แนะเรียนสาขาจิตวิทยา-ขาดแคลนบุคคลากร จบมาหางานง่าย

แนะเรียนสาขาจิตวิทยา-ขาดแคลนบุคคลากร จบมาหางานง่าย

แนะเรียนสาขาจิตวิทยา-ขาดแคลนบุคคลากร จบมาหางานง่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึง "นักจิตวิทยา" เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงยังเคลือบแคลงสงสัย งง ๆ ว่า "ทำหน้าที่อะไร" ต้องรักษาคนป่วยทางจิตหรือไม่ หรือบางคนก็สนใจใคร่รู้ว่าเรียนอะไรมา แล้วอาชีพนี้ เรียนจบแล้วจะไปทำมาหากินอะไรได้บ้าง

โดยคำถามยอดฮิตที่ถามกันมามากก็คือ นักจิตวิทยา ต่างจาก "จิตแพทย์" อย่างไร ก็อธิบายสั้น ๆ ตามพจนานุกรมบอกไว้ว่า "จิตแพทย์" (Psychiatrist) คือ แพทย์ผู้รักษาโรคทางจิต ซึ่งมีอาการแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ

เส้นทางของการเป็นจิตแพทย์คือ (ข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย) เรียนแพทย์ทั่วไป 6 ปี หากจะเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช (Psychiatry) ต้องเรียนต่ออีก 3 ปีสำหรับจิตแพทย์ทั่วไป หรือเรียกกันว่าจิตแพทย์ผู้ใหญ่ หรือ 4 ปีสำหรับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สรุปคือกว่าจะจบเป็นจิตแพทย์ได้ต้องเรียนมา "อย่างน้อย" 9 ปี

ส่วน "นักจิตวิทยา" (Psychologist) นั้นไม่ได้เป็นแพทย์ แต่เป็นผู้ที่ศึกษาจบสาขาจิตวิทยา (Psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ โดยใช้เวลาเรียน 4 ปีสำหรับระดับปริญญาตรี

ในสถาบันอุดมศึกษาของไทยเรา เปิดการเรียนการสอน "สาขาวิชาจิตวิทยา" กันหลายแห่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นอาชีพที่ยัง "ขาดแคลน" บุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลเยาวชน ศูนย์การศึกษาพิเศษ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนล้วนต้องการนักจิตวิทยาเข้ามาอยู่ในองค์กรเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่มักจะมีอยู่ทุกหนแห่ง
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีหลักสูตรสาขาวิชาจิตวิทยาในหลายสถาบัน แต่ที่ "โดดเด่น" และได้รับการยอมรับมายาวนาน ต้องยกให้ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และในปี พ.ศ. 2528 ภาควิชาได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิชาเอกจิตวิทยาและการแนะแนวเป็นรุ่นแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ปีพ.ศ. 2546 เปิดหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ จากนั้นปี พ.ศ. 2547 ได้เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา ในระดับปริญญาบัณฑิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลักสูตร
ดร.อุรปรีย์ เกิดในมงคล หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว กล่าวว่าปัจจุบันภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนวมีการเรียนการสอน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชุมชน โดยนอกจากการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทแล้ว ภาควิชายังผลิตผลงานวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม พร้อมๆ กับปรับปรุงและพัฒนาทางวิชาการในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ นักศึกษาของภาควิชาจิตวิทยาจะผ่านกระบวนการเรียนรู้ การค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ทุกคนจะต้องผ่านการฝึกปฏิบัติงานในหน่วยงานนอกมหาวิทยาลัย และฝึกทำวิจัยทางจิตวิทยาเป็นรายบุคคล ดังนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของภาควิชาฯจึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณภาพและคุณธรรม ตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมที่จะปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

"หลักสูตรปริญญาตรีจะเรียน 4 ปี ถ้าจบแล้วบัณฑิตต้องการสอบเข้ารับราชการครูต้องไปเรียนต่ออีก 1 ปีเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพครู ที่ผ่านมาบัณฑิตของเราที่จบไป มีงานทำ 100 % เพราะสาขาจิตวิทยาถือเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งนักจิตวิทยาในโรงเรียน ในศาลเยาวชน ในโรงพยาบาล ศูนย์การศึกษา ศูนย์เยาวชนต่าง ๆ ส่วนภาคเอกชนก็เข้าไปทำงานด้านฝ่ายบุคคล หรือฝ่ายฝึกอบรม"

สำหรับน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มุ่งหมายเข้าเรียนในสาขาจิตวิทยานั้น หัวหน้าภาควิชาฯ แนะนำว่า ถ้าอยากจะเรียนสาขานี้ต้องศึกษาตัวเองก่อนว่ามีความสนใจในการเรียนรู้พฤติกรรมของบุคคลหรือไม่ เช่น เด็กติดเกม เด็กแว้น เด็กมีปัญหาทางครอบครัว มีปัญหาเรื่องการเรียน เราเคยสนใจอยากรู้หรือไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด ถ้ารู้ตัวว่ามีคุณสมบัติดังกล่าวก็จะเหมาะสมกับการเรียนสาขาจิตวิทยา โดยการสอบคัดเลือกก็จะมีโครงการรับตรง โควตา และแอดมิสชั่นส์ ตามประกาศของคณะศึกษาศาสตร์

"ในการรับสมัครเพื่อสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อก็เป็นไปตามกำหนดการรับของคณะฯ มีคะแนนสอบ แกท แพท และการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งการสัมภาษณ์ก็จะมีคำถามเรื่องความสนใจในการเรียนสาขานี้ มีการทดสอบความรู้เกี่ยวสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว การวิเคราะห์บุคคลต่าง ๆ โดยจะรับประมาณ 30-40 คนต่อปีการศึกษา นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาเช่นทุนนักศึกษาขาดแคลน ทุนกยศ. ทุนโครงการจ้างงาน เป็นต้น "

อ.กันยารัตน์ สอาดเย็น รองหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว แนะนำถึงหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชุมชนว่า ถือเป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยอย่างแรกจะเน้นที่การพัฒนาสมรรถภาพของบุคคลโดยการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจทางจิตวิทยามาเสริมสร้างให้แต่ละคนมีความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข รู้จักการแก้ปัญหาปรับตัวต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และอย่างที่สองจะเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน เช่นปัญหายาเสพติด อาชญากรรม การกระทำทารุณกรรม รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ อันเกิดจากการอยู่ร่วมกันในชุมชน

"ในสาขาจิตวิทยาชุมชนจะเปิดรับสมัครผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตหรือเทียบเท่า โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมในระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 2.50 หรือให้อยู่ในดุลยพินิจของภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว เราเปิดรับคนที่จบทุกสาขา การสอบคัดเลือกจะมีการทดสอบภาษาอังกฤษและสอบรายวิชา ผู้ที่จบจะทำงานด้านจิตวิทยาชุมชน เป็นผู้ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถสอบเข้ารับราชการในโรงพยาบาล ในศูนย์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต สภากาชาดไทยและหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นสาขาวิชาที่ทำงานได้กว้างอีกสาขาหนึ่ง"

อ.วนัญญา แก้วแก้วปาน อาจารย์ ประจำภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว ฝากถึงผู้ที่สนใจในการเรียนสาขาจิตวิทยาว่า ในระดับปริญญาตรี สาขาฯจะมีการเรียนการสอนที่เข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จะมีกิจกรรมส่งเสริมทักษะให้นักศึกษาเป็นประจำทั้งในและนอกสถาบัน ได้ลงพื้นที่เพื่อนเรียนรู้ประสบการณ์จริง โดยชั้นปีที่ 4 จะมีการจัดโครงการวิชาการแก่สังคม เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสนอแนะการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน มีชมรมจิตสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ห่างไกล และนักศึกษาทุกคนจะได้ออกฝึกงาน 1 เทอมเพื่อนำความรู้ที่เล่าเรียนมาปรับใช้ในประสบการณ์จริงอย่างเต็มที่

"ในระดับปริญญาโท ผู้ที่ทำงานประจำยู่แล้วเช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล พยาบาล ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนักวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ จะนิยมมาศึกษาเพื่อต่อยอดวิชาความรู้ ส่วนบุคคลทั่วไปหากต้องการเรียนสาขานี้เมื่อจบออกไปก็สามารถประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาชุมชนได้ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูล ศึกษาสภาพปัญหาของชุมชนแล้วนำความต้องการหรือความจำเป็นมาวิเคราะห์เพื่อป้องกันแก้ไขและส่งเสริมให้ดีขึ้น หรือจะทำงานในหน่วยงานของราชการและเอกชนได้หลากหลายเช่นเดียวกัน"

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ คณะศึกษาศาสตร์ http://www.educ.su.ac.th/ หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว หมายเลข 034 217 204

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ แนะเรียนสาขาจิตวิทยา-ขาดแคลนบุคคลากร จบมาหางานง่าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook