เตรียมส่อง ’สุริยุปราคา’ 9 มี.ค.นี้ พลาดอีกทีรอ 4 ปี!

เตรียมส่อง ’สุริยุปราคา’ 9 มี.ค.นี้ พลาดอีกทีรอ 4 ปี!

เตรียมส่อง ’สุริยุปราคา’ 9 มี.ค.นี้ พลาดอีกทีรอ 4 ปี!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยแผนการทำงานของ สดร.เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เช้าวันพุธที่ 9 มีนาคม นี้ว่า สดร.เตรียมพร้อมตั้งจุดสังเกตการณ์จุดใหญ่ 5 จุดทั่วประเทศ ได้แก่

1.กรุงเทพมหานคร ที่สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

2.จ.เชียงใหม่ ที่ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่

3.จ.ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อ.แปลงยาว

4.จ.นครราชสีมา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ

5.จ.สงขลา ที่ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อ.เมือง ซึ่งเป็นจุดสังเกตการณ์ที่จะได้เห็นคราสการบังมากที่สุดใน 5 จุดนี้ แต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก สดร.คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับกล้องโทรทรรศน์ สื่อการเรียนรู้ และอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าจาก สดร.ในปีที่ผ่านมา ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชุมชนนับร้อยแห่ง และครั้งนี้ทุกแห่ง สดร.ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมชมสุริยุปราคาอย่างเต็มที่ กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ www.narit.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจของ สดร. ที่ www.facebook.com/NARITpage

รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถคำนวณเวลาและสถานที่เกิดล่วงหน้าได้มานานหลายร้อยปีแล้ว และยังคำนวณล่วงหน้าจากนี้ไปได้นับแสนปี เพราะสุริยุปราคาเกิดจากดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ หากดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง ดังเช่นครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงในชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านประเทศอินโดนีเซีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดทางภาคใต้ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณร้อยละ 69 และค่อยๆ เห็นน้อยลงจากใต้ขึ้นเหนือ กรุงเทพมหานครเห็นประมาณร้อยละ 41 และเชียงใหม่ประมาณร้อยละ 27 โดยประเทศไทยจะเห็นได้ตั้งแต่เวลา 06.51-08.31 น. ของวันที่ 9 มีนาคม

"การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ สดร.วางแผนเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมถ่ายทอดสดภาพการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงและเก็บภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงมาฝากชาวไทยด้วย ในโอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ 9 มีนาคม ทั้งนี้ทีม สดร.ได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์ติดฟิลเตอร์กรองแสงพร้อมอุปกรณ์สังเกตการณ์ ทูลเกล้าฯถวายพระองค์ท่านด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการดาราศาสตร์ไทยเป็นล้นพ้น" นายศรัณย์ กล่าว

นายศรัณย์ยังกล่าวถึงข้อควรปฏิบัติในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องใช้อุปกรณ์โดยเฉพาะเท่านั้น ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าหรือแว่นกันแดดเด็ดขาด เพราะแสงอาทิตย์จะทำลายเซลล์ประสาทตาจนตาบอดถาวรได้ ห้ามสังเกตการณ์ผ่านกล้องทุกชนิด ทั้งกล้องถ่ายรูป กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ไม่ติดฟิลเตอร์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีเลนส์รวมแสง ยิ่งทวีกำลังของแสงอาทิตย์มากขึ้น นอกจากอันตรายแก่ดวงตาแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสียหายด้วย

"วิธีสังเกตการณ์ที่ถูกต้อง หากสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะหรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง หรือสังเกตทางอ้อมโดยใช้ฉากรับแสง สังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัว เช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็กๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน สัดส่วนเท่ากับขนาดของคราสในเวลานั้น เรียกว่าหลักการของ "กล้องรูเข็ม" กระชอนคั้นกะทิที่มีรูเล็กๆ ลำไผ่เจาะรู หรือแม้แต่ร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็กๆ ก็ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ได้ หรือเดินทางไปที่จุดสังเกตการณ์ของ สดร. และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ก็จะได้สังเกตเงาคมชัด ฉายผ่านกล้องโทรทรรศน์ และยังมีแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำ หรือฟิล์มไมลาร์ ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ ใช้กรองแสงเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้โดยตรง นอกจากนี้ สดร.ยังผลิต ‘แว่นตาดูดวงอาทิตย์' กว่าหมื่นชิ้น เพื่อให้ประชาชนใช้สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย ณ จุดสังเกตการณ์ทั่วประเทศ" นายศรัณย์กล่าว

รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า สุริยุปราคา บางส่วนครั้งนี้ถ้าพลาดแล้วจะต้องรออีกเกือบ 4 ปี คือวันที่ 26 ธันวาคม 2562 และเมืองไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในอีก 54 ปีข้างหน้า วันที่ 11 เมษายน 2613 ซึ่งครั้งนั้นจะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง

นายชูชาติ แพน้อย รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีความตื่นตัวเรื่องปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมนุมดาราศาสตร์ของโรงเรียนต่างๆ มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์หลากรูปแบบ เพื่อนำมาใช้ในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 9 มีนาคมนี้ คาดว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้จะสร้างความน่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา กล่าวว่า ที่ จ.สงขลา นับเป็นสถานที่ซึ่งสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดในจุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง สดร.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาตั้งจุดสังเกตการณ์ที่หาดสมิหลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำ จ.สงขลา คาดว่าจะมีประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจมาร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้อย่างล้นหลาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook