ผลพวง "เศรษฐกิจตกต่ำ" นักศึกษามะกันแห่ย้ายคณะ

ผลพวง "เศรษฐกิจตกต่ำ" นักศึกษามะกันแห่ย้ายคณะ

ผลพวง "เศรษฐกิจตกต่ำ" นักศึกษามะกันแห่ย้ายคณะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ รอบโลกน่ารู้


การสำเร็จการศึกษาในจังหวะเดียวกับที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังรุมเร้า อาจส่งผลให้เส้นทางการทำงานของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากต้องพลิกผันไปจากที่วางแผนไว้ ในขณะที่หลายคนยังคงมุ่งมั่นศึกษาในคณะที่ตั้งใจไว้

แต่บางคนที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะที่เรียนปี 1 หรือ 2 ตัดสินใจเปลี่ยนคณะหรือวิชาเอกเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานทำ

วอลล์สตรีต เจอร์นัล อ้างผลการวิจัยของ นายเบนจามิน คีย์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบล์เดอร์ และสถาบันเอดจ์เวิร์ท อีโคโนมิกส์ว่า เมื่ออัตราการว่างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นทุก 1% นักศึกษาหญิงจะเปลี่ยนไปเรียนด้านธุรกิจเพิ่มขึ้น 2/3 เปอร์เซ็นต์ และหันไปเรียนพยาบาลมากขึ้น 1/3 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับสาขาบัญชีที่มีนักศึกษาหญิงไปเรียนเพิ่มขึ้นราว 1/4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การลงทะเบียนเรียนสาขาศึกษาศาสตร์ วรรณคดี ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และจิตวิทยาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยรวมแล้ว อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น 1% ผลักดันให้นักศึกษาหญิงอย่างน้อย 2% เปลี่ยนวิชาเอก หรือเท่ากับหลายหมื่นคน ดังนั้นช่วงปี 2555-ต้นปี 2556 ที่ตัวเลขการว่างงานค้างอยู่ที่ 8% ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต 3% จึงมีนักศึกษาหญิงเปลี่ยนวิชาเอกมากกว่า 6%

ในกรณีนักศึกษาชาย มีการย้ายคณะเช่นกัน แต่สาขาที่เป็นเป้าหมายของนักศึกษาชายแตกต่างจากฝ่ายหญิง โดยผู้ชายมีแนวโน้มหันไปเรียนด้านวิศวกรรม บัญชี วิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์มากขึ้นในช่วงที่สหรัฐประสบมรสุมเศรษฐกิจ และหันหลังให้กับสาขาศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วรรณคดีรวมถึงภาษาศาสตร์

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า คณะที่นักศึกษาแห่กันไปเรียนมากขึ้นเป็นสาขาที่ "ท้าทายและจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์มากกว่าสาขาเดิม ที่สำคัญก็คือมีแนวโน้มจะได้เรียกเงินเดือนได้สูงขึ้น" พร้อมชี้ว่า รายได้ที่สูงขึ้นในระยะยาวจากสาขาเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด ต่อการเปลี่ยนวิชาเอกของนักศึกษาช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

งานวิจัยอีกชิ้นจาก นายแอนโทนี่ คาร์เนวาล แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ พบว่า สาขาที่นักศึกษาเลือกเรียนมีบทบาทอย่างมากต่อรายได้หลังจบการศึกษา โดยผู้ที่จบด้านธุรกิจทำเงินได้ 41,000 ดอลลาร์ต่อปี คนที่จบสาขาสุขภาพมีรายได้ปีละ 43,000 ดอลลาร์ สาขาวิศวกรรมรับทรัพย์ถึง 57,000 ดอลลาร์ต่อปี

และหลังจากสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานไประยะหนึ่ง รายได้ของผู้จบการศึกษาใน 3 สาขาดังกล่าวก็ยิ่งพุ่งสูง กล่าวคือ ขยับเป็น 69,000 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับสาขาธุรกิจและสุขภาพ ส่วนสาขาวิศวกรรมกระฉูดเป็นปีละ 93,000 ดอลลาร์ รายได้ของคนกลุ่มนี้จะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้ถ้าตัดสินใจศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปในสาขาเดียวกัน

นายคีย์ ระบุว่า โชคมีส่วนไม่น้อยสำหรับโอกาสในการหางานทำของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เช่นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2544-2551 ซึ่งเลือกคณะในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐยังเฟื่องฟู แต่เข้าสู่ตลาดแรงงานหรือเปลี่ยนงานในจังหวะที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปะทุขึ้นมาพอดี คนรุ่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเตะฝุ่นสูง โดยเฉพาะผู้ที่จบจากสาขาที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของนายจ้าง

สำหรับคนที่คว้าใบปริญญาในช่วงปี 2557-2558 ถือว่ามีโชคไม่น้อย เพราะอัตราการว่างงานค่อยลดลงเหลือประมาณ 5-6% และเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างน่าพอใจ ทำให้โอกาสที่จะได้งานทำไม่ยากเย็นเหมือนหลายปีก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook