10 เทรนด์การใช้ชีวิตเมือง

10 เทรนด์การใช้ชีวิตเมือง

10 เทรนด์การใช้ชีวิตเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานวิจัยของ UddC หรือศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง บอกเอาไว้ว่า  อนาคตคนกรุงเทพฯ จะมีวิถีชีวิตแบบใหม่ 10 เทรนด์ด้วยกัน ซึ่งก็คือ...

1 มีชีวิตแบบที่เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous Life)
ที่เป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะพลังของยุคดิจิตอล ที่ทำให้คนเมืองสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดเวลา จริงๆ เทรนด์นี้ก็เห็นกันอยู่แล้วกับบรรดามือถือและ Gadget ต่างๆ แต่ในอนาคต เทรนด์นี้จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เราจะไม่ได้แค่ส่งไลน์แชทถึงกันเท่านั้น แต่ยังสามารถซื้อของ ทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงเรียนรู้ในแบบที่เรียกว่า e-Learning ได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอีกด้วย

2 รางเชื่อมเมือง (Connected Track)
เทรนด์นี้ไม่น่าประหลาดใจเลยว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่นอกจากแค่การมีรางเชื่อมเนื้อเมืองแล้ว ยังจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ด้วย ทั้งยังจะเกิดการประสานให้สอดคล้องกับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การขนส่งทางน้ำ โดยทั้งหมดนี้ต้องใช้ระบบบัตรใบเดียว และจริงๆ แล้ว คนจะอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการส่งสินค้าโดยตรงถึงบ้านแบบ Delivery ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย

3 อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of Work)
เทรนด์นี้เริ่มเห็นชัดมาหลายปีแล้ว เพราะการทำงานออนไลน์จะทำให้คนสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ต้องยึดติดกับเวลาและสถานที่ในการทำงาน ก่อให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆ รวมถึง ‘ชุมชน' ในการทำงานแบบใหม่ๆ เช่น คนที่มานั่งทำงานอยู่ด้วยกันอาจไม่ใช่คนที่ทำงานแบบเดียวกัน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งก็จะต่อยอดให้มีธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยทั้งหมดนี้จะย้ายเข้ามาอยู่ในใจกลางเมือง

4 การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public Service)
แน่นอนว่าเมื่อเมืองใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น รถยนต์จะมีการใช้งานน้อยลง เพราะรถยนต์เหมาะกับเมืองที่ขยายตัวตามแนวราบหรือพื้นที่ชนบทมากกว่า ดังนั้นจึงจะเกิดการให้บริการจากภาครัฐแบบครบวงจรมากขึ้น โดยกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มีเคาน์เตอร์เซอร์วิส รวมถึงบริการออนไลน์ที่ทั่วถึงมากขึ้น

5 เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism)
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนจะพากันหวนกลับไปอยู่ใน ‘ย่านเก่า' กันมากขึ้น เลยเกิดธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ที่คนรุ่นใหม่เน้นไปที่ ‘ประสบการณ์' มากกว่าการท่องเที่ยวเยอะๆ แบบทัวริสต์สมัยก่อน โครงข่ายสื่อสารออนไลน์จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แต่กรุงเทพฯ นั้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่าจะหวนกลับไปสู่วัฒนธรรมดั้งเดิม

6 เกิดอุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง (New Urban Industries)
อุตสาหกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ แต่เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สุขภาพ และสันทนาการ เช่น การปลูกผักไร้สารพิษบนดาดฟ้าตึก ฯลฯ เทคโนโลยีใหม่ๆจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น การพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่ก่อให้เกิดกระแสของเหล่า Maker หรือ ‘ผู้สร้างสรรค์' งานรูปแบบใหม่ๆ ในปริมาณน้อยๆ ที่เข้ามาแทนที่การผลิตแบบแมสที่ต้องใช้แรงงานราคาถูกในต่างประเทศ

7 แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified Environmental-Friendly Energy Sources)
เทรนด์นี้สำคัญ เพราะเมืองแห่งอนาคตจะต้องหันมาใส่ใจเรื่องการลดการใช้พลังงาน เพื่อให้กลายเป็นเมืองที่ยั่งยืน จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมในรถยนต์ ทำให้ปั๊มน้ำมันค่อยๆ หายไป แต่จะมีสถานีจ่ายพลังงานทางเลือกที่อยู่ใต้อาคาร (หรือแม้กระทั่งใต้ดิน) มาแทนที่



8 การใช้ที่ดินแบบใหม่ (Land & Space for New Bangkokian)
แน่นอนว่ากรุงเทพฯ แห่งอนาคตจะมีประชากรแบบใหม่ เป็นผู้คนที่คุ้นเคยกับการอยู่อาศัยใน ‘แนวตั้ง' เช่น อาคารสูง ซึ่งแต่ละอาคารจะมีลักษณะหลากหน้าที่ ไม่ใช่เป็นตึกที่อยู่หรือตึกที่ทำงานอย่างเดียว อาจเกิดพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ๆ เช่น สวนสาธารณะลอยฟ้า หอศิลป์ลอยฟ้า โบสถ์ลอยฟ้าขึ้นมา

9 ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanite's New Normal)
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อผู้คนเข้ามาอยู่รวมกันมากๆ ก็ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย ความ ‘ปกติ' แบบเดิมที่เคยถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับทุกคน จะถูกเซตใหม่ ทำให้คนต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนอื่นหรือ ‘ความปกติ' อื่นๆ ได้ด้วย ผลก็คือจะเกิดสมดุลใหม่ในการอยู่ร่วมกัน ลดการกีดกัน ความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม หรือมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับเรื่องเหล่านี้ เช่น บริการบุตรหลอดแก้วสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน เป็นต้น

10 การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)
นี่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญและครอบคลุมในแทบทุกมิติของเมืองแบบใหม่ คือไม่ว่าจะคิดพัฒนาอะไร ก็ต้องอยู่บนฐานของการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย คนพิการ คนต่างถิ่น หรือแม้แต่พลเมืองพลัดถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็วางอยู่บนเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook