัญ คือ การสอนนักเรียน สังคมที่ชื่นชมผลงานการสร้างคนของครูทุกคนที่สอนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

หากเราสามารถปลูกฝังความคิดทัศนคติ เหล่านี้แก่คนในสังคมได้ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนเก่งและดีมาเป็นครูมากยิ่งขึ้น รักษาครูประจำการที่ดีให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไป และสำคัญที่สุดเป็นแรงผลักดันให้ครูทุกคน ร่วมกันสร้างเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตของโลกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook