คุณเป็น โรคเท้าเหม็น หรือไม่?

คุณเป็น โรคเท้าเหม็น หรือไม่?

คุณเป็น โรคเท้าเหม็น หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ปกติแล้วเท้าของเรานั้นจะมีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่า 250,000 ต่อม หรือเท่ากับ 3,000 ต่อมต่อตารางนิ้ว  ทำให้เท้าเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากเมื่อเทียบกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย  ทั้งนี้เหงื่อที่ถูกผลิตออกมาบริเวณเท้าก็เพื่อทำให้ผิวเท้าของเราอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น  เพราะหากไม่มีเหงื่อ ผิวก็จะแห้งแตกและทำให้เจ็บเวลาเดินนั่นเอง

    และนอกจากเท้าจะเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมากแล้ว ต่อมเหงื่อที่เท้ายังต่างจากต่อมเหงื่อบริเวณอื่นของร่างกายด้วย  โดยต่อมเหงื่อที่เท้าจะผลิตเหงื่อออกมาตลอดเวลา  ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอากาศร้อน  หรือระหว่างออกกำลังกาย  โดยสามารถผลิตเหงื่อออกมาได้มากถึงสัปดาห์ละ 4.5 ลิตร เลยทีเดียว  และนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดกลิ่นเท้า

    สาเหตุของกลิ่นเท้า อาจเกิดจากชนิดหรือวัสดุของรองเท้าที่เราสวมใส่  หรือการใส่รองเท้าที่มีการระบายต่ำ  อย่างรองเท้าหนัง  หรือรองเท้าผ้าใบ  ทำให้เท้าซึ่งเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อมาก เมื่อสวมใส่รองเท้านั้นแล้วเกิดความอับชื้น  หากถอดรองเท้าออกมาก็จะพบว่าเท้ามีกลิ่นเหม็น  แต่อย่างไรก็ตาม  ปัญหาเรื่องกลิ่นเท้า  นับเป็นปัญหาเฉพาะของบุคคล  บางคนแม้จะสวมใส่รองเท้าที่ไม่มีการระบายอากาศ  เท้าก็อาจไม่มีกลิ่นเหม็น  แต่ในขณะที่บางคนรองเท้าที่สวมใส่สามารถระบายอากาศได้  แต่เท้ากลับมีกลิ่นเท้าเหม็นอย่างรุนแรง  อย่างนี้ก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้หนึ่งในสาเหตุของการมีกลิ่นเท้าอย่างรุนแรง นอกเหนือไปจากความสะอาดของเท้าหรือการระบายอากาศของรองเท้าที่สวมใส่แล้ว  และเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ผู้ที่มีกลิ่นเท้านั้นก็ยังไม่รู้ตัว  นั่นก็คือการเป็น "โรคเท้าเหม็น"  นั่นเอง

    โรคเท้าเหม็น  (Pitted keratolysis)  เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Micrococcus Sedentarius  ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา  ทั้งนี้โรคเท้าเหม็นจะพบได้บ่อยในผู้ที่ต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ๆ  ทำให้บริเวณเท้าเกิดเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก  ทำให้เท้าอับชื้น  และส่งผลให้ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้าเปื่อยยุ่ย   และมีค่าความเป็นด่างสูงขึ้น   ซึ่งจะทำให้มีสภาพเหมาะแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย  

     เจ้าแบคทีเรีย Micrococcus Sedentarius   เป็นแบคทีเรียที่กินเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วของเราป็นอาหาร  โดยจะผลิตเอนไซม์โปรติเอสออกมาย่อยสลายผิวหนังส่วนชั้นนอกสุดของเท้า  ดังนั้นเมื่อมีอุณหภูมิที่เหมาะสม  แบคทีเรียก็จะแพร่ขยายเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว  ทำให้เท้าของเราเกิดเป็นหลุมเล็ก ๆ และส่งผลทำให้เท้าเกิดกลิ่น  เนื่องจากผลของการย่อยผิวหนังที่ฝ่าเท้าของแบคทีเรียทำให้ได้สารกลุ่มซัลเฟอร์  ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ทั้งนี้อาการของโรคเท้าเหม็นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการคัน  เพราะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  (ต่างกับโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา  ทำให้มีอาการคันและผิวหนังเท้าหลุดลอก)  ผู้ที่เป็นโรคเท้าเหม็นส่วนใหญ่มักปรากฎอาการเท้าลอก  ผิวหนังบริเวณเท้าชื้นแฉะ  และเท้ามีกลิ่นเหม็น  โดยเชื้อโรคนี้จะเป็นเฉพาะที่เท้า  ไม่ได้แพร่ลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ

             ส่วนวิธีป้องกันการเกิดกลิ่นเท้านั้น  สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำให้เท้านั้นเกิดความอับชื้น โดยรักษาความสะอาดของเท้ารวมถึงรองเท้าที่เราสวมใส่  ไม่ควรใส่รองเท้าที่คับจนเกินไป  เพราะจะทำให้เหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น และไม่ควรสวมใส่รองเท้าเกิน 2 วัน  ทั้งนี้ควรนำรองเท้าไปตากหรือผึ่งลมให้แห้งอยู่เสมอ หรือหากต้องใส่ถุงเท้า ก็ควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะจะระบายอากาศได้ดีกว่าถุงเท้าที่ทำจากผ้าไนลอน แต่อย่างไรก็ตาม หากเท้าเกิดกลิ่นเหม็นขึ้นมาแล้ว เราอาจแก้ไขด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลและรักษากลิ่นเท้า  ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการดูแลรักษากลิ่นเท้าออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน คือ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเหงื่อ และผลิตภัณฑ์ที่มีสารฆ่าเชื้อ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเหงื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารอย่างอะลูมิเนียม เซอร์โคเนียม เกลือสังกะสี ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการขับเหงื่อ และป้องการเกิดกลิ่นได้  และผลิตภัณฑ์ที่มีสารฆ่าเชื้อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยตัวยาฆ่าเชื้อ เช่น ควอเตอร์นารี ไตรโคลซาน แอมโมเนียม พาราเบน เป็นต้น ซึ่งตัวยาเหล่านี้จะไปลดจำนวนของแบคทีเรียที่ผิวหนัง และช่วยลดอาการกลิ่นเหม็น

      นอกจากนี้แล้วอาจใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน  ซึ่งช่วยในการระงับกลิ่นเท้าได้  เช่น  นำเท้าแช่ในทีทรีออยล์ (tea tree oil) หรือน้ำมันสะระแหน่ เพราะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือแช่เท้าในน้ำชาดำ  เนื่องจากกรดแทนนินในใบชา  มีสรรพคุณในการระงับกลิ่นและสมานแผลที่ผิวหนัง หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือและมะนาว ก็สามารถระงับการเกิดกลิ่นเท้าได้เช่นกัน

      แต่หากผู้เป็นโรคเท้าเหม็นหรือมีกลิ่นเท้าอย่างรุนแรง วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาเท้าหรือการแช่เท้าในสารข้างต้น อาจไม่ช่วยให้ระงับกลิ่นได้  ดังนี้อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการอื่น  เช่น  รักษาด้วยวิธีไอออนโตโฟรีซีส (Iontophoresis) หรือการใช้ประจุไฟฟ้าไปช่วยบล็อกการทำงานของเหงื่อ หรืออาจใช้วิธีการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดเหงื่อเฉพาะที่ หรืออีกวิธีการหนึ่งคือ การผ่าตัดเส้นประสาท โดยผ่าตัดเส้นประสาทตัวที่ทำให้เกิดเหงื่อในบริเวณนั้น ๆ ซึ่งวิธีทั้งหลายเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับการการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการรักษา

อ้างอิง
-หาหมอ http://haamor.com/
- http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=4827
- http://research.rdi.ku.ac.th/world/cache/eb/NattayaPIUAll.pdf

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook