กองทัพช่างภาพ ม.ปลาย งานดี เงินงาม "พวกเราไม่ได้มา เล่น ๆ"

กองทัพช่างภาพ ม.ปลาย งานดี เงินงาม "พวกเราไม่ได้มา เล่น ๆ"

กองทัพช่างภาพ ม.ปลาย งานดี เงินงาม "พวกเราไม่ได้มา เล่น ๆ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่างภาพ อาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน แต่การจะเป็นช่างภาพได้ นอกจากฝีมือแล้ว อุปกรณ์ก็เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยราคากล้องโปรที่ยังสูงตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสน เป็นเรื่องยากสำหรับบางคนหรือบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่หันมาเล่นกล้องกันมาก บางคนมีไว้ถ่ายเล่น ๆ บางคนไม่ได้ถ่ายเล่น ๆ แต่ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ สร้างผลงานให้กับตัวเอง

กระแสความฮิตเล่นกล้องของเด็กมัธยมเริ่มมีให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว มีทั้งแห่ตามกันมาและคนที่หลงใหลแบบจริง ๆ จัง ๆเช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนจากรั้วโรงเรียนชลราษฎรอำรุง (ชลชาย)จังหวัดชลบุรี มีนักเรียนที่สนใจถ่ายภาพและรับจ้างถ่ายภาพ รวมกันได้ประมาณ 200 คน ยอมทุ่มทุนควักเงินซื้อกล้องถ่ายรูประดับเบสิกไปจนถึงระดับโปรราคาเฉียดแสนกันเลยทีเดียว

เด็กบางคนเกิดจากความเห่อตามเพื่อนกลายเป็นความชอบความหลงใหล จนไปสู่การพัฒนาและหาเงินได้ในที่สุด

"ปิ๊ด-ปวิช เมธศุภสิน" ช่างภาพฝีมือเฉียบ นักเรียนชั้น ม.6 จากรั้วชลชาย ชื่นชอบการถ่ายภาพมาตั้งแต่ ม.4 ฝึกฝนฝีมือมาตลอด จนเป็นที่ยอมรับและมีคนจ้างไปถ่ายภาพในงานต่าง ๆ

ปวิชเล่าว่า ความชอบกล้องเริ่มจากรุ่นพี่ในวงดนตรีถ่ายภาพได้สวยมาก ทำให้เขาอยากถ่ายได้บ้าง จึงไปซื้อกล้อง DSLR ราคาเกือบสามหมื่นบาท เพื่อเก็บไว้ถ่ายภาพเพื่อน ๆ ไว้ดูตอนจากกันหลังจบ ม.6

"พอถ่ายเรื่อย ๆ เริ่มศึกษาเทคนิคต่าง ๆ เปิดดูจากยูทูบ ซื้อหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาอ่านเยอะมาก แล้วก็หมั่นฝึกฝนถ่ายนู่นถ่ายนี่ไปเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญในระดับหนึ่ง จึงหันมาจริงจังและชอบการถ่ายภาพมาก ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพถ่ายฝีมือของเรา สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง แต่มันมีความสุขที่ได้อยู่หลังกล้อง รู้สึกมีเสน่ห์ทุกครั้งที่ได้กดชัตเตอร์"

ช่างภาพมัธยมจากรั้วชลชายบอกว่า ก่อนหน้านี้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนแห่ซื้อกล้องกันเยอะมาก จากที่มีคนเล่นกล้อง 20 คนเพิ่มขึ้นเป็น 200 คนอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นกล้อง DSLR แต่สำหรับเด็ก ม.ปลาย ที่รับงานจริง ๆ จัง ๆ มีประมาณ 20 กว่าคน

"เมื่อผมเริ่มจริงจัง จากกล้อง DSLR คงจะไม่พอแล้ว จึงไปขอยืมเงินน้าเพื่อไปซื้อ กล้อง Full Frame ราคาเหยียบแสน ผมผ่อนใช้เป็นงวด ๆ ทีแรกคิดว่าคงจะไม่ได้ แต่เราก็อธิบายว่าตอนนี้รับงานถ่ายภาพ ถ้าอุปกรณ์ดีก็สามารถอัพราคาขึ้นไปได้อีก พอรู้เหตุผล น้าก็สนับสนุน ตอนนี้พอรับงานได้ก็ทยอยผ่อนคืน"

ปี๊ดยังเล่าว่า เทรนด์การถ่ายภาพของเด็กที่โรงเรียน จะนำภาพไปแต่งในโปรแกรมแต่งภาพแล้วอัพรูปลงเฟซบุ๊ก สร้าง # เป็นของตนเอง เพื่อให้คนในโรงเรียนได้รู้จักเยอะ ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการที่จะทำเป็นอาชีพ แต่ทำเพื่อความสนุกสนานที่ได้แชร์รูปลงโซเชียลเท่านั้น

"ผมก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่ว่า ผมตั้งใจอยากจะทำเป็นอาชีพ และรับงานถ่ายภาพอย่างจริงจัง พอดีตอนนั้นเราลงรูปไปก็มีคนสนใจในงาน แล้วเขาก็ติดต่อมา เพราะเราโพสต์ไปด้วยว่ารับงานถ่ายภาพ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังไม่เคยรับงานมาก่อนก็ตาม อันนี้ก็ถือว่าเป็นการจุดประกายเริ่มแรกของการรับงานถ่ายภาพ ตอนนี้เดือนนึงรับงานประมาณ 4-5 งานส่วนมากก็จะรับงานคนเดียว แต่ถ้าเป็นงานแต่งงานก็จะมีทีมเพื่อนไปช่วยกัน แต่ถ้ามีงานเข้ามาซ้อนกันก็จะแชร์ให้กับเพื่อน ๆ ด้วย"

ฝีมือการถ่ายภาพของ ปิ๊ด-ปวิช แนวที่เขาชอบถ่ายนอกเหนือจากงานก็คือ การถ่ายภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน เน้นภาพที่เล่าเรื่องราว สื่ออารมณ์ได้อย่างดี เหมือนภาพมีชีวิตและมีเสน่ห์ด้วยตัวเอง

ล่าสุดในแคมเปญ การประกวดภาพถ่าย ภายในโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ "วิถีชีวิตในจังหวัดชลบุรี" ชื่อภาพ "หยาดเหงื่อ...แห่งความอร่อย" ปี๊ดได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้เขารู้สึกมีแรงผลักดันมากขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งหนุ่มจากรั้วชลชาย "คิง-ทศพล อนันตกูล" ช่างภาพฝีมือดี เล่าถึงจุดเริ่มต้นการถ่ายภาพว่า เริ่มจับกล้องถ่ายรูปครั้งแรกตั้งแต่สมัยอยู่ ม.2 เป็นกล้องฟิล์มของพ่อ ทีแรกก็ไม่เอาจริงเอาจังอะไร

"ผมแค่อยากจะเอามาเก็บภาพเพื่อน ๆ ในห้อง ด้วยความเป็นกล้องฟิล์มมันมีความคลาสสิกอยู่แล้ว เราต้องพิถีพิถันในการกดชัตเตอร์ทุกครั้ง เพราะรูปทุกรูปจะฟ้องตอนที่เราเอาฟิล์มไปล้าง"

หลังจบ ม.2 คิงแทบไม่ได้จับกล้องอีกเลย เพราะที่บ้านให้โฟกัสที่การเรียน ทำให้ถอยห่างจากกล้องมาถึง 2 ปีเต็ม ๆ

"เมื่อได้กลับมาจับกล้องอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่กล้องของพ่อแต่เป็นกล้อง DSLR ขอที่บ้านซื้อ อารมณ์ของการถ่ายภาพแตกต่างไปทันที เมื่อได้จับกล้องตัวใหม่ เรียกได้ว่ามันมีเสน่ห์ที่ต่างกันออกไป

แรงบันดาลใจแรกในการถ่ายภาพของผมก็คือ เวลาที่ได้ออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ถ้าเรามองด้วยสายตาอย่างเดียวก็คงได้แต่จดจำไว้ในสมอง แต่ถ้าเราเก็บเป็นภาพถ่าย มันก็จะเป็นความทรงจำที่เราสามารถจับต้องได้ เปิดมาดูเมื่อไหร่ก็จะมีแต่ความรู้สึกมีความสุขและทุกข์ในช่วงเวลานั้น ๆ"

นอกจากถ่ายภาพตามความชอบแล้ว คิงเริ่มขยับมารับงานถ่ายภาพ ด้วยการถ่ายรูปเพื่อน ๆ

"ภาพที่ผมถ่ายเพื่อน ๆ ก็เอาไปลงในเฟซบุ๊ก แล้วก็บอกว่ารูปสวยดี ทำไมไม่ลองรับงาน ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เพื่อนเชียร์เยอะก็เลยคิดว่าลองสักตั้งก็ไม่ได้เสียหายอะไร ตอนนี้มีงานเข้ามา 3-4 งานเป็นอย่างน้อย ถือว่าแฮปปี้มากทีเดียว ในอนาคตอันใกล้ก็จะขยับจากกล้อง DSLR เป็น Full Frame เพื่อทำให้เราดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น"

คิงชอบถ่ายภาพบุคคล โดยดึงเสน่ห์ที่สื่อออกทางดวงตา เพราะมันจะสามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี เจ้าตัวยอมรับว่าฝีมือตอนนี้อยู่ในระดับกลาง ๆ ยังต้องฝึกฝนอีกมาก เพราะยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดความชำนาญ

"การจะเป็นช่างภาพมือโปรชอบอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทุ่มเทด้วย" คิงทิ้งท้าย

ด้าน "เกรซ-ธนภัทร แก้วใส" นักเรียน ม.4 จากรั้วชลชาย เขาคือเด็กหนุ่มผู้หลงใหลในการถ่ายภาพ เริ่มสนใจการถ่ายภาพตอน ม.4 ตอนที่เห็นรูปภาพในเฟซบุ๊ก "งานรับปริญญา" ซึ่งภาพออกมาสวยมาก จึงเริ่มสงสัยว่าต้องใช้กล้องอะไรถึงจะได้รูปแบบนี้ ลองศึกษาดูในเน็ต และรู้จักกล้อง DSLR และเป็นช่วงที่โรงเรียนมีงานกลุ่มให้นักเรียนถ่ายหนังสั้น

"ผมขอพ่อซื้อกล้อง เพราะผมอยากลองเล่นดู พ่อผมก็สนับสนุน ช่วงนั้นแบกกล้องไปโรงเรียนทุกวัน ฝึกจากถ่ายเพื่อน ถ่ายวิวในโรงเรียน แต่พอถ่ายออกมามันไม่เหมือนรูปในเฟซบุ๊กที่เคยเห็น เริ่มศึกษาวิธีการแต่งรูป จากนั้นการถ่ายรูปของผมสนุกยิ่งขึ้นเรื่อย ๆถ่ายไปลองแต่งไป ถึงภาพจะไม่ค่อยสวยมาก แต่ผมก็รู้สึกภูมิใจมากที่สามารถทำได้ เพื่อน ๆ หลายคนก็ชมว่าผมถ่ายสวย"

เมื่อเป็นนักเรียนหน้าที่หลักคือเรียนหนังสือ เกรซก็ต้องหันไปอ่านหนังสือเตรียมสอบ ไม่มีเวลาฝึกฝีมือมากนัก และเป็นช่วงที่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนแห่กันซื้อกล้องและพัฒนาฝีมือจนเก่งกันเยอะมาก ทำให้เขามีก๊วนเพื่อนมัธยมที่ชอบสิ่งเดียวกันมากขึ้น ทุกคนต่างมาแชร์ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กันและกัน

"ส่วนตัวชอบถ่ายภาพบุคคลและภาพวิว การถ่าย Portrait ก็ทำให้เราได้ถ่ายสาวสวย ๆ พอถ่ายมาแล้วมีคนชม ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจที่จะถ่ายต่อไป การถ่ายภาพอุปกรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีเยอะมาก แค่หามุมดี ๆ แบบดี ๆ แล้วเราก็เน้นการแต่งภาพให้โดนใจ"

เกรซเริ่มรับงานแรกจากเพื่อนตากล้องด้วยกันส่งมาให้ งานแรกคือพิธีรับหมวกของวิทยาลัยพยาบาล เขายอมรับว่ากดดัน แต่มันก็เป็นความท้าทายที่สนุก และยังมีรายได้พิเศษที่หาได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

"ทำให้การถ่ายภาพของผม ดูมีคุณค่ามากกว่าแค่ถ่ายเล่น ๆ ที่โรงเรียนตอนนี้ถือว่าเป็นยุคของกล้องเลยก็ว่าได้ ใครมีกล้องถือว่าเป็นที่ต้องการตัวของเพื่อน ๆ มาก แต่การมีเยอะก็ใช่ว่าจะดีครับ เกิดการข่มกันเรื่องอุปกรณ์บ้าง เรื่องฝีมือบ้าง เป็นเรื่องปกติครับ แต่สุดท้ายทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน เวลามีงานก็ช่วยกัน มีอะไรปรึกษากันได้ ทำให้มีสังคมกว้างขึ้น ตอนนี้เด็กในโรงเรียนมีรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กสวย ๆ แทบจะทุกคนแล้ว"

แม้จะเป็นช่างภาพเด็กมัธยม แต่ค่าตัวเด็กมหาวิทยาลัย และดูเหมือนว่างานจะชุกมากด้วย โดยเฉพาะงานปัจฉิมนิเทศเด็กประถม เด็กมัธยม และงานรับปริญญา ซึ่งเป็นงานหลักที่สร้างรายได้ให้พวกเขาอย่างงาม ด้วยความถี่และความกว้างของตลาด

จากช่างภาพมือสมัครเล่นเข้าสู่มืออาชีพของเด็กมัธยมกลุ่มนี้พวกเขามองเห็นคุณค่าของงานตัวเอง และมองเห็นคุณค่าของเงินที่เสียไป กล้องและเลนส์แต่ละตัวไม่ใช่ของราคาถูก ๆ ถ้าคิดว่าจะซื้อมาเพื่อจะตามแฟชั่น หรือซื้อมาแค่อยากจะอวดคนอื่น ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเด็กกลุ่มนี้

พวกเขาอยากให้คนที่สนใจและรักกล้องจริง ๆ แล้วจะรู้ว่า การถ่ายภาพได้อะไรมากกว่ารูปภาพจริง ๆ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook