หัวอก"ผู้ปกครองไทย" ปีเดียวจ่ายหลายแสน "สารพัดติว-เดินสายสอบ ดันลูกเข้าม.รัฐ

หัวอก"ผู้ปกครองไทย" ปีเดียวจ่ายหลายแสน "สารพัดติว-เดินสายสอบ ดันลูกเข้าม.รัฐ

หัวอก"ผู้ปกครองไทย" ปีเดียวจ่ายหลายแสน "สารพัดติว-เดินสายสอบ ดันลูกเข้าม.รัฐ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใกล้โค้งสุดท้ายของน้องๆ นักเรียนชั้นม. 6 ที่กำลังเคร่งเครียดเตรียมตัวอ่านหนังสือ ติวเพื่อสอบGAT-PAT แม้ว่าการสอบครั้งที่ 1 จะผ่านพ้นมาแล้วช่วงวันที่29 ตุลาคม-1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังเหลือการสอบอีกครั้งในวันที่ 5-8 มีนาคม 2559 และช่วงปลายเดือน 27-29 ธันวาคม นี้ยังต้องสอบ9 วิชาสามัญอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ มีความสำคัญมาก ๆ เพราะทุกคะแนนมีผลต่อการนำไปสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ตอนนี้เด็ก ๆ มี 3ทางเลือกคือ การสมัครรับตรงที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดรับเอง การรับสมัครในระบบเคลียริ่งเฮาส์ และโอกาสสุดท้ายการสมัครในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบคัดเลือกรวมหรือแอดมิสชั่นส์กลางประจำปีการศึกษา2559

มีการสอบและสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหลายทางเลือกมากขนาดนี้ค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครองจะมากมายแค่ไหนและลดลงจากปีที่ผ่านมาหรือไม่นั้น"มติชน"ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนผู้ปกครองหลายๆ คน

เริ่มจาก "นางดวงกมล อุรัสยะนันท์" อายุ 45 ปี อดีตผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา เล่าประสบการณ์ของปีที่ผ่านมา ว่าโล่งแล้วตอนนี้เพราะลูกสาวสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อได้ แต่ก็ยอมรับว่าเสียค่าใช้จ่ายเยอะอยู่เหมือนกันนะในช่วงที่ลูกสาวเรียนอยู่ม.6 ยิ่งในภาคเรียนที่ 2 จะมีการจ้างติวเตอร์ส่วนตัววิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ชั่วโมงละประมาณ 500 บาท เรียนอาทิตย์ละ 1-2 วันครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือก็จะไปเข้าค่ายติวฟรีหลายแห่งที่จัด แต่ก็ยังต้องเสียค่าเดินทาง ค่าอยู่ ค่ากิน นอกจากยังมีค่าใช้จ่ายในช่วงการสอบGAT-PAT สอบ 9 วิชาสามัญอีก

"พอสอบทุกอย่างเสร็จ ก็จะมีการยื่นสมัครสอบรับตรง แอดมิสชั่นส์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะมีค่าสมัคร ค่าเดินทาง โชคดีลูกสาวไม่ได้สมัครหลายแห่งมาก ก็มีไปสมัครสอบในหลักสูตรพิเศษของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งได้ปรากฎว่าสอบได้ก็เสียเงินไป เกือบ 3 หมื่นบาท เพื่อยืนยันว่าจะเรียน

แต่ปรากฎว่าลูกสาวสอบได้คณะที่ถูกใจ และต้องการเรียนมากว่า เลยต้องสละสิทธิ์และทิ้งเงินส่วนนั้นไป รวมๆ แล้วก็หมดน่าจะเกินแสนบาทนะในช่วงของชั้นม. 6" นางดวงกมล กล่าว

นางดวงกมล ยอมรับว่าเดี๋ยวนี้จะเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ ได้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เยอะ เราก็อยากให้ลูกสอบเข้าเรียนได้ เรียกว่ายอมลงทุนเพื่อให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยรัฐที่จะถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนมาก ส่วนที่รัฐมีความพยายามจะลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง คงไม่ได้เพราะค่านิยมเด็กต้องการมีที่เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ นอกจากการอ่านหนังสือเองแล้วต้องไปติวเพิ่มเพื่อให้แข่งขันกับเด็กคนอื่นๆได้ เชื่อว่าผู้ปกครองหลายๆคนน่าจะมีค่าใช้จ่ายเหมือนกันอาจจะมากหรือน้อยกว่า

นางชัชมณฑ์ วิบูลย์เวชวาณิชย์ อายุ 48 ปี ผู้ปกครองโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา บอกว่าลูกสาวเรียนอยู่ชั้นม.6 มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะในการสอบเพื่อสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ระดับปริญญาตรี ไล่เรียงตั้งแต่ ค่าสอบไอเอล 7 พันบาทต่อครั้ง สอบSAT 4 ครั้ง 12,000 กว่าบาท CU-TEP สอบ2ครั้ง 1,400 บาท สอบ CU-ATS 1 ครั้ง 1,300 บาท และยังเหลือสอบวิสามัญอีกแต่ค่าสมัครสอบไม่เยอะมาก และยังเหลือสอบSmart One เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครสอบคณะบัญชีอินเตอร์

"นอกจากนี้ ยังมีค่าเรียนพิเศษในส่วนของไอเอล จำค่าเรียนไม่ได้แต่หลักหมื่นบาทก็ถือว่าแพงมาก ยังมีติวชีววิทยา คอร์สละ 6 พันกว่าบาท คณิตศาสตร์อีก 6 พันกว่าบาท และค่าเรียนคุมองอีก รวมค่าเรียน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเดินทาง ค่าอาหาร ก็ค่อนข้างเยอะ

และยอมรับว่าบางทีค่าใช้จ่ายก็มากจริงๆ แต่เมื่อการศึกษาของเรามาระบบนี้แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องยอมรับ จะไปเรียกร้องอะไรก็คงไม่ได้ เพราะอาจจะมีผู้ปกครองบางคนเสียมากกว่านี้ก็ได้ ลูกสาวเองก็พยายามช่วยประหยัด อ่านหนังสือเองด้วย ติวให้น้อยที่สุด" นางชัชมณฑ์

ส่วนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตชื่อดัง คนหนึ่ง ระบุว่าตั้งแต่ขึ้นชั้นม.6 มาเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าสอบ ค่าติวรวมเป็นเงิน 8 หมื่นกว่าบาท ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่ากินตอนนี้ก็น่าจะเกินหลักแสนนะ ส่วนหนึ่งที่มีค่าใช้จายเยอะเพราะลูกชายสมัครสอบในหลักสูตรอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยรัฐด้วยและการที่ไม่ได้เรียนหลักสูตรนานาชาติมาต้องสมัครสอบเพิ่มเติมเช่นสอบSAT4ครั้ง12,000กว่าบาทติวภาษาอังกฤษรวม เกือบ 3 หมื่นกว่าบาท และยังมีติวGAT-PAT อีก 2หมื่นกว่าบาท เป็นต้น

"ที่ต้องติวเยอะเพราะลูกเราไม่ได้เรียนเก่งมาก การเรียนเพิ่มก็เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ในคณะตามที่ต้องการ เพราะเดี๋ยวนี้คะแนนแต่ละแห่งค่อนข้างสูง แม้โรงเรียนที่ลูกเรียนอยู่จะมีมาตรฐานค่อนข้างสูง แต่ก็ประมาทไม่ได้กลัวว่าจะได้คณะที่ไม่ดี"

ผู้ปกครองคนเดิม กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ลูกชายทยอยยื่นสอบรับตรงไป1-2แห่งแล้ว รอประกาศผลอยู่หากสอบติดไวก็คงลดค่าใช้จ่ายได้อีกเยอะ จะได้ไม่ต้องยื่นสมัครรับตรงที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเพราะคงต้องเสียค่าสมัครและค่าเดินทางเยอะยิ่งไปต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังโชคดีที่มีกำลังทรัพย์พอจ่ายได้ แต่ถ้าให้เลือกได้ก็อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่งมากๆ กว่านี้จะได้ไม่ต้องเสียเงินเยอะ เพราะถ้าลองเทียบกับสมัยที่เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้เสียเงินเยอะขนาดนี้เทียบกันไม่ได้เลย

นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น หลายๆ คนอาจไม่ได้เสียเงินเยอะแยะมากมายขนาดนี้

แต่แค่เห็นตัวเลขที่ต้องจ่ายกันมากขนาดนี้แล้ว ใครที่กำลังจะมีลูกคงคิดหนักเหมือนกัน กับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook