ปัดฝุ่น"ตกซ้ำชั้น" ทางรอดคุณภาพ การศึกษา

ปัดฝุ่น"ตกซ้ำชั้น" ทางรอดคุณภาพ การศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่าไปแล้วกระแสฟื้น "ระบบตกซ้ำชั้น" เกิดขึ้นเกือบทุกรัฐบาล...

ย้อนกลับไปสมัย "นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

จนมาถึงช่วงที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่า ศธ. ก็เคยถึงขั้นมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ โดยจะให้มีการตกซ้ำชั้นหรือซ้ำวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557

โดยสาเหตุหลักที่นายจาตุรนต์สั่งให้นำระบบตกซ้ำชั้นกลับมาใช้ เพราะ สพฐ.รายงานข้อมูลนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 35,000 คน อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง อีกประมาณ 200,000 คน จากนักเรียนชั้น ป.3 ทั้งหมดกว่า 600,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของเด็กชั้น ป.3 ทั้งหมด

ขณะนั้น สพฐ.ก็ยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะนโยบายที่ให้ใช้วิธีซ่อมเสริม ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น เด็กสอบไม่ผ่าน ก็ให้สอบแก้ หรือไม่ก็ให้ทำกิจกรรมอื่นแทน แล้วปล่อยให้เลื่อนชั้นขึ้นไปได้ เท่ากับเป็นการหมักหมมปัญหา....



พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ

ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกรอบ ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน คือ คุณภาพของเด็กมีปัญหา เมื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น ป.3 และ ป.4 ก็ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง และยังเป็นภาระฉุดรั้งเพื่อนร่วมชั้นด้วย นอกจากนี้เด็กสายสามัญที่จบชั้น ม.3 เมื่อมาเรียนต่อในสายอาชีพ พบว่าแทนที่จะสอนวิชาชีพได้เลย ก็ต้องมาสอนวิชาสามัญเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็เรียนไม่ได้ พล.อ.ดาว์พงษ์จึงสั่งให้ สพฐ.ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจว่าจะนำระบบตกซ้ำชั้นกลับมาใช้ใหม่หรือไม่

ฟากนักวิชาการเห็นว่าหากฟื้นการตกซ้ำชั้นจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพิ่มตราบาปให้กับเด็ก จึงเสนอทางแก้ให้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานมากกว่าที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม ขณะที่เสียงหนุนก็มีมาจาก ทั้งผู้ปกครองและครู ซึ่งเห็นว่าจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนเพราะกลัวสอบตก

อย่างนักวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มองว่านโยบายนี้จะไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กมากนัก ขณะเดียวกันอาจมีผลกระทบด้านจิตใจ เป็นการตอกย้ำทำให้เด็กเสียขวัญ เกิดความเครียดและท้อแท้ จึงควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยให้ครูประเมินและเสริมในวิชาที่เด็กบกพร่องเป็นระยะ แต่ปัจจุบันครูเองก็มีปัญหา ไม่มีเวลาสอนเต็มที่ เนื่องจากภาระงานค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ศธ.จึงควรลดภาระงานเพื่อให้ครูมีเวลาเตรียมการสอนมากขึ้น อีกทั้งหากจะนำระบบตกซ้ำชั้นกลับมาใช้ควรยกเลิกการนำผลการเรียนของนักเรียนมาตัดสินครู เพราะหากเด็กสอบตกจำนวนมาก ครูก็จะถูกตำหนิ ครูถึงต้องประเมินแบบปล่อยผ่าน

นายเรืองยศ อุตรศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตบางเขน มองว่าการให้เรียนซ้ำชั้นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะใช้กับโรงเรียนในต่างจังหวัดหรือชนบท โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ปกครองของเด็กในชนบทมักไม่ค่อยสนใจการศึกษาของเด็ก บางรายอยากให้ออกมาทำงานมากกว่าเรียนด้วยซ้ำ หากให้เด็กที่สอบตกแล้วต้องเรียนซ้ำชั้นจริง เด็กก็จะหายไปจากระบบการเรียนมากขึ้น ทั้งที่เด็กบางคนเก่ง แต่สอบไม่ผ่าน เพราะอาจเกเร ดังนั้นโรงเรียนจึงควรช่วยประคับประคองให้เด็กกลับมาสนใจเรียน รวมถึงพูดคุยกับผู้ปกครองให้ช่วยดูแลและสร้างวินัยให้กับเด็ก ฉะนั้นการให้โอกาสเด็กที่สอบไม่ผ่านด้วยการสอบซ่อม น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า อีกทั้งการเรียนซ้ำชั้นจะทำให้เด็กเสียเวลาไปอีกหนึ่งปีด้วย

ขณะที่ น.ส.ณัฐธยาน์ บุณยทวีพัฒน์ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย จ.นนทบุรี บอกว่า เห็นด้วยกับการให้เด็กเรียนซ้ำชั้น เพราะตนก็เคยเรียนซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษามาแล้ว จึงมองว่าเป็นเรื่องดี ช่วยให้เด็กมีโอกาสทำความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มเติม แม้จะรู้สึกอายเพื่อนในช่วงแรก แต่หากให้เด็กเลื่อนขั้นไปเรียนเนื้อหาของชั้นที่สูงกว่า ซึ่งมีความยากมากขึ้น โดยที่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาในชั้นเดิม จะเป็นการซ้ำเติมทำให้เด็กเรียนไม่ได้ สุดท้ายก็จะไม่ตั้งใจเรียน อยากให้ ศธ.มองอนาคตของเด็กในระยะยาวมากกว่า เชื่อว่านโยบายนี้จะแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้

ด้านนักเรียนอย่างน้องออย น.ส.ชาริณี กรรธิภากร นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา จ.นครปฐม บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการตกซ้ำชั้น หากเด็กสอบไม่ผ่าน ก็ควรให้โอกาสสอบซ่อมหรือครูอาจสอนเพิ่มให้ ทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลื่อนชั้นเรียน เพราะหากเป็นตัวเองที่สอบตกแล้วต้องเรียนซ้ำชั้น แต่เพื่อนที่เรียนด้วยกันกลับได้เลื่อนชั้นหมด ก็จะรู้สึกเสียใจ อายและไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเรียนต่อ

ส่วน น.ส.พัชรา กฤษณเศรณี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนวชิรวิทย์ จ.เชียงใหม่ บอกว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเสียเวลาเรียนไปถึง 1 ปี อีกทั้งระบบสอบซ่อมที่ใช้ในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว ส่วนที่ว่าเมื่อเลื่อนชั้นเรียนไปแล้ว จะเรียนตามเพื่อนในวิชาที่สอบตกไม่ทันนั้น มองว่าหากเราต้องสอบซ่อมวิชาไหน ก็ควรจะต้องขยันเรียนในวิชานั้นเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว

รัฐบาลที่แล้วๆ มาพับเก็บทุกครั้งเมื่อเจอกระแสต่อต้านด้วยหวั่นกระทบฐานเสียง มาคราวนี้ต้องจับตาดูว่าภายใต้สภาวะไร้ความกดดันทางการเมือง พล.อ.ดาว์พงษ์จะฝ่าแรงต้านและเดินหน้าต่อไปได้สำเร็จหรือไม่ !!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook