คนโคราช เป็นใคร มาจากไหน ?

คนโคราช เป็นใคร มาจากไหน ?

คนโคราช เป็นใคร มาจากไหน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนแปลกใจว่าคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา หรือ "คนโคราช" นั้นเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงได้มีสำเนียงเฉพาะของตัวเอง จะเป็นแบบไทยภาคกลางก็ไม่ใช่ จะเป็นแบบคนอีสานก็ไม่ใช่ แล้วไหนจะมี "ผัดหมี่โคราช" และ "ส้มตำโคราช" เฉพาะของตัวเองอีก

เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ "โคราชของเรา" และ "คุณาลัย ปริสุทฺโธ อาลัยหลวงพ่อคูณผู้บริสุทธิ์" ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา งานนี้มีคำตอบไขข้อข้องใจในการบรรยายพิเศษหัวข้อ "โคราชมาจากไหน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ "โคราชของเรา"

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า คนโคราชประกอบด้วยคนอย่างน้อยสองกลุ่มใหญ่ ๆ หนึ่งคือกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือหมาเป็นบรรพชน มีหลักฐานเป็นภาพเขียนรูปหมาที่ถ้ำจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ซึ่งบริเวณเขาจันทร์งามเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม เปรียบเสมือนโบสถ์ วิหาร ทั้งนี้ นอกจากคนพื้นเมืองโคราชแล้วยังมีคนอีกจำนวนมากในโลกนี้ที่เชื่อว่าหมาเป็นบรรพชนของตัวเอง และยังมีความเชื่อว่าหมาเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่นำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้มนุษย์ปลูกกิน ที่กวางสี ประเทศจีน มีภาพเขียนสีหมาขนาดใหญ่ และ 10 ปีจะต้องทำพิธีบูชายัญเคารพหมา

ส่วนคนโคราชอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่เคลื่อนย้ายขึ้นมาจากอยุธยา เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาขึ้นมายึดครองโคราชแล้ว จึงเคลื่อนย้ายคนจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นมา โคราชบริเวณที่เป็น อ.เมืองนครราชสีมา ปัจจุบัน ฉะนั้นภาษาพูดของคนกลุ่มนี้จึงไม่เหมือนคนพื้นเมืองที่พูดภาษามอญ เขมร สำเนียงคนโคราชคือสำเนียงเหน่อ ซึ่งเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา

เพลงโคราชนั้นเป็นตระกูลเดียวกับเพลงฉ่อยภาคกลาง คนโคราชตัดผมเกรียน นุ่งโจงกระเบนแบบเดียวกับเขมร เพราะอยุธยา ละโว้เป็นพวกเดียวกับเขมร ใช้วัฒนธรรมเขมร เพราะฉะนั้นคนโคราชจึงเล่นเพลงแม่ศรี เหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่าคนโคราชส่วนหนึ่งมาจากอยุธยา และอีกอย่างหนึ่งที่เป็นพยานอย่างดีคือคนโคราชดูลิเก เหมือนกับคนในภาคกลาง

สุจิตต์อธิบายขยายความในส่วนการอพยพของกลุ่มคนที่มาจากอยุธยา ว่า คนยุคต้นอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 1900 มายึดลุ่มน้ำมูล โดยเอาลำตะคลองเป็นฐาน เนื่องจากลำตะคลองจะไหลตกแม่น้ำมูลที่บริเวณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ หรือที่เรียกว่าท่าช้าง บริเวณนี้เป็นชุมทางสำคัญครอบคลุมลุ่มน้ำมูลที่จะไหลไปตกแม่น้ำโขง และไปเจอกับลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ

ในขณะเดียวกันโคราชยังเป็นเส้นทางเดินทัพลงไปตีเขมรที่เสียมราฐ นครวัด นครธม ในสมัยอยุธยาตอนต้นไม่ได้ยกทัพไปทางทิศตะวันออกผ่านอรัญประเทศ สระแก้ว แต่ต้องมาเอาฐานกำลังที่เมืองโคราชแล้วค่อยลงไป

ประวัติศาสตร์ไทยในตำราของกระทรวงศึกษาธิการประมาณปี พ.ศ. 2520 กว่า ๆ เคยบอกว่าโคราชกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นคนละส่วนกัน ไม่เคยมีการติดต่อกัน แต่ตามหลักฐานแล้วที่ราบสูงกับที่ราบลุ่มมีการติดต่อกันมาตั้งแต่ 3,000 ปีที่แล้ว มีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมูลลงไปจนถึงลุ่มน้ำป่าสัก คนที่ราบสูงกับคนที่ราบลุ่มติดต่อกันตลอด เป็นพวกเดียวกันเป็นเผ่าเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน

ศิลาจารึกที่ปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินพิมายบอกชัดเจนว่าบริเวณพิมายและบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลเป็นบ้านเกิดบรรพชนกษัตริย์เขมรที่ไปสร้างนครวัดนครธมที่เรียกว่าราชวงศ์มหิธรปุระอีกทั้งยอดปราสาทหินพิมายยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างพระปรางค์ที่นครวัด และยอดปราสาทพิมายเป็นตัวส่งอิทธิพลให้พระปรางค์ที่ลพบุรี ละโว้ อยุธยา จนถึงพระปรางค์วัดอรุณในทุกวันนี้ แล้วจะบอกว่าคนที่ราบสูงโคราชไม่รู้จักกับคนลุ่มน้ำเจ้าพระยากันได้อย่างไร

จากหลักฐานแล้วคนที่ราบสูงโคราชและที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเป็นเครือญาติกัน วงศ์กษัตริย์เขมรและอยุธยาก็เป็นเครือญาติกัน เพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์ไทยต้องการความเป็นไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเวลาต่อมากระทรวงศึกษาธิการก็ได้ยกเลิกตำรานั้นไปแล้ว

ปัญหาที่มีมากในเรื่องโคราชก็คือ ทุกคนสงสัยว่าโครงกระดูกที่ขุดค้นพบเป็นโครงกระดูกของคนไทยหรือไม่ เราไม่สามารถบอกได้ว่าโครงกระดูกที่พบเป็นใครบ้าง แต่ทั้งหมดเป็นบรรพชนคนไทย และเป็นบรรพชนของคนทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเฉพาะดินแดนแผ่นดินใหญ่ที่เราเรียกว่าสุวรรณภูมิ ปัญหาของประเทศไทยก็คือการมุ่งแต่ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย แต่เมื่อ 3,000 ปีที่แล้วยังไม่มีชาติ คนสมัยสุโขทัยเรียกตัวเองว่าชนชาติอะไรก็ไม่รู้ ศิลาจารึกไม่เคยบอกสักคำว่าเป็นชนชาติไทย

ประวัติศาสตร์ไทยจะต้องเปลี่ยนทั้งหมด เพราะตอนนี้ที่สอนกันเป็นประวัติศาสตร์ไทยแบบโดด ๆ ไทยไม่มีญาติ แต่เราจะแยกประวัติศาสตร์ไทยออกจากประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนทั้งคนและดินแดน

เราต้องศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ดินแดนและผู้คน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นชาติอะไรในเมื่อสมัยก่อนไม่มีชาติ คนที่อยู่ในดินแดนไทยเป็นลูกผสมทั้งนั้น ยังหาไม่เจอว่าคนไทยแท้หน้าตาอย่างไร แต่เราพบหลักฐานสมัยหลัง ๆ ว่าคนในดินแดนนี้ล้วนแต่เป็นนานาชาติพันธุ์

เลิกหาความเป็นไทยแท้เถอะ มันไม่มีจริงหรอก คนที่อยู่ในดินแดนนี้เป็นพี่น้องกันทั้งหมด แต่เราหลงลัทธิล่าอาณานิคม แบ่งแยกกันเป็นประเทศ เป็นเชื้อชาติ เป็นคนละกลุ่ม เรามาหลงกันภายหลังตอนที่เป็นรัฐชาติแล้ว ซึ่งรัฐชาติมันเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มาสำเร็จเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 และมาชัดเจนจริงจังเมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2482

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook