ม.เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์โลกเขียนโปรแกรมนานาชาติ

ม.เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์โลกเขียนโปรแกรมนานาชาติ

ม.เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์โลกเขียนโปรแกรมนานาชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตทคว้าแชมป์โลกการแข่งขันเขียนโปรแกรมนานาชาติ "International Collegiate Programming Contest" ที่สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม

ภูเก็ต ประเทศไทย - 19 พฤษภาคม 2559: ทีมนักศึกษา 3 คนจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตทครองแชมป์โลกการแข่งขันเขียนโปรแกรมนานาชาติ ACM International Collegiate Programming Contest (ICPC) ครั้งที่ 40 ที่สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม โดยการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกครั้งนี้มีนักพัฒนารุ่นใหม่กว่า 1,400 คนจาก 40 ประเทศ เข้าร่วมแก้โจทย์การเขียนโปรแกรมที่มีระดับความยากสูงสุด

การแข่งขันที่เป็นที่รู้จักว่าเป็น "การประลองสมอง" นี้ เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสำนักงานหลักตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 128 ทีม แต่ละทีมประกอบด้วยนักศึกษา 3 คน ที่จะช่วยกันแก้ชุดปัญหาต่างๆ ที่มีความซับซ้อนภายในเวลา 5 ชั่วโมง โดยทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตทสามารถแก้โจทย์ได้สำเร็จจำนวน 11 ข้อ และได้รับชัยชนะในครั้งนี้ไป

"ไอบีเอ็มรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เห็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญยิ่งยวดในอนาคต อย่างเช่นเครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ด้วยคลาวด์และค็อกนิทิฟ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลไร้โครงสร้าง เป็นต้น" นายเจอรัลด์ เลน ผู้บริหารและอำนวยการการสนับสนุน ACM-ICPC จากไอบีเอ็มโอเพ่นเทคโนโลยีและไอพี กล่าว "นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกลจักรสำคัญของอุตสาหกรรมของเราต่อไปในอนาคต โดยไอบีเอ็มยินดีที่จะสนับสนุนและช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ เพื่อให้ทุกคนพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นบุคลากรกำลังสำคัญของโลกต่อไป

ที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาเครื่องมือที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายตั้งแต่ต้นทางจนถึงบนคลาวด์สำหรับนักพัฒนา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่านักพัฒนาทั่วโลกจะมีจำนวนถึง 25 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 [1] การสนับสนุน ACM-ICPC รอบชิงแชมป์โลกช่วยให้ไอบีเอ็มสามารถแนะนำเครื่องมือบนคลาวด์ที่มีศักยภาพสูงสุดให้แก่ผู้ร่วมแข่งขัน ซึ่งจะเอื้อให้นักพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก้าวล้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแควนตัมคอมพิวติ้ง บล็อกเชน และค็อกนิทิฟ ได้โดยง่ายผ่านคลาวด์ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ และนักเขียนโค้ด สามารถสร้างแอพที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้

"ศักยภาพการทำงานและโอกาสที่ได้รับจากการเข้าร่วม ACM-ICPC จะอยู่กับนักศึกษาเหล่านี้ไปตลอดชีวิต" ดร.บิลล์ เพาเชอร์ ผู้อำนวยการบริหาร ICPC เสริม "ผมรู้สึกตื่นเต้นมากและอยากรู้ว่านักศึกษาที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ยากขนาดนี้ได้ ดังที่เราได้เห็นในการแข่งขันชิงแชมป์โลกในวันนี้ จะนำความรู้ต่างๆ ที่ได้รับไปต่อยอดอย่างไรเมื่อพวกเขาเรียนต่อหรือทำงาน"

ทีมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมสถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว รั้งอันดับสอง สาม และสี่ในการแข่งขันครั้งนี้ โดยทั้งหมดจะได้รับเหรียญทอง ขณะที่ทีมชนะเลิศระดับภูมิภาค ได้แก่
- มหาวิทยาลัยไคโร ทีมชนะเลิศภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง
- มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมชนะเลิศภูมิภาคเอเชีย
- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท ทีมชนะเลิศภูมิภาคยุโรป
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรซาริโอ ทีมชนะเลิศภูมิภาคลาตินอเมริกา
- มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมชนะเลิศภูมิภาคอเมริกาเหนือ
- มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ทีมชนะเลิศภูมิภาคแปซิฟิคใต้

ทีมที่ทำคะแนนได้สูงสุดจำนวน 12 ทีมและได้รับเหรียญรางวัล มีดังนี้
- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท
- มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง
- มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- สถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว
- มหาวิทยาลัยวอร์ซอว์
- สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
- มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไอทีเอ็มโอ
- มหาวิทยาลัยยูรัลเฟเดอรัล
- มหาวิทยาลัยวรอคลาว
- มหาวิทยาลัยนิชนีย์นอฟโกรอดสเตท
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติลวิฟ
- มหาวิทยาลัยฟูตัน

ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 128 ทีม ฝ่าฟันมาจากการแข่งขัน ICPC ระดับประเทศและภูมิภาคเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเป็นการคัดเลือกจากนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์กว่า 300,000 คนทั่วโลก นักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบภูมิภาคมีจำนวนถึง 40,266 คน จาก 2,736 มหาวิทยาลัย ใน 102 ประเทศ จาก 6 ทวีป จากการแข่งขันในกว่า 480 ที่ โดยทุกคนมีเป้าหมายสูงสุดในการได้เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกที่ภูเก็ต

นอกจากจะได้ร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกแล้ว นักศึกษาเหล่านี้ยังมีโอกาสได้สัมผัสเทคโนโลยีล่าสุดจากไอบีเอ็มผ่านวิทยากรและการแลกเปลี่ยน การสาธิตแพลตฟอร์มคลาวด์ไอบีเอ็มบลูมิกซ์ภายในงาน รวมทั้งได้ศึกษาเกี่ยวกับแพลตฟอร์มคลาวด์ของไอบีเอ็มและไอบีเอ็มวัตสัน ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจค็อกนิทิฟของไอบีเอ็ม การผนวกรวมบลูมิกซ์และวัตสันเข้าด้วยกันช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอพค็อกนิทิฟได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบที่มีความปลอดภัยสูงและสิ่งแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook