5 โรคฮิตของคนติดแช็ต

5 โรคฮิตของคนติดแช็ต

5 โรคฮิตของคนติดแช็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยุคสังคมออนไลน์ที่แทบทุกคนต้องมีสมาร์ทโฟน ต้องคุยกับเพื่อนผ่านเฟซบุ๊คหรือไลน์แทนการโทรศัพท์ และสไลด์หน้าจอรับข่าวสารรอบตัวไม่ให้ตกยุค รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมแบบนี้จะหอบเอาปัญหาสุขภาพล็อตใหญ่จากความอินเทรนด์มาถึงตัว มาดูกันว่าปัญหาสุขภาพยอดฮิตที่เกิดจากสังคมก้มหน้ามีอะไรบ้าง อาการเป็นอย่างไร เพื่อเอาไว้เช็คดูตัวเองก่อนจะสายเกินไป


1.โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค (Facebook Depression Syndrome)
หลายคนอาจสงสัยว่าเล่นเฟซบุ๊คก็มีเพื่อนตั้งมากมาย แล้วจะเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร คำตอบก็คือเพราะคนเรานั้นเมื่อติดอยู่แต่หน้าจอ จิ้มๆ กดๆ เลื่อนๆ รูดๆ คุยกับคนในโลกออนไลน์ ก็จะเพิกเฉยต่อคนในโลกความจริงมากขึ้น แถมหลายคนยังใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องระบายความรู้สึก โดยเฉพาะเวลาที่ว้าเหว่ เหงาเดียวดาย ก็จะยิ่งโพสต์นั่นนี่นั่นเยอะขึ้นเป็นทวีคูณ

วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และพบว่า คนที่ถูกเพื่อนๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในเฟซบุ๊ค จะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลกความจริง และหลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา

นั่นเพราะเฟซบุ๊คได้สร้างความจริงเทียม (artificial reality) ขึ้นมา จากการโพสต์แต่เรื่องดีๆ ทว่าเก็บงำเรื่องร้ายๆ แย่ๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ เราจึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบในโลกเสมือนจริงเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ความรู้สึก "ไร้ค่า" จึงเกิดขึ้น

ถ้าคุณรู้สึกเสียความมั่นใจสุดๆ เวลาส่งคำร้องไปขอเป็นเพื่อนแล้วไม่ได้รับการตอบรับ เก็บมาคิดว่าทำไมจึงไม่เป็นที่ต้องการ นี่ก็เป็นสัญญาณของ "โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค" หรือโรคซึมเศร้าจากสังคมออนไลน์แล้ว

วิธีหลีกหนีอาการนี้ก็คือ "ลดการเล่นเฟซบุ๊คลง" ทั้งอ่านเรื่องคนอื่นและโพสต์เรื่องตัวเอง จะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่ถ้าไม่อยากลดการท่องโลกออนไลน์ หรือเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ก็ต้องรู้จักทำใจและปล่อยวาง อย่าไปจริงจังกับโลกเสมือนจริงให้มากนัก คิดเสียว่านั่นคือโลกของการผ่อนคลาย ไม่ใช่โลกที่เราจะไปซีเรียสจริงจัง


2. ละเมอแช็ต (Sleep-Texting)
อาการก็คือ ถึงแม้จะนอนหลับไปแล้วแต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอนั่นเอง สาเหตุมาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอนหากมีข้อความเข้ามา สมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรหรือส่งไปหาใคร เพราะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด การละเมอแช็ตยังกระทบสุขภาพด้วย เพราะเมื่อสมองปลุกให้ตื่น ร่างกายก็นอนหลับไม่เต็มที่ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กระทบถึงระบบการทำงานของร่างกาย สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน

อาการนี้เจ้าตัวอาจไม่รู้เองแต่คนใกล้ชิดจะรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องหาทางแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือถอนตัวออกมาจากโลกออนไลน์นิดนึง อย่าหมกมุ่นกับมันมากเกินไป และไม่ควรเก็บสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ตัวเวลานอน


3.โรควุ้นในตาเสื่อม
ปกติเราก็ใช้งานดวงตาหนักอยู่แล้ว และถ้ายิ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ่งข้อความในจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก็ยิ่งทำให้ดวงตาทำงานหนักขึ้นเป็นทวีคูณ ถ้าปล่อยไปนานๆ จนมองเห็นหยากไย่ ตาข่าย หรือเส้นวนไปวนมาเหมือนยุง ปัดเท่าไรก็ไม่โดนสักที แบบนี้ต้องรีบหาหมอ เพราะนี่คือ "โรควุ้นในตาเสื่อม"

จริงๆ แล้วโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ เพราะใช้งานดวงตามานานจนเสื่อมไปตามวัย แต่น่าตกใจที่ปัจจุบันพบคนอายุน้อยๆ เป็นโรคนี้มากขึ้น สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการแช็ตทั้งวัน จ้องจอทั้งคืน เล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานๆ พอรู้สึกปวดตาก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก มารู้ตัวอีกทีก็เห็นภาพเป็นคราบดำๆ เป็นเส้นๆ ไปซะแล้ว

วิธีป้องกันก็ไม่ยาก แค่รู้จักพักสายตาบ้าง มองไปไกลๆ สูดอากาศเต็มปอดให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย หลับตาลงสักครู่ รู้จักใช้งานเทคโนโลยีในมืออย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงโรคนี้ได้


4.โนโมโฟเบีย (Nomophobia)
ชื่อนี้มาจากคำว่า "no-mobile-phone phobia" แปลตรงตัวก็คือ "โรคกลัวไม่มีมือถือใช้" เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวล

ถ้าอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์หมด แล้วรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเริ่มมีอาการ "โนโมโฟเบีย" ในรายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หนักเบาขึ้นอยู่กับแต่ละคน

สำรวจตัวเองดูหน่อยก็ได้ ว่าคุณหมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในมือถือ ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อยๆ หรือเปล่า หรือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเตือนจากมือถือจะต้องวางภารกิจทุกอย่างตรงหน้า แล้วรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กแบบด่วนจี๋ทันใจ ใครเป็นแบบนี้ก็เข้าข่าย "โนโมโฟเบีย" อย่างแน่นอน ยิ่งถ้าตื่นนอนปุ๊บเช็กมือถือปั๊บ ห่างจากมือถือไม่ได้เลย หรือใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนตรงหน้าก็ยิ่งชัด

ใครที่มีอาการดังกล่าว ต้องระวังปัญหาสุขภาพให้มากๆ โดยเฉพาะนิ้วล็อก ปวดตา ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร เพราะนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน รวมทั้งอาการนอนไม่หลับและโรคอ้วน ที่เกิดจากการนั่งเล่นมือถือนานๆ โดยไม่ลุกไปไหนเลย


5.สมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)
หรือโรค "ใบหน้าสมาร์ทโฟน" เกิดจากการก้มลงมองหน้าจอ หรือจ้องสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตนานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็ง และไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม เมื่อแก้มถูกแรงกด นานๆ เข้าก็จะทำให้เส้นใยอิลาสติกบนใบหน้ายืด จนแก้มบริเวณกรามย้อยลงมา แถมกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากก็จะตกไปทางคางด้วย จนใบหน้าอาจดูผิดแปลกไปจากเดิม และจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ของตัวเอง

สรุปว่าทั้ง 5 โรค อยู่ใกล้ตัวคนยุคนี้เป็นอย่างมาก เพราะทุกคนล้วนใช้โลกออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นควรรู้วิธีป้องกัน นั่นคือต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม ก้มมองหน้าจอให้น้อยลง เล่นโทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมให้น้อยลง

ที่มา penthouse-thailand.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook